ใครเหมาะกับกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ | ซีรีส์กองทุน EP4

กองทุนรวมตลาดเงิน คืออะไร เหมาะกับใคร ต่างกับตราสารหนี้ยังไง | ซีรีส์กองทุน EP4

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ตราสารหนี้ คือ สัญญากู้เงินรูปแบบหนึ่ง ที่ระบุรายละเอียดหลัก ๆ อย่างชัดเจน เช่น ผู้ออกให้ (Issuer), มูลค่าหนี้ที่ยืมไปหรือมูลค่าหน้าตั๋ว (Par value), อัตราดอกเบี้ย, ระยะเวลา, จ่ายดอกเบี้ยทุกกี่เดือน เป็นต้น
  • ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงตั้งแต่เสี่ยงต่ำไปจนถึงเสี่ยงสูงมาก และก็มีความเสี่ยงอย่าง Default Risk และ Liquidity Risk ด้วย
  • สิ่งสำคัญที่ต้องระวังของการลงทุนผ่านกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ Interest Rate Risk

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ใน EP นี้ พี่ทุยจะพามาทำความรู้จักและพามาดูกันว่า ใครเหมาะกับ กองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ กันบ้าง เพื่อนักลงทุนทุกคนจะได้เลือกลงทุน เลือกใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงมีเรื่องอะไรที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจลงทุนบ้าง

กองทุนรวมตลาดเงิน คืออะไร ?

กองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่ชื่อว่า “ตราสารหนี้” เป็นหลัก ซึ่งตามหลักการทางการเงิน การลงทุนในตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ เป็นการลงทุนที่มีตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูงเลย โดยสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ ซึ่งทั่วไปมักใช้เวลา 1-4 วันทำการขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนและประเทศที่เข้าไปลงทุน

แล้ว กองทุนรวมตราสารหนี้ คืออะไร ?

ถ้าเปรียบเทียบแบบง่าย ๆ เลย ตราสารหนี้ คือ สัญญาเงินกู้รูปแบบหนึ่งเนี่ยแหละ คนที่ออกตราสารหนี้เราจะเรียกว่า “ผู้กู้ (Borrower)” และคนที่ซื้อ/ลงทุนในตราสารหนี้ก็คือ “ผู้ให้กู้ (Lender)”

ในตราสารหนี้จะระบุรายละเอียดหลัก ๆ อย่างชัดเจน เช่น ผู้ออกให้ (Issuer) มูลค่าหนี้ที่ยืมไปหรือมูลค่าหน้าตั๋ว (Par value), อัตราดอกเบี้ย,  ระยะเวลา, จ่ายดอกเบี้ยทุกกี่เดือน เป็นต้น ลองจินตนาการว่าการที่เราจะให้ใครกู้เงิน แล้วในสัญญาเงินกู้มีรายละเอียดอะไรบ้าง ในตราสารหนี้ก็ระบุอย่างนั้นไว้ครบถ้วนเลย

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะแบ่งชื่อเรียกของตราสารหนี้ตามลักษณะของผู้ออกตราสารหนี้เป็นหลัก ถ้าภาครัฐเป็นผู้ออกจะเรียกว่า “พันธบัตร” แต่ถ้าบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกจะเรียกว่า “หุ้นกู้” ซึ่งก็จะมีชื่อเรียกที่แตกแขนงออกไปตามลักษณะของตราสารหนี้แต่ละประเภทด้วย ไว้ถ้าเพื่อน ๆ เริ่มศึกษาการลงทุนในตราสารหนี้อย่างจริงจัง สามารถศึกษาเพิ่มเติมภายหลังได้

กองทุนรวมตลาดเงิน และ กองทุนรวมตราสารหนี้ แตกต่างกันยังไง ?

ความแตกต่างของกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ คือ “ระยะเวลา” 

กองทุนรวมตราสารหนี้ มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ เป็นต้น

กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีข้อกำหนดเข้มเป็นพิเศษ โดยให้ลงทุนได้เฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 397 วัน ที่มีสภาพคล่องสูงและคุณภาพดี โดยต้องดำรง Portfolio Duration* ในขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 92 วัน (การที่ระยะเวลาสั้นก็หมายถึงมีสภาพคล่องสูงนั่นเอง)

*Portfolio Duration หมายถึง อายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุน ซึ่งได้จากการคำนวณค่าตามมาตรฐานสากล

ความเสี่ยง กองทุนรวมตลาดเงิน เหมาะกับใคร ?

แน่นอนว่าไม่มีการลงทุนใดในโลกไม่มีความเสี่ยง แม้จะเป็นกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำก็ตาม โดยความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนควรระวังเป็นพิเศษก็คือ

1. ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk)

คือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน ว่าจะสามารถจ่ายคืนผู้ลงทุนตามที่กำหนดไว้ในตราสารหนี้ได้หรือไม่ แต่แน่นอนสำหรับตราสารหนี้ที่ภาครัฐเป็นผู้ออกจะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าที่ภาคเอกชนเป็นผู้ออก

สำหรับความเสี่ยงประเภทนี้ ถือเป็นความเสี่ยงหลักที่อันตรายที่สุดสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้เลยก็ว่าได้ เพราะอาจจะหมายถึงเงินลงทุนทั้งก้อนที่หายไปเลย แต่การลงทุนผ่านกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนโดยตรงในตราสารหนี้ เพราะมีผู้จัดการกองทุนที่จะช่วยคัดเลือกตราสารหนี้ที่ดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเหล่าสถาบันต่าง ๆ มักจะเข้าถึงข้อมูลการลงทุนได้ดีมากกว่า

นักลงทุนสามารถพิจารณาโดยดูระดับความเสี่ยงจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของผู้ออกตราสารได้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน พี่ทุยแนะนำให้เลือกลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ที่อยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) เท่านั้น

รวมถึงนโยบายการลงทุนที่ไม่กระจุกอยู่ในตราสารใดตราสารหนึ่งมากเกินไป เพราะถ้าเกิดกรณีที่เลวร้ายอย่างการผิดนัดขึ้นมาจริง ๆ ก็จะส่งผลเสียต่อกองทุนในระดับต่ำกว่าการลงทุนแบบกระจุกตัวนั่นเอง

2. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk)

คือ ความเสี่ยงที่นักลงทุนไม่สามารถซื้อหรือขายตราสารหนี้ในเวลาและราคาที่ต้องการได้ในทันที ถึงแม้ในประเทศไทยเราจะมีตลาดรองในการซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่มีสภาพคล่องถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ขาดทุนเป็นจำนวนมากได้ หากไม่สามารถถือจนครบอายุตราสารที่กำหนดไว้

3. ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)

คือ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าตราสารหนี้มักจะมีการจ่ายดอกเบี้ยให้อัตราคงที่ตลอดอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยก็ยังส่งผลกระทบต่อราคาของตราสารหนี้ที่กองทุนถืออยู่ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างแบบง่าย ๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพของ Interest Rate Risk มากขึ้น

สมมติ พี่ทุยลงทุนตราสารหนี้ A ราคา 10,000 บาท ให้ดอกเบี้ยที่ 6% แปลว่าพี่ทุยจะได้ดอกเบี้ยปีละ 600 บาท

แล้วอยู่ ๆ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศก็ปรับขึ้นจาก 6% เป็น 12% แปลว่า ถ้าหากมีตราสารหนี้ B ชุดใหม่ ก็จะมีดอกเบี้ยที่ให้ตามดอกเบี้ยนโยบายที่ 12%

คำถามคือ แล้วตราสารหนี้ A ที่พี่ทุยถืออยู่ในดอกเบี้ยที่ 6% คิดว่าจะมีใครหรือนักลงทุนคนไหนอยากได้ตราสารหนี้ที่พี่ทุยถือมั้ย ?
คำตอบคือ ไม่มีแน่นอน เพราะคนอื่น ๆ จะกำเงินไปซื้อตราสารหนี้ B ตัวใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยที่ 12% แทน

สิ่งนี้จะทำให้ตราสารหนี้ A ที่พี่ทุยถือจะมีราคาที่ลดลงและมีความต้องการลดลง แปลว่าถ้าพี่ทุยต้องการขายตราสารหนี้ A จะได้เงินคืนมาต่ำกว่า 10,000 บาทที่ลงทุนไปอย่างแน่นอน ซึ่งก็หมายถึงว่าจะขาดทุนนั่นเอง

ถึงแม้ว่าพี่ทุยจะสามารถถือได้ครบกำหนด และจะได้เงิน 10,000 บาทคืนเต็มจำนวน แต่ก็จะเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ตัวอื่นที่ให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า แต่สำหรับกองทุนรวมจะต้องมีการคิด NAV เพื่อรายงานแก่นักลงทุนทุกวัน (Mark to Market) ทำให้ต้องรับรู้ขาดทุนของราคาตราสารหนี้ที่ปรับตัวกลับมาที่ NAV ทำให้การลงทุนผ่านกองทุนรวมตลาดเงินและตราสารหนี้มี “ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)”

พี่ทุยเชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้มากขึ้นแล้วแน่นอน ใน EP หน้า พี่ทุยจะค่อย ๆ พาไปเจาะลึกกันว่า แล้วถ้าเราอยากลงทุนทั้งกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ จะมีวิธีคัดเลือกกองทุนได้อย่างไรบ้าง

อ่าน EP ต่อไป

ย้อนกลับไปอ่าน EP ก่อนหน้านี้

ติดตามซีรีส์กองทุน เลือกลงทุนง่ายนิดเดียว ตอนอื่น ๆ ได้ที่นี่

ขอขอบคุณทาง บลจ.ยูโอบี (UOBAM) ที่เข้ามาสนับสนุนการให้ความรู้ผ่าน “ซีรีส์กองทุน เลือกลงทุน ง่ายนิดเดียว” ในครั้งนี้

สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม ทาง UOBAM มีกองทุนให้เลือกลงทุนหลากหลายนโยบายการลงทุน มีทั้งตลาดเงิน ตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไปจนถึงกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ทั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ให้เลือกลงทุน การซื้อขายสามารถทำได้สะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ในแอปฯ “UOBAM Invest Thailand”

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ www.uobam.co.th
ติดต่อฝ่ายบริการนักลงทุน โทร. 02-786-2222 หรือติดต่อตัวแทนจำหน่ายที่ บลจ. แต่งตั้ง 

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะกองทุน นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนการตัดสินใจลงทุน  ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวด้วย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile