เวลาพูดถึงการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ทุกคนจะนึกถึงหุ้น ส่วนการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็จะนึกถึงตราสารหนี้มาก่อนเลย แต่ดูเหมือนปี 2022 ขนาดตราสารหนี้ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำ มีโอกาสขาดทุนน้อยแล้ว คนที่ ลงทุนตราสารหนี้ ก็ได้เจอกับการขาดทุนได้เป็นบางช่วง
เจอแบบนี้แล้ว คนที่ลงทุนตราสารหนี้ ก็ชักเริ่มลังเลว่า ปี 2023 ถ้าอยากลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จะยังมองตราสารหนี้เป็นทางเลือกในใจได้มั้ย วันนี้ พี่ทุยจะมาวิเคราะห์ให้ฟัง
ตราสารหนี้ คือ อะไร
พี่ทุยขอสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับ ตราสารหนี้ อีกครั้ง เผื่อใครไม่เคยลงทุน และยังงงว่ามันคืออะไร
ตราสารหนี้ ก็คือ สิ่งที่กิจการออกให้คนที่ลงทุน เพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าหนี้
เวลาเราไปซื้อตราสารหนี้มา ก็เหมือนเอาเงินให้กิจการยืม โดยเขาสัญญาว่าจะคืนเงินเราพร้อมผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้
ถ้ากิจการนั้นมีความน่าเชื่อถือสูง มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำ เวลาออกตราสารหนี้ ก็มักให้ดอกเบี้ยไม่สูงมาก ส่วนกิจการที่ความน่าเชื่อถือน้อย มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า ก็มักต้องให้ดอกเบี้ยสูง ๆ เพื่อจูงใจ
ประเภทของตราสารหนี้
ถ้าแบ่งตราสารหนี้แบบง่าย ๆ ก็จะมี 2 ประเภท คือ ตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชน
1. ตราสารหนี้ภาครัฐ ก็เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ ตัวที่หลายคนคุ้นเคยก็คือ พันธบัตรรัฐบาล ที่มักถูกมองว่า เป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด
2. ตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่คือตราสารหนี้ที่เอกชนเป็นผู้ออก ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหุ้นกู้ เป็นต้น
อ่านเพิ่ม
ทำไมปี 2022 ลงทุนตราสารหนี้ แล้วขาดทุน ?
คราวนี้ พอมาดูตลาดตราสารหนี้ในปี 2022 ว่าเป็นยังไง ปรากฎว่า นักลงทุนก็เซอร์ไพร์สขาดทุนจากตราสารหนี้ที่ลงทุนไว้กันตั้งแต่ครึ่งปีแรกแล้ว
เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เคยกดดอกเบี้ยจนต่ำเหลือ 0% มานาน ประกาศขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 เพื่อสู้กลับเงินเฟ้อ แล้วหลังจากนั้นก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็ทำให้ราคาของตราสารหนี้ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ปรับลดลง เพราะว่านักลงทุนที่คิดจะมาซื้อตราสารหนี้นี้ต่อจากนักลงทุนรายเดิม ย่อมอยากได้ของในราคาถูกลง
เพราะเวลาที่ลงทุน ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง นักลงทุนก็ต้องการส่วนต่างของผลตอบแทนเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง (Risk Free) ยิ่งลงทุนอะไรที่เสี่ยงสูง ก็อยากได้ส่วนต่างเยอะขึ้น
สมมตินาย A ซื้อตราสารหนี้ A อายุ 1 ปีที่ครบกำหนดไถ่ถอนเดือน ธ.ค. 2022 ให้ดอกเบี้ย 4% มาในราคา 1,000 บาท แต่หลังจากเดือน มี.ค. 2022 Fed ขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่อง จนถึงเดือน พ.ย. ปี 2022 ขึ้นมาแล้วทั้งหมด 3.75%
ถ้านาย B อยากจะมาซื้อตราสารหนี้ตัวนี้ต่อจากนาย A เพื่อให้รู้สึกว่า ตัวเองจะได้ผลตอบแทนส่วนต่าง 4% เหมือนเดิม ก็เลยพร้อมจ่ายเงินซื้อตราสารหนี้ในราคาถูกลง เช่น อาจจะรับได้ที่ราคาต่ำกว่า 962.50 บาท (เป็นราคาที่คำนวณรวมส่วนต่างราคากับดอกเบี้ยไถ่ถอน หักลบด้วยดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยงแล้ว จะได้ผลตอบแทน 4%)
และถ้านาย A ต้องขายตราสารหนี้นี้ออกมาให้นาย B ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนในราคาถูกลง ก็หมายความว่า นาย A ต้องขาดทุนจากการลงทุนในตราสารหนี้นี้ หรือถึงแม้จะถือต่อไปจนครบกำหนดไถ่ถอน แล้วได้ดอกเบี้ย 4% พอหักลบส่วนต่างจากดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยงแล้ว นาย A ก็เหมือนได้ผลตอบแทนแค่ 0.25% เท่านั้นเอง ก็แปลว่า ได้ผลตอบแทนที่น้อยลงไปมากเลยจากที่คิดไว้ตอนที่ลงทุนครั้งแรก
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในปี 2022
จะเห็นได้ว่า พอดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ก็ดูไม่เป็นที่น่าปลื้มใจเอาซะเลยกับคนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาลงทุนยาว ๆ เพราะดอกเบี้ยถูกกำหนดมานานแล้ว พอระหว่างทาง ดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน นักลงทุนก็เสียโอกาสจากการนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนต่อ เพื่อรับดอกเบี้ยระดับใหม่ที่สูงขึ้น ยิ่งอายุตราสารหนี้ยาวเท่าไหร่ ค่าเสียโอกาสก็เยอะขึ้นเท่านั้น หรือถ้าคิดจะขายต่อ ก็ขาดทุนจากราคาขาย
นี่ยังไม่นับรวมเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปี 2022 เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมามาก ส่วนเงินบาทอ่อนค่า ถ้าไปลงทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ เวลาแปลงกลับมาเป็นเงินบาท ก็ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนด้วยแน่นอน ถ้าไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้
โดยรวมแล้วในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น คนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ควรจะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น เพราะจะได้ลดความเสี่ยงจากการเสียโอกาสนำเงินไปลงทุนต่อในตราสารหนี้ใหม่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
ปี 2023 ลงทุนตราสารหนี้ ดีหรือไม่
คำถามก็คือ ปี 2023 ล่ะ ลงทุนตราสารหนี้ได้มั้ย ลงทุนยังไงดี พี่ทุยขอรวบตึง มุมมองนักลงทุนสถาบันหลาย ๆ แห่ง มาไว้ที่นี่ ให้ลองพิจารณาก็แล้วกัน
มุมมองการลงทุนในตราสารหนี้ ปี 2023 จากนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ
Fidelity International
- ปี 2023 การลงทุนตราสารหนี้ น่าจะตอบรับกับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง เนื่องจากธนาคารกลางน่าจะเปลี่ยนทิศทางจากการขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อเป็นนโยบายดอกเบี้ยที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น
- แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณว่า Fed จะเปลี่ยนทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ แต่ก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยลง เราคงไม่เห็นการขึ้นดอกเบี้ยทีละ 0.75% อีก และอัตราดอกเบี้ยน่าจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งที่จะเกิดขึ้น
- โดยรวมแล้วการลงทุนตราสารหนี้ปี 2023 น่าจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักลงทุนพันธบัตรรัฐบาลช่วงต้นปี
- ในการลงทุนพันธบัตรรัฐบาล นอกจากจะพิจารณาดอกเบี้ยที่ได้รับว่าถูกหรือแพง ยังต้องพิจารณาจากค่าเงินของตัวเองเทียบกับสกุลเงินที่ไปลงทุนด้วย
- การลงทุนตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน ในฝั่งผู้ออกตราสารหนี้จะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้ดอกเบี้ยถูกลง แต่ในฝั่งนักลงทุนจะมองหาตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่บริษัทจะผิดนัดชำระหนี้
BlackRock
- จากการที่ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 ทำให้อัตราดอกเบี้ยผันผวน แต่ก็เป็นโอกาสในการลงทุน ทำให้ตราสารหนี้ระยะสั้นในตลาดให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในรอบ 15 ปี นักลงทุนสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนในดัชนีตราสารหนี้ระยะสั้นได้
- ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
Allianz Global Investors
- มองว่ามีโอกาสในการกลับเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ เมื่อไหร่ที่ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะแปลว่าเวลานั้นถึงจุดสิ้นสุดรอบการใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบตึงตัวแล้ว
- ในช่วงที่ตลาดผันผวนอยู่ตอนนี้ เป็นสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับนักลงทุน โดยเวลานี้ไม่เหมาะกับการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนยาวหรือมีความเสี่ยงด้านเครดิตมากขึ้น แต่เหมาะกับการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะว่า เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเริ่มแบนราบจนถึงกลับด้าน การซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นจะช่วยล็อคผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ระยะยาวได้ แต่ตราสารหนี้ระยะสั้นไม่ได้ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนมากนัก เพราะยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่
- ตราสารหนี้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้เอกชน เพราะมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ
- ตราสารหนี้ที่มีความยั่งยืน (Green bonds) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment grade) มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะวิกฤติพลังงานที่ทำให้เกิดความต้องการมากขึ้นและผลตอบแทนที่ดีขึ้นสำหรับการระดมทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
- หุ้นกู้เอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูง และตราสารหนี้ต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่ มีมูลค่าและผลอตอบแทนระยะยาวที่น่าดึงดูดใจมากขึ้น แต่สินทรัพย์เหล่านี้อาจมีความผันผวนและความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ดังนั้นก็ต้องจัดการกับความเสี่ยงนี้ด้วย
ING
- การลงทุนในตราสารหนี้ปี 2023 เป็นทางเลือกที่ดี โดยผลตอบแทนตราสารหนี้จะได้รับแรงสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนเริ่มต้นที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับลดลงตามมาหลังจากนั้น
BNP Paribas Asset Management
- การลงทุนในตราสารหนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะได้รับผลตอบแทนเป็นบวก
- ธนาคารกลางต่าง ๆ พยายามจัดการปรับให้อัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับปกติ แปลว่า อัตราดอกเบี้ยไม่ควรจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากนี้ และเราน่าจะเห็นนดยบายปรับลดดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ได้ ในช่วงปลายปี 2023
- ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ก็ยังสูงอยู่ และการจัดสรรสินทรัพย์ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับปี 2023
- กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ ควรมุ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์หลัก ๆ เช่น ตราสารตลาดเงิน พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ในระดับที่ลงทุนได้ ควบคู่ไปกับการกระจายไปลงทุนส่วนเสริมในตราสารหนี้ที่มีความยืดหยุ่น ตราสารหนี้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่
โดยรวมแล้ว พี่ทุยพอสรุปได้ว่า นักลงทุนสถาบัน มีมุมมองคล้าย ๆ กันว่า ปี 2023 น่าจะเป็นปีดี ๆ ของการลงทุนในตราสารหนี้ แต่ก็ยังเป็นปีที่ความผันผวนสูงอยู่ ดังนั้นตราสารหนี้ระยะสั้น ๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในช่วงเวลาแบบนี้
ตราสารหนี้ ซื้อที่ไหน ?
มาถึงตรงนี้ ถ้าใครคิดว่าจะเดินหน้าลงทุนในตราสารหนี้ปี 2023 แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยลงทุนมาก่อนเลย พี่ทุยขอสรุปช่องทางการลงทุนในตราสารหนี้มาให้ ดังนี้
1. ซื้อตราสารหนี้ในประเทศเองโดยตรง
ทางเลือกนี้ เป็นทางเลือกสำหรับคนที่มีเงินลงทุนสูงมาก ๆ โดยสามารถลงทุนตราสารหนี้เองได้ ซึ่งถ้าเป็นตราสารหนี้ในประเทศ ก็จะมีการเปิดขายอยู่บ่อย ๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน
2. ลงทุนตราสารหนี้ ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้
ใครที่มีเงินลงทุนไม่ได้สูงมาก อยากแบ่งเงินลงทุนบางส่วนลงทุนในตราสารหนี้ ก็สามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีกองทุนรวมตราสารหนี้ให้เลือกหลายรูปแบบ
มีทั้งที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ความเสี่ยงต่ำ ลงทุนในตราสารหนี้เอกชนอย่างเดียว ลงทุนผสมผสานทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน ไปจนถึงลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High yield bonds)
นอกจากนี้ก็ยังมีแบ่งแยกย่อยลงทุนตามระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนของตราสารหนี้อีก ทั้งกองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงมีให้เลือกด้วยว่า ลงทุนตราสารหนี้ในประเทศอย่างเดียว หรือลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศด้วย
ผู้ลงทุนอย่างเราเลือกกันได้เลย ตามนโยบายที่คิดว่าใช่สำหรับตัวเอง โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะเป็นกองทุนรวมเชิงรุก ที่เน้นคัดเลือกตราสารหนี้รายตัวลงทุน เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนี
3. ลงทุนในกองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้ (Bond ETF)
นี่ก็เป็นอีกทางเลือก สำหรับคนที่เงินลงทุนไม่สูง โดย Bond ETF จะแตกต่างไปจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ก็ตรงที่ เป็นการลงทุนที่นักลงทุนสามารถซื้อขายได้เรียลไทม์เหมือนหุ้น โดยกองทุนประเภทนี้จะไปลงทุนในตราสารหนี้ที่อ้างอิงอยู่ในดัชนี เป็นการลงทุนเชิงรับ เหมาะกับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี
รูปอ้างอิง https://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2020/24032020.aspx
เอาเป็นว่า ใครสะดวกลงทุนผ่านช่องทางไหน ก็ไปลงทุนกันได้ แต่สิ่งสำคัญที่พี่ทุยขอย้ำเตือนก็คือ อย่าลืมเลือกสินทรัพย์ที่ลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ด้วย และที่สำคัญ ไม่ควรจะทุ่มเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทเดียว แต่ควรจะกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายหน่อย เพื่อที่เวลาสินทรัพย์ไหนมีปัญหาก็ยังพอมีสินทรัพย์อื่นที่พยุงพอร์ตเราไว้ได้