มาถึงตอนที่ 5 ของซีรีส์การเงิน ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน กันแล้ว ในตอนนี้พี่ทุยจะมาบอกทุกคนว่า นักลงทุน ในตลาดหุ้นมีกี่ประเภท ? มีแบบไหนบ้าง ? และแต่ละแบบเป็นยังไง ?
รูปแบบหรือสไตล์การลงทุนของนักลงทุนในหุ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรรู้จักตัวเอง เพราะ เราจะได้ใช้ปัจจัยนั้น ๆ การหาหุ้นที่จะเทรด
แต่เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องยึดรูปแบบสไตล์การลงทุนแบบนั้นไปตลอด สไตล์การลงทุนในหุ้นสามารถยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา บางทีตอนเริ่มลงทุนเราอาจจะชอบการลงทุนรูปแบบหนึ่ง แต่พอเริ่มเทรดไปสักพักเราอาจจะมาชอบอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้
ซึ่งซีรีส์การเงินตอนลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน ตอนที่ 5 นี้ พี่ทุยเลยจะพาทุกคนไปรู้จักรูปแบบหรือสไตล์ของนักลงทุนในหุ้นกัน ถ้าพร้อมแล้ว ไปฟังกันเลย..
นักลงทุนในตลาดหุ้นหลัก ๆ แล้ว มี 3 แบบ ด้วยกัน คือ
1. นักลงทุน สายพื้นฐาน (Value Investor) หรือ VI
นักลงทุนสายพื้นฐาน หรือ VI จะเน้นการดูพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นเป็นหลัก เช่น ธุรกิจของบริษัท, งบการเงิน, Common Size, อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio) และการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น (Fair Price)
โดยนักลงทุนสายพื้นฐาน (VI) จะวิเคราะห์ว่า
- ธุรกิจหลักของบริษัททำอะไร
- บริษัทมีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน
- บริษัทที่เราเลือกมา เป็นผู้นำ หรือ ผู้ตามในอุตสาหกรรมนั้น ๆ
ต่อมานักลงทุนสายพื้นฐาน (VI) ก็จะดูงบการเงินทั้ง 3 งบ คือ
- งบกำไรขาดทุน
- งบแสดงฐานะการเงินหรืองบดุล
- งบกระแสเงินสด
เพื่อดูว่าบริษัทนั้นมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงมั้ย รายได้และกำไรเป็นยังไง มีหนี้สินเยอะหรือเปล่า รวมถึงมีเงินสดเหลือในบริษัทมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องการวิเคราะห์งบการเงิน พี่ทุยจะเขียนให้ทุกคนได้อ่านในตอนถัด ๆ ไป จะได้อ่านแบบรู้ลึกกันไปเลย
เมื่อวิเคราะห์ธุรกิจแล้ว วิเคราะห์งบการเงินแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนสาย VI จะดูควบคู่ไปด้วย คือ อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio) และการย่อส่วนตามแนวดิ่ง (Common Size)
อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio) คืออะไร ?
อัตราส่วนทางการเงิน หรือ Ratio เป็นการดูเพื่อวิเคราะห์ธุรกิจนั้น ๆ แบบเจาะลึกในด้านต่าง ๆ เช่น
- อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน (Current Ratio)
- อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
- อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA)
- อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)
- ความถูกแพงของราคาหุ้น (PE Ratio)
ติดตามคำศัพท์การเงินอื่น ๆ ได้ที่นี่
การย่อส่วนตามแนวดิ่ง (Common Size) คืออะไร ?
Common Size หรือ การแปลงตัวเลขที่สำคัญในงบการเงินเป็นเปอร์เซ็นต์ร่วมด้วย เพื่อให้การวิเคราะห์ธุรกิจนั้น ๆ ละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่น ในงบแสดงฐานะการเงินหรืองบดุล จะมีสัดส่วนของสินทรัพย์ 100% มีสัดส่วนของหนี้สินและทุนอีก 100% ถ้าเราอยากรู้ว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมีสัดส่วนเป็นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด ก็นำตัวเลขมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์
สิ่งต่อมาที่นักลงทุนสายพื้นฐาน (VI) จะต้องทำ คือ การหามูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Price) ของหุ้นตัวนั้น เพื่อเอามาเปรียบเทียบกับราคาปัจจุบัน ดูว่าราคาหุ้นแพงเกินไปหรือยัง ซึ่งความถูกหรือแพง ก็จะดูจากการเปรียบเทียบมูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Value) กับ ราคาปัจจุบันของหุ้นตัวนั้น
ถ้าราคาปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Price) นักลงทุนสายพื้นฐานก็จะถือว่า หุ้นตัวนี้ราคาถูกเกินไป (Undervalued) และจะตัดสินใจซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วราคาหุ้นตัวนี้จะขึ้นไปหามูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Value)
ถ้าราคาปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Price) นักลงทุนสายพื้นฐานก็จะถือว่า หุ้นตัวนี้ราคาแพงเกินไป (Overvalued) และจะตัดสินใจ ไม่ซื้อ หรือ ขายหุ้นตัวนี้ เพราะมองว่าสุดท้ายราคาหุ้นจะลงไปหาราคาที่แท้จริงนั่นเอง
2. นักลงทุน สายเทคนิค (Technical)
นักลงทุนสายเทคนิค (Technical) จะไม่สนใจพื้นฐานของหุ้น เช่น ธุรกิจ งบการเงิน รวมถึง มูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Value)
นักลงทุนกลุ่มนี้จะดูเพียงแค่ปัจจัยทางเทคนิค (Technical) เป็นหลักในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น โดยไม่สนใจว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาพื้นที่แท้จริง (Fair Value)
- ถ้าปัจจัยทางเทคนิคมีสัญญาณซื้อเกิดขึ้น นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะซื้อหุ้นตัวนั้น
- ถ้าปัจจัยทางเทคนิคมีสัญญาณขาย นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะขายหุ้นตัวนั้น
ตัวอย่างปัจจัยทางเทคนิค (Technical) เช่น
- กราฟ
- Fund Flow
- รวมถึง Indicator ต่าง ๆ เช่น EMA, MACD, RSI เป็นต้น
ซึ่งการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะมีรายละเอียดที่เยอะและซับซ้อน ถ้าจะให้อธิบายให้เข้าใจกันในตอนเดียวคงจะไม่พอ พี่ทุยเลยตั้งใจว่าจะเขียนการวิเคราะห์หุ้นโดยใช้ปัจจัยทางเทคนิค (Technical) แบบละเอียดเป็นตอนแยกออกมาอีกทีเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ
3. นักลงทุน แบบผสมพื้นฐานและเทคนิค (Hybrid)
โดยนักลงทุนกลุ่มนี้จะดูทั้ง ปัจจัยพื้นฐาน (VI) เช่น ธุรกิจ, งบการเงิน, Common Size, อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio) และหามูลค่าที่แท้จริง รวมทั้งดูปัจจัยทางเทคนิค (Technical) ควบคู่ไปด้วย เพราะสไตล์การลงทุนทั้งสองแบบจะช่วยส่งเสริมกัน ทำให้การเทรดหุ้นของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถ้าเราซื้อหุ้นโดยดูปัจจัยพื้นฐาน (VI) เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้เราซื้อหุ้นในราคาสูงได้ ถ้าเราเอา ปัจจัยทางเทคนิค (Technical) มาช่วยก็จะทำให้เราหาจุดเข้าซื้อได้ดีขึ้น
แต่ถ้าเราดูปัจจัยทางเทคนิค (Technical) อย่างเดียว โดยไม่ได้ดูเลยว่าธุรกิจ รายได้และกำไรของบริษัทเป็นยังไง ไม่ได้ดูว่าราคาพื้นฐานหุ้นอยู่ตรงไหน ก็อาจจะทำให้เราซื้อหุ้นแพงไปได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การใช้ทั้งปัจจัยพื้นฐาน (VI) และ ปัจจัยทางเทคนิค (Technical) ควบคู่กัน โดยการดูปัจจัยพื้นฐาน (VI) ของบริษัท เช่น ธุรกิจ, งบการเงิน, Common Size, อัตราส่วนทางการเงิน ทำการหามูลค่าที่แท้จริง (Fair Price) ออกมา
และเมื่อหุ้นตัวนั้นผ่านเกณฑ์ต่าง ๆ ของปัจจัยพื้นฐาน (VI) หลังจากนั้นเราก็เอาหุ้นตัวนั้นมาดูปัจจัยทางเทคนิค (Technical) เช่น กราฟ, Fund Flow และ Indicator ต่าง ๆ เพื่อหาจุดเข้าซื้ออีกที
ตัวอย่าง สไตล์การลงทุนแบบ Hybrid
สมมติว่าเราสนใจหุ้นของบริษัท A สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ เข้าไปดูปัจจัยพื้นฐาน เช่น ธุรกิจ, งบการเงิน, Common Size, อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio) และหามูลค่าหรือราคาที่แท้จริง (Fair Value)
พอเราวิเคราะห์แล้วเห็นว่าธุรกิจของบริษัทน่าสนใจ คู่แข่งในตลาดยังไม่มาก แถมยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และราคาในตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 55 บาท ซึ่งยังต่ำกว่า (Undervalued) ราคาที่แท้จริง (Fair Price) ที่ 70 บาท
และเมื่อเราใช้ปัจจัยทางพื้นฐานอย่างเดียว เราก็จะซื้อที่ราคา 55 บาท เพราะมองแค่ว่า ราคายังต่ำกว่า 70 บาท
แต่ถ้าเราเอาปัจจัยทางเทคนิค (Technical) เข้ามาช่วยหาจุดซื้อ เราอาจจะได้จุดเข้าซื้อที่ถูกกว่านั้น เช่น ถ้าเราใช้ Indicator ต่าง ๆ ทางเทคนิค (Technical) บอกเราว่าจุดเข้าซื้ออยู่ที่ราคา 45 บาท เราก็จะได้จุดเข้าซื้อที่ราคา 45 บาท เป็นต้น
ซึ่งในกรณีนี้ จะเห็นว่าถ้าเราใช้ปัจจัยทางเทคนิค (Technical) เป็นจุดซื้อจะทำให้เราประหยัดไป 10 บาท เลยทีเดียว ส่วนจุดขายเราจะใช้ราคาพื้นฐานที่ 70 บาท
และนี่ก็คือนักลงทุนในตลาดหุ้นแต่ละแบบที่พี่ทุยเอามาให้ทุกคนเลือกกัน
สำหรับถ้าใครยังเลือกสไตล์การลงทุนของตัวเองไม่ได้ในตอนนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะเราต้องศึกษาวิธีการลงทุนแต่ละแบบให้เข้าใจจริง ๆ ก่อน ถึงจะเลือกได้
ซึ่งซีรีส์การเงินในตอนต่อไป ๆ พี่ทุยจะมาเจาะลึกสไตล์การลงทุนในแต่ละแบบให้ทุกคนได้อ่านกัน เริ่มจากการลงทุนในหุ้นสไตล์พื้นฐาน (VI) ต่อจากนั้นก็เป็นสไตล์การลงทุนแนวเทคนิค (Technical) ถ้าใครอ่านซีรีส์การเงินจนจบพี่ทุยเชื่อว่าทุกคนน่าจะเลือกสไตล์การลงทุนที่เราชื่นชอบได้
เปิดบัญชีกับ LH Securities วันนี้ เรียนฟรีคอร์สเทรดหุ้นออนไลน์
สำหรับใครที่กำลังมองหาที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่ พี่ทุยแนะนำให้เปิดบัญชีกับทาง LH Securities ผู้สนับสนุนหลักของ ซีรีส์ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน
เพราะทั้งสะดวกและให้บริการครบ สามารถจบในที่เดียวได้ ตั้งแต่เปิดบัญชี การสมัครบริการตัดเงินบัญชีอัตโนมัติ ไปจนถึงวางหลักประกัน LH Securities ก็มีให้บริการ และที่สำคัญคือสามารถทำทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย สะดวกและง่ายมาก ๆ
สนใจเปิดบัญชีกับ LH Securities พร้อมดูขั้นตอนแบบละเอียด สามารถทำตามได้แบบ Step by Step คลิกที่นี่เลย
ยังไม่หมดแค่นั้น ! เปิดพอร์ตกับทาง LH Securities ตอนนี้รับสิทธิ์เข้าเรียนคอร์สเทรดหุ้นออนไลน์กันแบบฟรี ๆ กับ “คุณเคน – จักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร, CFP ®” ผู้ร่วมก่อตั้ง Money Buffalo ของเรา ที่จะมาพาจับมือเทรดกันตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 100 ให้ โดยจะเน้นที่การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis) วิเคราะห์กราฟกันแบบมันส์ ๆ พร้อมลุยตลาดจริงกันเลย
อ่าน EP ต่อไป
ย้อนกลับไปอ่าน EP ก่อนหน้านี้
ติดตามซีรีส์การเงิน “ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน” ตอนอื่น ๆ ได้ที่นี่