ก่อนที่พี่ทุยจะพาไปรู้จักกับ กองทุนรวมต่างประเทศ ใน EP ก่อนหน้านี้ ที่พี่ทุยสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับ “กองทุนรวม” ในภาพรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมคืออะไร ข้อดีและข้อจำกัดเป็นอย่างไร รวมถึงการคัดเลือกกองทุนรวมที่ลงทุนสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งตลาดเงิน ตราสารหนี้และตราสารทุน (หุ้น) นั้นล้วนแล้วแต่เป็นการลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ในประเทศไทยเท่านั้น
ใน EP นี้ พี่ทุยขอพาบินลัดฟ้าไปรู้จักกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศกันให้มากขึ้นกัน
กองทุนรวมต่างประเทศ (Foreign Investment Fund หรือ FIF) คืออะไร ?
กองทุนรวมต่างประเทศ (Foreign Investment Fund หรือ FIF) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ โดยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่หลากหลายทั้งตราสารหนี้ หุ้น รวมไปจนถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันและทองคำ เพื่อให้นักลงทุนสามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบที่มากกว่าการลงทุนในประเทศ รวมถึงช่วยให้การกระจายความเสี่ยง (Asset Allocation) สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แล้วกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) แบ่งออกเป็นกี่ประเภท ?
สำหรับกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) จะต้องนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 80% ของ NAV โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. Feeder Fund
เป็นกองทุนรวม FIF ที่นำเงินไปลงทุนต่อใน “กองทุนหลัก (Master Fund)” ในต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 80% ของ NAV ซึ่งผลตอบแทนของกองทุนรวม Feeder Fund ก็จะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับกองทุนหลักที่กองทุนนำเงินไปลงทุน โดยกองทุนรวม FIF ในประเทศไทยมักจะเป็นกองทุนประเภทนี้เป็นหลัก
2. Fund of Funds
เป็นกองทุนรวม FIF ที่นำเงินไปลงทุนต่อในกองทุนรวมในต่างประเทศ มากกว่า 1 กองทุนขึ้นไป โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 80% ของ NAV
สิ่งที่ต้องระวังของการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) คืออะไร ?
เนื่องจากกองทุนรวม FIF จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินจากสกุลเงินบาทเป็นสกุลเงินต่างประเทศเพื่อซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศ แต่เมื่อนักลงทุนต้องการขายหน่วยลงทุนก็จะต้องมีการขายกองทุนในต่างประเทศและแลกเปลี่ยนเงินจากสกุลเงินต่างประเทศกลับมาเป็นสกุลเงินบาทอีกครั้งเพื่อจ่ายคืนให้กับนักลงทุน ดังนั้นกองทุน FIF จึงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดี กองทุนรวม FIF บางกองทุน ผู้จัดการกองทุนอาจพิจารณาทำการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนบางจำนวน หรือตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ดังนั้น เวลาที่ซื้อกองทุน FIF ผู้ลงทุนควรพิจารณาในเรื่องนโยบายการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนนั้นๆ ประกอบการตัดสินใจ
นอกจากนี้ ยังต้องรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนได้ด้วยเช่นเดียวกัน
กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) อาจจะมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่ากองทุนรวมในประเทศ
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระมัดระวัง สำหรับใครที่ต้องการลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนรวม FIF คือ “ค่าธรรมเนียม”
เนื่องจากโดยทั่วไปการกระจายการลงทุนไปทั่วโลกอาจมีต้นทุนในการบริหารกองทุนที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ในบางกรณีนักลงทุนอาจโดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน ทั้งจากกองทุนรวม FIF เอง และจากกองทุนรวมในต่างประเทศ ที่กองทุนรวม FIF ไปลงทุน
ดังนั้น ก่อนการลงทุนในกองทุนรวม FIF จะต้องดูเรื่องของค่าธรรมเนียมด้วยทุกครั้ง ยิ่งค่าธรรมเนียมสูงก็จะยิ่งเป็นต้นทุนที่มากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนที่เราได้รับก็จะยิ่งน้อยลงนั่นเอง
ดังนั้น กองทุนรวม FIF จึงเหมาะกับคนที่ต้องการ “กระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ” เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุน โดยเต็มใจที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องเป็นนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจสภาพเศรษฐกิจ การเมือง นโยบายต่าง ๆ รวมถึงกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ ในต่างประเทศเป็นอย่างดี รวมถึงสามารถรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้
ใน EP ถัดไป พี่ทุยจะพาไปดูวิธีการคัดเลือกกองทุนประเภทนี้กัน ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย!
ย้อนกลับไปอ่าน EP ก่อนหน้านี้
อ่าน EP ต่อไป
ติดตามซีรีส์กองทุน เลือกลงทุนง่ายนิดเดียว ตอนอื่น ๆ ได้ที่นี่
ขอขอบคุณทาง บลจ.ยูโอบี (UOBAM) ที่เข้ามาสนับสนุนการให้ความรู้ผ่าน “ซีรีส์กองทุนเลือกลงทุน ง่ายนิดเดียว” ในครั้งนี้ สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ทาง UOBAM มีกองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ควอลิตี้ โกรท ฟันด์ – หน่วยลงทุนชนิดเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (UGQG) ระดับความเสี่ยง 6 (เสี่ยงสูง) ที่เน้นกระจายการลงทุนในบริษัทชั้นนำของโลกที่ส่วนแบ่งการตลาดที่ดี มีพื้นฐานและทีมบริหารแข็งแกร่ง ถ้าหากเราไปส่องพอร์ตของกองทุนตอนนี้ก็จะมีแต่หุ้นที่เราคุ้นกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) , Microsoft , Amazon หรือ Meta (Facebook เดิม) เป็นต้น การซื้อขายสามารถทำได้สะดวก ผ่านช่องทางออนไลน์ในแอปฯ “UOBAM Invest Thailand”
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.uobam.co.th ติดต่อฝ่ายบริการนักลงทุน โทร. 02-786-2222 หรือติดต่อตัวแทนจำหน่ายที่ บลจ. แต่งตั้ง
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนการตัดสินใจลงทุน การลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทําให้ได้รับเงินคืนตํ่ากว่าเงินลงทุนเริ่มแรก กองทุน UGQG มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน