วิธีคัดเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ คัดเลือกยังไง ?

วิธีคัดเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ คัดเลือกยังไง ? | ซีรีส์กองทุน EP12

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ก่อนการคัดเลือกลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) เราต้องรู้ก่อนว่าเราอยากลงทุนสินทรัพย์อะไรและที่ประเทศไหน
  • การเลือกกองทุนรวมที่สะดวกสบาย สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.morningstarthailand.com ที่มีการรวบรวมข้อมูลกองทุนรวมได้อย่างครบถ้วน และมีฟังก์ชันในการเปรียบเทียบอย่างละเอียด ครบถ้วน และใช้งานง่าย โดยสามารถเลือกจาก Morningstar Rating ได้ โดยแนะนำให้เลือกกองทุนที่มีระดับ 4-5 ดาว
  • สำหรับกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) อาจจะไม่สามารถเลือกโดยใช้ Sharpe Ratio เพียงอย่างเดียวได้ เพราะนโยบายอาจแตกต่างกันออกไป แต่ต้องเข้าไปอ่าน “นโยบายการลงทุน” ของกองทุนประกอบด้วยทุกครั้ง
  • ที่สำคัญ ก่อนการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ต้องเข้าไปอ่าน Fund Fact Sheet ของกองทุนหลัก รวมถึงใส่ใจในนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนทุกครั้งด้วยเช่นกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หลังจากที่รู้จักกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) กันไปแล้ว ใน EP พี่ทุยจะพามาดู วิธีคัดเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ ว่าเราสามารถทำได้อย่างไร และมีจุดไหนที่เราจะต้องดูเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการลงทุนในประเทศไทยกันบ้าง

ก่อนรู้ วิธีคัดเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ต้องรู้ว่าเราอยากลงทุนสินทรัพย์อะไร และที่ประเทศไหน ?

เนื่องจากเมื่อเราต้องการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เราจะต้องรู้ตัวเองก่อนว่าอยากลงทุนในสินทรัพย์อะไร ที่ประเทศหรือภูมิภาคไหน หรือว่าเน้นลงทุนอุตสาหกรรมไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า

เพราะพี่ทุยต้องย้ำกันอีกครั้งว่าการคัดเลือกกองทุนรวมโดยเฉพาะกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ควรเปรียบเทียบและคัดเลือกจากกองทุนรวมที่มี “นโยบายการลงทุน” ที่ใกล้เคียงกัน 

สำหรับใครต้องการลงทุนผ่านกองทุนรวม หน้าที่หลักของเรา คือ ควรเลือกนโยบายการลงทุนหรือกองทุนที่มีมาตรฐานชี้วัด (Benchmark) ที่สามารถสร้างโอกาสเติบโตได้ ถ้าหากสินทรัพย์ที่เราเลือกลงทุนอยู่ในแนวโน้มขาลง โอกาสที่ผู้จัดการกองทุนของกองทุนนั้นจะสามารถทำกำไรได้ก็จะเป็นเรื่องที่ยากนั่นเอง 

ซึ่งเราสามารถหาแนวโน้มหรือธีมการลงทุนได้จาก “บทวิเคราะห์” จากทั้งสถาบันการเงิน บล. และ บลจ. ที่จะมีออกมาเรื่อย ๆ เราสามารถอ่านได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อหาสินทรัพย์ หรือประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีหรืออยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเป็นขาขึ้น 

เพื่อเป็นทางเลือกในการหาข้อมูล หรือคัดเลือกกองทุน พี่ทุยก็จะแนะนำให้ใช้ www.morningstarthailand.com เช่นเดียวกับกองทุนรวมประเภทอื่น ๆ ที่เราได้เรียนรู้มาก่อนหน้านี้ และสามารถคัดเลือกเบื้องต้นจากกองทุนที่ได้รับ 4-5 ดาวจาก Morningstar ได้

พี่ทุยพาไปคัดเลือกทีละขั้นตอนกัน ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย!

วิธีคัดเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ คัดเลือกยังไง ?

เริ่มจากในส่วนที่เป็น ประเภทกองทุนแบ่งตาม AIMC ให้เลือก “Technology Equity” ได้เลย ซึ่งตรงนี้จริง ๆ แล้วทาง AIMC ก็ได้มีการแบ่งไว้หลากหลายสินทรัพย์ หลายอุตสาหกรรม และหลายประเทศด้วย เช่น

  • US Equity คือ หุ้นอเมริกา
  • Vietnam Equity คือ หุ้นเวียดนาม
  • India Equity คือ หุ้นอินเดีย
  • Global Equity คือ กระจายลงทุนหุ้นทั่วโลก
  • Asia Pacific Ex japan ก็จะเป็นหุ้นเอเชียแปซิพิค แบบไม่รวมญี่ปุ่น เป็นต้น

วิธีคัดเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ คัดเลือกยังไง ?

และเมื่อเราเลือกประเภทกองทุนที่เราต้องการได้แล้ว จากนั้นให้คลิกที่คำว่า Morningstar Rating เพื่อให้จัดเรียงกองทุน โดยเราจะเน้นเลือกกองทุนที่มี 4-5 ดาว Morningstar Rating เท่านั้น เราก็จะได้ชื่อกองทุนที่น่าสนใจและสามารถนำไปทำการบ้านต่อได้ทันที

แต่ต้องบอกก่อนว่าถ้าหากเป็นกองทุนที่ยังมีอายุไม่นานหรือเพิ่งเปิดใหม่ อาจจะยังไม่ได้รับการประเมินดาวจาก Morningstar ได้ แต่ในเบื้องต้นแนะนำว่ากองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่มีดาวจาก Morningstar ที่มีการวัดผลการดำเนินงานย้อนหลังก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

วิธีคัดเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ คัดเลือกยังไง ?

ในเบื้องต้นเราก็สามารถเข้าไปที่ หัวข้อ “ความเสี่ยง” พี่ทุยแนะนำว่าให้ดูที่ “Sharpe 3 ปี” (ซึ่งก็คือ Sharpe Ratio เฉลี่ย 3 ปี) หากค่า Sharpe Ratio อยู่ในระดับที่สูงกว่าก็ถือว่าเป็นกองทุนที่น่าสนใจมากกว่า 

แต่สำหรับกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) การเปรียบเทียบผ่าน Sharpe Ratio อาจจะทำให้ผลลัพธ์คาดเคลื่อนหรือได้กองทุนที่ไม่ตรงกับความต้องการของเราได้ เพราะแม้นโยบายการลงทุนของกองทุนจะใกล้เคียงกันแต่ก็อาจจะมีสัดส่วนการลงทุนที่ไม่เหมือนกันได้ แนะนำว่าเมื่อคัดเลือกได้แล้ว ให้เข้าไปอ่าน “นโยบายการลงทุน” และดูสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนว่ามีอะไรบ้างเพิ่มเติม เพื่อประกอบในการตัดสินใจลงทุน 

ไม่ใช่ดูแค่ Sharpe Ratio แต่ต้องเข้าไปอ่าน Fund Fact Sheet ของกองทุนรวมหลัก

อย่างที่เรารู้กันว่ากองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนแบบ Feeder Fund ที่นำเงินลงทุนไปลงทุนใน “กองทุนรวมหลัก (Master Fund)” เพียงกองเดียวเท่านั้น ซึ่งพี่ทุยแนะนำว่าในช่วงแรกให้เน้นเลือกลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่เป็น Feeder Fund ก่อน เพราะง่ายต่อการทำความเข้าใจมากกว่า ซึ่งถ้าหากเราเข้าไปอ่านนโยบายการลงทุนใน Fund Fact Sheet ของกองทุนรวมหลัก เราจะเห็นนโยบายการลงทุนได้เลยว่า กองทุนนำเงินไปลงทุนที่ไหนต่อ

จากตัวอย่าง กองทุน UESG-M จะเห็นได้ว่ากองทุนรวมนี้นำเงินไปลงทุนในกองทุนหลักที่ชื่อ Robeco Sustainable Global Stars Equities IL EUR เป็นหลัก 

จากนั้นให้เรานำชื่อกองทุนหลักนี้ไปค้นหาต่อเพื่ออ่าน Fund Fact sheet เพื่อให้เราเห็นว่ากองทุนรวมเอาเงินไปลงทุนอะไร มีนโยบายอย่างไร มีค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ โดยปกติในหน้าเว็บไซต์ของทาง บลจ. ก็จะมีลิงก์เพื่อให้เข้าไปดูรายละเอียดของกองทุนหลักให้อยู่แล้ว หรือเราสามารถนำชื่อกองทุนไปค้นหาต่อที่หน้าเว็บไซต์ของกองทุนหลักโดยตรงก็ได้เช่นเดียวกัน

สิ่งสำคัญของการลงทุนต่างประเทศ คือ อัตราแลกเปลี่ยน

และอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องดูด้วยทุกครั้งก็คือ นโยบายในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ว่าเป็นอย่างไร โดยผู้ลงทุนสามารถดูนโยบายการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการ – ส่วนนโยบายการลงทุน

ส่วนตัวพี่ทุยแนะนำว่าสำหรับมือใหม่ให้เน้นเลือกลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน  หรือป้องกันความเสี่ยงบางส่วน เพื่อช่วยให้เราลดความเสี่ยงด้านนี้และคัดเลือกกองทุนสำหรับการลงทุนได้ง่ายขึ้น

แต่ถ้าหากในอนาคตเราเริ่มเข้าใจภาพรวมมากขึ้น เริ่มมองแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนได้ เราก็สามารถเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงได้

ย้อนกลับไปอ่าน EP ก่อนหน้านี้

อ่าน EP ต่อไป

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile