อีกหนึ่งประเภทกองทุนที่ต้องบอกว่าเนื้อหอมมากที่สุด และหลายคนก็เข้ามาในตลาดการลงทุนด้วยการซื้อกองทุนประเภทนี้เป็นตัวแรกเลย นั่นก็คือ SSF หรือ Super Saving Fund ที่นอกจากเป็นการลงทุนแล้ว ยังเป็นกองทุนที่ลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งใน EP นี้ พี่ทุยจะพาไปทำความรู้จัก กองทุน SSF แบบเจาะลึกกันเลย
กองทุน SSF คืออะไร ? ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่
SSF (Super Saving Funds) คือ กองทุนรวมเพื่อการออม เป็นกองทุนที่รัฐบาลอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวให้กับประชาชนที่มาทดแทน LTF ที่หมดอายุไป
โดยอนุญาตให้นำเงินที่ซื้อ SSF ในแต่ละปีมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อนับรวมกับสิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ที่ประกอบไปด้วย
- กองทุน RMF
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- กองทุนสงเคราะห์ครูตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
- กองทุนการออมแห่งชาติ
- เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
และแน่นอนว่าสำหรับใครที่ “ลดหย่อนภาษี” ด้วย SSF ต้องอย่าลืมเงื่อนไขในการถือครอง 10 ปีบริบูรณ์แบบวันชนวันด้วย หรือว่าแปลว่าเราต้องถือลงทุนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีนั่นเอง
SSF มีนโยบายการลงทุนและสินทรัพย์แบบไหนให้เลือกบ้าง ?
ถ้าใครยังจำกันได้ เมื่อก่อนเป็น LTF นั้นจะมีการบังคับให้ลงทุนหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้โอกาสในการลงทุนค่อนข้างแคบและจำกัด
แต่ในปัจจุบัน สำหรับ SSF ที่มาทดแทน LTF นั้นไม่ได้มีการกำหนดนโยบายการลงทุนว่าต้องลงทุนอะไร เปิดกว้างการลงทุนได้ทุกสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ สินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ และอสังหาริมทรัพย์หรือจะเลือกกองทุนรวมผสม ที่มีนโยบายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่โดดเด่นมาก ๆ สำหรับ SSF
ถ้าไม่อยากปวดหัว การลดหย่อนภาษีด้วย กองทุน SSF ต้องห้ามผิดเงื่อนไขเด็ดขาด
ย้ำกันอีกครั้งสำหรับการลดหย่อนภาษีด้วย SSF พี่ทุยแนะนำว่าเราต้องมั่นใจว่าเราสามารถปฏิบัติตาม 2 เงื่อนไขได้ นั่นคือ
1. ห้ามซื้อเกิน 15% ของเงินได้และต้องไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อนับรวมกับสิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เพราะถ้าเราซื้อเกิน ส่วนที่ซื้อเกินจะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ และที่สำคัญถ้าหากลงทุนแล้วได้กำไร ส่วนที่ลงทุนแล้วได้กำไรต้องนับไปเสียภาษีด้วย
2. เงื่อนไขการถือครอง 10 ปี
สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าเงินลงทุนนี้เย็นพอให้ถือลงทุนได้ 10 ปี ก็จะไม่แนะนำให้ซื้อ SSF เลย เพราะถ้าเราขายก่อนครบ 10 ปีบริบูรณ์ นอกจากกำไรจากการลงทุนที่เกินต้องนำไปรวมภาษี ณ ปลายปีนั้น ๆ แล้ว เรายังต้องคืนเงินภาษีพร้อมค่าปรับอีกเดือนละ 1.5% ด้วย
ดังนั้น ใครก็ตามที่อยากซื้อ SSF เพราะเรื่องประหยัดภาษี ถ้าไม่อยากปวดหัวทีหลัง พี่ทุยแนะนำเลยว่าต้องตรวจสอบให้มั่นใจมากที่สุด ว่าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้เท่านั้น
ใน EP หน้า พี่ทุยจะไปเลือก SSF ในการลงทุนว่าเราจะมีวิธีเลือกยังไงให้ได้กองทุนที่ดีและเหมาะกับตัวเรามากที่สุดกัน ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันต่อได้เลย !
ย้อนกลับไปอ่าน EP ก่อนหน้านี้
อ่าน EP ต่อไป
อ่านเพิ่ม