SSF คืออะไร ? ทำไมถึงเป็นการลงทุนที่ “ครบ จบ” ในกองเดียว

SSF คืออะไร ? ทำไมถึงเป็นการลงทุนที่ครบ จบในกองเดียว

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • SSF หรือ “Super Savings Fund” เรียกว่า “กองทุนรวมเพื่อการออม” เป็นตัวเลือกเพื่อให้มีการออมระยะยาวมากขึ้น และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มีทั้งกองทุนที่มีนโยบายการจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล
  • SSF สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ลดหย่อนตามจริงได้ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี 
  • SSF ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยมักได้รับคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า SSF คืออะไร ? น่าสนใจลงทุนมากน้อยแค่ไหน วันนี้พี่ทุยเลยจะมาอธิบายแจกแจงให้ฟังถึง SSF หรือ Super Savings Fund ที่เป็นกองทุนเพื่อการออมที่ให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีที่ออกมาใหม่แทน LTF ที่สิ้นสุดลงในปี 2562 

สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องลดหย่อนภาษีและการลงทุน วันนี้พี่ทุยจะพาไปรู้จักอีกหนึ่งวิธีที่เราสามารถใช้ในการออมเงิน การลงทุน และลดหย่อนภาษีไปพร้อมกันในตัว ถือว่าคุ้มมาก

SSF คืออะไร ? 

SSF หรือ Super Savings Fund เรียกว่า กองทุนรวมเพื่อการออม เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมาทดแทน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) 

มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนดัชนี ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ 

เหมาะกับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อย และกลุ่มที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน เพื่อนำไปเป็นตัวเลือกในการลงทุนให้มีการออมระยะยาวมากขึ้น และได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำไปลดหย่อนภาษี

จะมีทั้งกองทุนที่มีนโยบายการ “จ่ายปันผล” และ “ไม่จ่ายปันผล” โดยเราเลือกรับเงินปันผล ได้  2 รูปแบบ คือ

1. หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% (Final Tax) และไม่นำส่วนที่หักไปยื่นขอลดหย่อนภาษี เหมาะสำหรับผู้ที่มีฐานภาษีมากกว่า 10% เพราะหากนำไปยื่น อาจจะโดนจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น

2. หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% จากนั้นนำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้จากการขายของออนไลน์, กำไรจากการขาย LTF/RMF, ปันผลจากกองทุน REIT) เพื่อไปยื่นเสียภาษี เหมาะสำหรับผู้ที่มีฐานภาษีน้อยกว่า 10% เพราะสามารถนำไปขอยื่น และมีโอกาสได้คืนภาษี

เลือก SSF ที่จ่ายปันผล หรือไม่จ่ายปันผลดี ? 

ถ้าจะให้เลือก พี่ทุยว่าเราควรดูจากเป้าหมายการลงทุนของเราเป็นหลัก หากต้องการเงินสดออกมาระหว่างที่ถือหน่วยลงทุนก็เลือกกองทุน SSF ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนเพราะเปรียบเสมือนการทยอยรับกำไรออกมา

หากไม่ได้ต้องการเงินสดระหว่างที่ลงทุน ก็เลือกกองทุน SSF ที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพราะกองทุนไม่มีปันผลก็จะนำเงินก้อนนั้นรวมกลับเข้าไปในกองทุนและนำไปลงทุนต่อ ทำให้มูลค่ากองทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคากองทุนนั้นก็จะสูงขึ้นกว่ากองที่จ่ายปันผลเล็กน้อย 

เมื่อถึงเวลาครบกำหนดขาย SSF “กำไรจากการขายคืน SSF จะได้รับยกเว้นภาษี” จึงทำให้ผลตอบแทนรวมของกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล มีความน่าสนใจกว่ากองทุนที่จ่ายเงินปันผล ซึ่งจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% 

เพราะสามารถทำให้มูลค่ากองทุนเติบโตได้มากกว่าจากการไม่จ่ายเงินปันผล ฉะนั้น พี่ทุยว่าก็ต้องพิจารณาอีกทีว่าผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทนในรูปแบบไหนมากกว่ากัน

เงื่อนไขการลงทุนใน SSF 

1. สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และลดหย่อนตามจริงได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท รวมไปถึงหากนำไปรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

เช่น ถ้าเรามีเงินได้ต้องเสียภาษีทั้งหมด 700,000 บาท เราจะสามารถซื้อ SSF ได้เต็มสิทธิเพียง 200,000 บาทเท่านั้น เพราะถ้าซื้อ 30% คิดเป็น 210,000 บาท ซึ่งเกินสิทธิและจะผิดเงื่อนไข

แต่ถ้าสมมติว่าเรามีซื้อประกันแบบบำนาญ 100,000 บาท มีซื้อ RMF 300,000 บาท แปลว่าในกรณีนี้ก็จะสามารถซื้อ SSF ได้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น

เงื่อนไขการลงทุนใน SSF 

2. ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อ โดยใช้ “เข้าก่อน ออกก่อน” (First in, First out : FIFO) โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องออกตอนอายุเท่าไหร่เหมือน RMF เพียงเเค่ถือครบ 10 ปี (นับแบบวันชนวัน) ก็สามารถขายออกได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข เช่น ซื้อตอนอายุ 25 ปี เมื่อถึงอายุ 35 ปี สามารถขายออกได้เลย

3. ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ

4. ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

5. การ “สับเปลี่ยน” ไปถือ SSF กองอื่นนั้นสามารถทำได้ แล้วแต่วิจารณญาณของผู้ลงทุนเลย เพราะ SSF ค่อนข้างถือเป็นเวลายาวนานและแนวโน้มของตลาดในแต่ล่ะอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงเวลาก็ต่างกัน 

ผิดเงื่อนไขการลงทุนต้องทำอย่างไร ? 

1. การซื้อ SSF เกินสิทธิ ที่กำหนดถือว่าผิดเงื่อนไข จะมีผลตอนขายคืน เพราะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืน SSF เฉพาะส่วนที่เกินสิทธิ ไปรวมเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 เพื่อเสียภาษี

แต่หากซื้อและนำไปลดหย่อนมาแล้ว ควร “ถือ” ส่วนที่เกินสิทธิไว้ขายทีเดียวตอนครบกำหนด จากนั้นนำกำไรที่ได้จากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ในปีที่ขายเพื่อเสียภาษี เนื่องจากการขาย SSF เป็นแบบ FIFO ทำให้การขายอาจจะไปขายหน่วยลงทุนที่ซื้อมาก่อนหน้า เพื่อลดความสับสนการถือให้ครบกำหนดแล้วค่อยมาจัดการเรื่อง “ภาษีจากกำไร” ภายหลังหากมีกำไรจะเป็นเรื่องที่ง่ายมากกว่า

2. ขายคืนก่อนกำหนด การถือ SSF ครบกำหนด กำไรส่วนที่อยู่ในสิทธิจะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากถือไม่ครบกำหนด  ต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับลดหย่อนไปทั้งหมด

และต้องจ่ายค่าปรับ 1.5% ต่อเดือนของจำนวนเงินภาษีที่ได้รับลดหย่อน โดยคิดตั้งแต่ช่วงเวลาหลังกำหนดการจ่ายภาษีประจำปีที่ได้นำกองทุนไปลดหย่อน ถึงเดือนที่เรานำเรื่องไปยื่นคืนภาษีให้แก่กรมสรรพากร

รวมไปถึงต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนทั้งหมดไปรวมเป็นเงินได้ในปีที่ขายเพื่อเสียภาษีเช่นกัน เช่น นักลงทุนซื้อ SSF พ.ค. 2565 จำนวน 100,000 บาท จากนั้น มี.ค. 2566 นำไปลดหย่อนภาษี ได้รับเงินคืนภาษี 10,000 บาท และ ต.ค. 2566 ขาย SSF ก่อนกำหนด ได้รับเงิน 120,000 บาท

จากตัวอย่าง ขั้นตอนที่นักลงทุนจะต้องทำมีดังนี้

1. คืนเงินภาษีที่เคยได้รับลดหย่อน จำนวน 10,000 บาท

2. จ่ายเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของจำนวนเงินภาษีที่ได้รับลดหย่อน จำนวน 1,050 บาท (10,000บาท x 1.5% x 7 เดือน) (นับตั้งแต่ มี.ค. 2565 ที่มีการลดหย่อนภาษี)

3. นำกำไรจำนวน 20,000 บาท ไปรวมเป็นเงินได้ของปี 2566 เพื่อเสียภาษีในปี 2567

พี่ทุยมองว่า SSF ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ไม่มีเวลามากนักในการศึกษาการลงทุนด้วยตัวเอง แต่มองหาโอกาสในการออม การลงทุน และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ในกองเดียว ซึ่งเราสามารถวางแผนการลงทุนโดยการ DCA กองทุน ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด แต่ก็ต้องศึกษาด้วยนะว่าเราสามารถทำตามเงื่อนไขภาษีได้หรือไม่เพราะหากผิดเงื่อนไข ต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติมซึ่งอาจจะไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่ได้รับเลยก็เป็นได้เช่นกัน

พี่ทุยทำตารางเปรียบเทียบระหว่าง SSF กับ RMF เพิ่มให้ด้วย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ไปศึกษากัน

เปรียบเทียบ SSF vs RMF ลดหย่อนได้เท่าไหร่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile