หลังจากที่เรารู้จักกองทุนรวมกันมากขึ้นแล้วว่าคืออะไร มีอะไรที่ต้องเข้าใจก่อนลงทุนกับกองทุนรวมบ้าง ใน EP นี้ พี่ทุยจะพาไปรู้จัก ประเภทกองทุนรวม กันให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นเหมือนกับตัวกรองหรือตะแกรงร่อนสำหรับการคัดเลือกกองทุนว่าเราควรโฟกัสลงไปที่กองทุนรวมประเภทไหน เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของเรามากที่สุด
กองทุนรวม มีกี่ประเภท ?
พี่ทุยขออ้างอิงข้อมูลจากทาง ก.ล.ต เป็นหลัก ที่เป็นมาตรฐานที่นักลงทุนไทยใช้แบ่งประเภทของกองทุนรวม มีทั้งหมด 8 ประเภทด้วยกัน
ความเสี่ยงระดับที่ 1 ประเภทกองทุนรวม ตลาดเงินในประเทศ – เสี่ยงต่ำ
เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในเงินฝาก ตั๋วเงิน รวมถึงตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย หรือต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดทุนในช่วงสถานการณ์นั้น ๆ
ความเสี่ยงระดับที่ 2 ประเภทกองทุนรวม ตลาดเงินต่างประเทศ – เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
จะมีความคล้ายคลึงกับกองทุนรวมความเสี่ยงระดับที่ 1 แต่มีการลงทุนไปยัง เงินฝาก ตั๋วเงิน รวมถึงตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปีในต่างประเทศด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเวลาที่ไปลงทุนในต่างประเทศ เราจะต้องแลกจากเงิน “บาท” ไปยังสกุลเงินท้องถิ่นนั้น ๆ และเวลารับรู้ผลตอบแทนทางกองทุนจะต้องคำนวณค่าเงินกลับมาเป็นเงินบาทเพื่อรายงานให้กับนักลงทุนทุก ๆ สิ้นวันทำการด้วย แต่โดยปกติกองทุนประเภทนี้มักจะมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน
ความเสี่ยงระดับที่ 3 ประเภทกองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล – เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จึงมีความผันผวนมากกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน แต่ ณ ปัจจุบันตอนนี้ในประเทศไทยเหลือกองทุนประเภทนี้น้อยมาก
เราสามารถดูจำนวนกองทุนในแต่ละประเภทว่าน้อยหรือมาได้จากเว็บไซต์ Morningstar อย่างในกรณีนี้ พี่ทุยพาไปดูกองทุนความเสี่ยงระดับที่ 3 โดยสามารถเลือกที่ช่อง ‘ประเภทกองทุนแบ่งตาม AIMC’ ได้ โดยเลือกประเภท Short Term Government Bond (มี 7 กองทุน) และ กองทุนประเภท Mid Term Government Bond (มี 8 กองทุน) รวมแล้วมี 15 กองทุน (จากทั้งหมดประมาณ 1,900 กว่ากองทุน)
และส่วนใหญ่มักจะมีการกระจายลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนไปด้วยบางส่วนทำให้จะถูกเพิ่มความเสี่ยงเป็นระดับที่ 4 แทน
ความเสี่ยงระดับที่ 4 กองทุนรวมตราสารหนี้ – เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง และหุ้นกู้เอกชน ซึ่งมีทั้งกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว (อายุเฉลี่ยมากกว่า 1 ปี)
กองทุนรวมตราสารหนี้เลยเหมาะกับผู้ที่ลงทุนได้ทั้งระยะสั้นไปถึงระยะยาว และผู้ที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก รวมถึงผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ได้เช่นกัน
ความเสี่ยงระดับที่ 5 กองทุนรวมผสม – เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
เป็นกองทุนที่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น หรืออื่น ๆ ซึ่ง “สัดส่วนการลงทุน” ของการลงทุนในพอร์ตกองทุนรวมจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ “นโยบายการลงทุน” ของกองทุนนั้น ๆ เพราะฉะนั้นการอ่านนโยบายการลงทุนและทำความเข้าใจกับวิธีการปรับสัดส่วนของกองทุนถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากบางกองทุนอาจจะปรับสัดส่วนระหว่างตราสารหนี้และหุ้นได้แบบอิสระ ไปจนถึงระดับการถือหุ้นที่ 100% หรือตราสารหนี้ 100% ก็สามารถทำได้ แต่ก็จะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นทันที เมื่อเทียบกับกองทุนรวมผสมที่มีการกำหนด ช่วง (Range) สูง-ต่ำ ของแต่ละสินทรัพย์ไว้
นอกจากนี้สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มี High Yield Bond ตราสารหนี้ที่มีเงื่อนไขพิเศษต่าง ๆ ในอัตราส่วนที่สูง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงระดับที่ 5 เช่นกัน
กองทุนรวมผสมเลยเหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง หรือผู้ที่ไม่มีเวลาในการปรับสัดส่วนการลงทุนด้วยตัวเองในเวลาที่ตลาดมีความผันผวนสูงนั่นเอง
ความเสี่ยงระดับที่ 6 กองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนรวมหุ้น – เสี่ยงสูง
กองทุนรวมตราสารทุนถือว่าเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้น ๆ สำหรับนักลงทุนเลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสำหรับกองทุนที่ได้รับความนิยมอย่างกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงระดับที่ 6
แต่สำหรับ “กองทุนรวมผสม” ที่มีนโยบายการที่ยืดหยุ่นมากที่สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นได้เต็มที่ถึง 100% ก็จะถือว่ามีระดับความเสี่ยงที่ 6
กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะกับคนที่ต้องการผลตอบแทนสูงและรับความเสี่ยงได้สูง หรือชอบการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก
ความเสี่ยงระดับที่ 7 กองทุนรวมตามหมวดอุตสาหกรรม – เสี่ยงสูง
จะมีความคล้ายคลึงกับกองทุนรวมตราสารทุน แต่เน้นหุ้นแบบเจาะอุตสาหกรรม เช่น หุ้นธนาคาร หุ้นสื่อสาร หุ้นโรงพยาบาล ฯลฯ แต่กองทุนประเภทนี้จะมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารทุนทั่วไป เนื่องจากมีการลงทุนแบบกระจุกตัวมากกว่าปกติ จึงเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง และมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะและความเสี่ยงอุตสาหกรรมนั้น ๆ เป็นอย่างดี
ความเสี่ยงระดับที่ 8 กองทุนรวมทางเลือก – เสี่ยงสูง
เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในทางเลือกอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสินทรัพย์พื้นฐานอย่างตราสารหนี้และตราสารทุน (หุ้น) เช่น ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ทำให้กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง และคนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม แต่อาจต้องศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกนั้น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น
เคล็ดลับการเลือก ประเภทกองทุนรวม คือระยะเวลา
เนื่องจากกองทุนรวมมีทั้งหมด 8 ประเภทหลัก ส่วนตัวพี่ทุยแล้วมักเลือกใช้ “ระยะเวลาการลงทุน” ที่สามารถลงทุนได้เป็นตัวกำหนด ว่าจะเลือกลงทุนกองทุนรวมประเภทใด ที่ความเสี่ยงเท่าไหร่ดี
อย่างเช่น สำหรับใครสามารถลงทุนได้ 2 ปี แนะนำว่าให้เลือกใช้งาน “กองทุนตราสารหนี้” เป็นหลัก หรือใครที่สามารถลงทุนได้มากกว่า 7 ปีขึ้นไป แนะนำให้เลือกลงทุนกองทุนรวมตราสารทุนได้เลย เนื่องจากผลตอบแทนในระยะยาวพิสูจน์ให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องแล้วว่า การลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาวสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้
แต่สำหรับกองทุนความเสี่ยงระดับ 7-8 ใครที่เป็นนักลงทุนมือใหม่ ในเบื้องต้นยังไม่แนะนำให้เลือกใช้งานสักเท่าไหร่ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่สูง และต้องอาศัยความรู้เฉพาะของอุตสาหกรรมและสินทรัพย์ที่สูงกว่าปกติ ถ้าหากไม่ศึกษาให้ดีอาจจะนำผลขาดทุนกลับมาที่พอร์ตลงทุนได้ ในช่วงเริ่มต้นพี่ทุยขอแนะนำให้เริ่มศึกษาและเลือกใช้งานกองทุนระดับความเสี่ยงที่ 1-6 กันก่อน
หลังจาก EP นี้เป็นต้นไป พี่ทุยจะพาไปเจาะลึก ประเภทของกองทุน กันให้มากขึ้นว่ากองทุนแต่ละประเภทเหมาะกับใครกันแน่ เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น แล้วถ้าอยากเลือกลงทุนในกองทุนรวม เราจะต้องเลือกกองทุนจากปัจจัยอะไรบ้าง ไปติดตาม EP4 กันต่อได้เลย
อ่าน EP ต่อไป
ย้อนกลับไปอ่าน EP ก่อนหน้านี้
ติดตามซีรีส์กองทุน เลือกลงทุนง่ายนิดเดียว ตอนอื่น ๆ ได้ที่นี่
ขอขอบคุณทาง บลจ.ยูโอบี (UOBAM) ที่เข้ามาสนับสนุนการให้ความรู้ผ่าน “ซีรีส์กองทุน เลือกลงทุน ง่ายนิดเดียว” ในครั้งนี้
สำหรับใครที่สนใจอยากเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม ทาง UOBAM มีกองทุนให้เลือกลงทุนหลากหลายนโยบายการลงทุน มีทั้งตลาดเงิน ตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไปจนถึงกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ทั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ให้เลือกลงทุน การซื้อขายสามารถทำได้สะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ในแอปฯ “UOBAM Invest Thailand”
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ www.uobam.co.th
ติดต่อฝ่ายบริการนักลงทุน โทร. 02-786-2222 หรือติดต่อตัวแทนจำหน่ายที่ บลจ. แต่งตั้ง
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะกองทุน นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนการตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวด้วย