เวลาอ่านบทวิเคราะห์งบการเงินจะค่อนข้างได้ยินนักวิเคราะห์หลายคนใช้อัตราส่วนทางการเงินที่เรียกว่า EPS มาประกอบการวิเคราะห์ว่าบริษัทนั้นมีอัตราส่วนทางการเงินดีหรือไม่ และน่าลงทุนไหม วันนี้พี่ทุยจะพาไปทำความรู้จักกันว่า EPS คืออะไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง
EPS คืออะไร ?
“EPS” (Earnings per Share) หรือกำไรต่อหุ้น เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่เปรียบเทียบระหว่าง “กำไรสุทธิ (Net Profit)” และ “จำนวนหุ้นบริษัทที่ชำระแล้ว (Outstanding Shares)”
วิธีใช้ EPS
โดยทั่วไปแล้ว “EPS” ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นมี “กำไรสุทธิ” ที่สูง ในทางกลับกันถ้า EPS มีค่าต่ำก็จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นมีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำ แต่การดู EPS มักจะถูกใช้ในการเทียบกับ EPS ของตัวเองในอดีตเท่านั้น ไม่สามารถนำไปเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในหมวดอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ลองมาดูตัวอย่างประกอบกัน
สมมติบริษัท AAA มีกำไรสุทธิ 10,000 บาท มีหุ้นบริษัทที่ชำระแล้ว 10 หุ้น แปลว่า บริษัท AAA มีค่า EPS เท่ากับ 1,000
บริษัท BBB มีกำไรสุทธิ 10,000 บาทเช่นกัน แต่มีหุ้นบริษัทที่ชำระแล้ว 5,000 หุ้น แปลว่าบริษัท BBB มีค่า EPS เท่ากับ 2
ในกรณีนี้บริษัท AAA และ บริษัท BBB อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันและสามารถสร้างผลกำไรได้เท่ากัน แต่เพียงแตกต่างกันที่ “โครงสร้างในส่วนของผู้ถือหุ้น” เท่านั้น สรุปได้ว่า EPS มีค่าสูงอาจจะไม่ได้บอกว่าหุ้นตัวนี้น่าลงทุนหรือว่าบริษัทนี้มีราคาที่ถูกหรือว่าแพง ดังนั้นการใช้ EPS ประเมินความสามารถในการสร้างผลกำไรเพียงตัวเดียวอาจจะไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม ควรพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ประกอบด้วยเสมอ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว EPS จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับราคาของหุ้น (Price) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ P/E Ratio เพื่อให้เห็นภาพและนำไปเทียบเปรียบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ติดตามคำศัพท์การเงินอื่น ๆ ได้ที่นี่
Comment