หลังจากที่เข้าใจกันแล้วว่าปัจจัยที่ทำให้หุ้นพื้นฐานปรับตัวขึ้น คือ P/E และ EPS สิ่งต่อมาที่เราต้องทำ คือ การคัดเลือกหุ้นเบื้องต้น เพื่อเป็นการคัดหุ้นไม่ดีออกไปให้เหลือแต่หุ้นที่ดี เพื่อเราจะได้เอาไปวิเคราะห์เชิงลึกต่อนั่นเอง การคัดกรองหุ้นจะทำให้ นักลงทุนสายพื้นฐาน (VI) เหนื่อยน้อยลงมาก เพราะไม่ต้องเสียเวลามานั่งวิเคราะห์หุ้นทุกตัวในตลาดนั่นเอง
วิธีการคัดกรองหุ้นแบบ นักลงทุนสายพื้นฐาน
การคัดกรองหุ้น เราจะต้องดูหุ้นในหลายด้านด้วยกัน โดยสิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ
คัดหุ้นที่เราไม่ถนัดออกไป
แน่นอนว่าคนเราไม่ได้เก่งหรือถนัดกันทุกอย่าง กับหุ้นก็เช่นกัน เราไม่มีทางที่จะถนัดไปทุกตัวหรือทุกกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) ซึ่งคำว่า ‘ไม่ถนัด’ ของพี่ทุย หมายถึงเราไม่เข้าใจในตัวธุรกิจ ไม่รู้ว่ารายได้ของธุรกิจนี้มาจากไหน ตอบไม่ได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยบวกหรือลบของกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ๆ
ตัวอย่างเช่น บางคนไม่ถนัดกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่เข้าใจว่าเขานับรายได้กันยังไง ไม่รู้ว่า Backlog คืออะไร และไม่เข้าใจว่าปัจจัยไหนที่ถือเป็นปัจจัยบวกและปัจจัยไหนที่ถือเป็นปัจจัยลบของธุรกิจ
หรือบางคนไม่ถนัดกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน เพราะรู้สึกว่าค่อนข้างยากที่จะคาดการณ์รายได้ เนื่องจากราคาน้ำมันโลกมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา แถมยังคาดการณ์ทิศทางของราคาน้ำมันได้ยากอีก
เพราะฉะนั้น หุ้นกลุ่มที่เราไม่ถนัดเราก็ควรที่จะคัดออกไปก่อน เพราะถ้าเราฝืนเอาหุ้นที่ไม่ถนัด ไม่เข้าใจ ไปวิเคราะห์ต่อ เราก็วิเคราะห์ไม่ถูกอยู่ดี
อีกหนึ่งความหมายของคำว่า ไม่ถนัดของพี่ทุย คือ ถ้าเราถือหุ้นนั้น แล้วเรารู้สึกไม่มีความสุข เช่น การถือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน แล้วเราต้องมานั่งลุ้นนั่งเครียดกับทิศทางของราคาน้ำมัน แบบนี้พี่ทุยก็คิดว่าควรคัดออกเหมือนกัน
หลังจากที่เราคัดหุ้นที่เราไม่ถนัดและหุ้นที่เราถือแล้วไม่มีความสุขออกไป ขั้นตอนต่อมาที่เราต้องดูเพื่อคัดกรองหุ้น คือ ความแข็งแกร่งทางการเงิน ซึ่งเกณฑ์ในการวัดความแข็งแกร่งของทางการเงินของบริษัท พี่ทุยขอแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
- หนี้สิน
- รายได้
- กำไรสุทธิ
- หนี้สิน
แน่นอนว่าการที่เราจะเข้าซื้อหุ้นของบริษัทไหนสักตัวเราก็ต้องดูก่อนว่า บริษัทนั้น ๆ มีหนี้สินมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหนี้สินถือว่ามีความสำคัญต่อความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทมาก
เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น เกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้บริษัทขายสินค้าหรือบริการไม่ได้ รายได้ของบริษัทหายไป สำหรับบริษัทไหนที่มีหนี้สินไม่มากนักก็อาจจะพอเอาตัวรอดได้ แต่สำหรับบริษัทไหนมีหนี้สินเยอะ ก็อาจจะมีปัญหาทางการเงินหรืออาจถึงขั้นเข้าสู่สภาวะล้มละลายได้เลย
ข้อเสียอีกหนึ่งอย่างของการมีหนี้สินจำนวนมาก คือ ภาระดอกเบี้ย ที่เกิดจากการกู้ยืมหนี้สิน ซึ่งภาระดอกเบี้ยส่วนนี้จะถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท ดังนั้นถ้าบริษัทไหนมีหนี้สินเยอะ ดอกเบี้ยก็จะเยอะตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงตามไปด้วยนั่นเอง
ซึ่งการจะดูว่าหนี้สินของบริษัทนั้นมากหรือน้อย เราจะดูจาก D/E Ratio คือ หนี้สินรวม/ส่วนของผู้ถือหุ้น โดยค่าที่เหมาะสม คือ ไม่ควรเกิน 1 เท่า แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่สามารถยืดหยุ่นเป็น 1.5 ได้ เพราะ การลงทุนของบริษัทใหญ่จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าบริษัทเล็ก เลยทำให้การกู้ยืมหนี้สินเพื่อนำเงินมาลงทุนมากตามไปด้วย
แต่ถ้าใครอยากคำนวณแบบละเอียด ๆ ไปเลย พี่ทุยก็แนะนำ D/E อีกสูตรหนึ่ง คือ หนี้สินที่มีดอกเบี้ย/ส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งค่าที่เหมาะสมก็ไม่ควรเกิน 1 เท่า เหมือนกัน
ถ้า หนี้สินรวม/ส่วนของเจ้าของ เกิน 1 เท่า แต่ หนี้สินที่มีดอกเบี้ย/ส่วนของเจ้าของ ไม่เกิน 1 เท่า พี่ทุยก็มองว่าใช้ได้นะแบบนี้ ถือว่าผ่าน !!
- รายได้
พี่ทุยอยากให้เราดูรายได้หรือยอดขายก่อนที่จะไปดูกำไรสุทธิหรืออัตรากำไรสุทธิ เพราะกำไรสุทธิหรืออัตรากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการที่บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น ซึ่งการควบคุมต้นทุนมันก็จะมีจุด ๆ หนึ่งที่ไม่สามารถลดต้นทุนลงไปได้มากกว่านี้ได้อีกแล้ว
เพราะฉะนั้น รายได้หรือยอดขายนี่แหละที่จะเป็นตัววัดการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว โดยบริษัทที่ดีควรจะมีรายได้ของบริษัทเติบโตอย่างเสมอและมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นอย่างน้อย 8-15%
การคำนวณอัตราการเติบโตแบบทบต้นสามารถทำได้โดยการ เข้าไปที่ www.fncalculator.com หลังจากเข้าไปในเว็บแล้วก็คลิกไปที่ Return On Investment (ROI) และกรอกข้อมูลตามรูปภาพด้านล่างได้เลย
- กำไรสุทธิ
ถ้ารายได้เติบโต สิ่งต่อมาที่เราต้องดู คือ กำไรสุทธิ เพื่อดูว่าบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้ดีหรือเปล่า เพราะถ้าขายดีแต่ไม่มีกำไรหรือยิ่งขายยิ่งขาดทุน บริษัทนั้นก็ไม่ใช่บริษัทที่ดี
โดยเกณฑ์การวัดอัตรากำไรสุทธิที่พี่ทุยว่าเหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 3-5% เป็นอย่างน้อย ถ้าหุ้นที่เราสนใจผ่านเกณฑ์ความแข็งแกร่งทางการเงินแล้ว สิ่งต่อมาที่เราต้องให้ความสนใจ คือ
ราคาต้องไม่แพงเกินไป
เพราะถึงหุ้นนั้นจะมีรายได้เติบโตสักแค่ไหน แต่ถ้าราคาหุ้นแพงเกินไปแล้วก็ไม่สามารถทำกำไรให้เราได้ ซึ่งความถูกแพงของหุ้น เราอาจจะใช้ P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ของบริษัท มาเปรียบกับ P/E ของตัวเอง ณ เวลานี้และเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม หรือ จะใช้ P/E Band มาเป็นเกณฑ์ในการวัดก็ได้
ซึ่งเราสามารถเข้าดู P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ของบริษัทได้ที่ www.finnomena.com จากนั้นพิมพ์ชื่อหุ้นที่เราต้องการที่ช่อง “ค้นหา” ด้านบน และให้ทำการ Log-in เข้าสู่ระบบ (สามารถสมัครเพื่อเข้าใช้งานฟรีได้ทันที) เลื่อนลงมาที่ส่วน “สถิติสำคัญ” เราจะเจอตัวเลข “P/E (เท่า)” ซึ่งในระบบมีแสดงในย้อนหลังถึง 10 ปี
ตัวอย่างการคัดกรองหุ้นแบบ นักลงทุนสายพื้นฐาน
พี่ทุยขอยกตัวอย่าง บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG มาเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ในครั้งนี้ อันดับแรกให้เราเข้าไปงบการเงินของ CBG ก่อนที่ www.settrade.com และเราจะได้งบการเงินที่มีหน้าตาแบบนี้มา
- D/E Ratio
ถ้าดูจากรูปด้านบน เราจะเห็นว่า CBG มีหนี้สินรวมอยู่ทั้งหมด 6,929.39 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น เท่ากับ 9,956.01 ล้านบาท จะคำนวณ D/E ออกมาได้เท่ากับ 0.69 เท่า ซึ่งน้อยกว่า 1 เท่า เพราะฉะนั้นถือว่าผ่าน !!
- รายได้
สิ่งต่อมาที่เราต้องวิเคราะห์คือรายได้ เราจะเห็นว่ารายได้ของ CBG เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ ปีเลย ขนาด ปี 63 ประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤตโควิด-19 รายได้ของ CBG ก็ยังเป็นบวกและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 62 ถึง 15.60% และโดยถ้าเราคำนวณอัตราการเติบโตแบบทบต้นของรายได้ของ CBG 5 ปี ย้อนหลังจะได้เท่ากับ 14.51% ดังนั้น เกณฑ์ทางด้านรายได้ของ CBG ก็ถือว่าผ่าน ! อีกเช่นกัน
- กำไรสุทธิ
เราจะเห็นว่า กำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิของ CBG เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดเช่นกัน และเราสามารถคำนวณอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิแบบทบต้น 5 ปี ย้อนหลังได้ เท่ากับ 24.03% เพราะฉะนั้นถือว่าผ่าน !
ราคาหุ้นแพงเกินไปหรือยัง ?
สิ่งสุดท้ายที่เราต้องดู คือ ความถูกแพงของหุ้น ณ ตอนนี้ โดยดูจาก P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี
ถ้าเราคำนวณ P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีของ CBG จะได้ เท่ากับ 43.85 เท่า ในขณะที่ P/E ของ CBG ณ ตอนนี้อยู่ที่ 40.28 (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มี.ค. 64) และ P/E ปัจจุบัน ของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 32.97 โดยรวมแล้วราคาของ CBG ณ ตอนนี้ถือว่าค่อนข้างแพง เพราะฉะนั้นเราอาจจะรอราคาย่อมาสักนิดแล้วค่อยเข้าซื้อก็ได้
สรุปแล้ว CBG ถือเป็นว่าเป็นหุ้นที่ผ่านการคัดกรองเบื้องตันแล้ว เราสามารถเอาไปวิเคราะห์เชิงลึกต่อได้
การคัดกรองหุ้นถือเป็นเพียงการวิเคราะห์หุ้นพื้นฐานด่านแรกเท่านั้น หลังจากนี้เราต้องเอาหุ้นที่เราคัดกรองได้ไปวิเคราะห์เชิงลึกต่อ ซึ่งการวิเคราะห์หุ้นพื้นฐานเชิงลึกอย่างแรกที่จะเราจะไปวิเคราะห์กัน คือ การวิเคราะห์งบการเงิน ซึ่งพี่ทุยก็จะมาเขียนบทความเรื่องการวิเคราะห์งบการเงินให้อ่านกันเหมือนเดิม ถ้าใครอยากวิเคราะห์งบการเงินเป็นก็ห้ามพลาดซีรีส์การเงินในตอนหน้าเด็ดขาด..
เปิดบัญชีกับ LH Securities วันนี้ เรียนฟรีคอร์สเทรดหุ้นออนไลน์
สำหรับใครที่กำลังมองหาที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่ พี่ทุยแนะนำให้เปิดบัญชีกับทาง LH Securities ผู้สนับสนุนหลักของ ซีรีส์การเงิน ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน
เพราะทั้งสะดวก และให้บริการครบ สามารถจบในที่เดียวได้ ตั้งแต่เปิดบัญชี การสมัครบริการตัดเงินบัญชีอัตโนมัติ ไปจนถึงวางหลักประกัน LH Securities ก็มีให้บริการ และที่สำคัญคือสามารถทำทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย สะดวกและง่ายมาก ๆ
สนใจเปิดบัญชีกับ LH Securities พร้อมดูขั้นตอนแบบละเอียด สามารถทำตามได้แบบ Step by Step คลิกที่นี่เลย
พิเศษ ! เปิดพอร์ตกับทาง LH Securities ตอนนี้รับสิทธิ์เข้าเรียนคอร์สเทรดหุ้นออนไลน์กันแบบฟรี ๆ กับ “คุณเคน – จักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร , CFP ®” ผู้ร่วมก่อตั้ง Money Buffalo ของเรา ที่จะมาพาจับมือเทรดกันตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 100 ให้ โดยจะเน้นที่การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis) วิเคราะห์กราฟกันแบบมันส์ ๆ พร้อมลุยตลาดจริงกันเลย
อ่าน EP ต่อไป
ย้อนกลับไปอ่าน EP ก่อนหน้านี้
ติดตามซีรีส์การเงิน “ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน” ตอนอื่น ๆ ได้ที่นี่