ประเภทของ “บัญชีหุ้น” ที่มีหลากหลายประเภท ก็เป็นปัญหาสำหรับมือใหม่หัดเล่นหุ้นที่ตัดสินใจจะเปิดพอร์ตหุ้นเหมือนกัน หลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเปิดพอร์ตหุ้นแบบไหนดี ? บทความนี้พี่ทุยจะมาอธิบายให้หายข้องใจกัน
บัญชีหุ้นของทุก ๆ โบรคเกอร์จะมีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
1. บัญชีเงินสด (Cash Account)
เป็นบัญชีแบบที่เราวางเงินไว้กับทางโบรกเกอร์แค่ 20% ก็สามารถซื้อหุ้นได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นเราก็ต้องโอนเงินเต็มจำนวน ภายใน 3 วันทำการ (T+3) หลังจากวันซื้อ วิธีนี้ก็ดี คือ เราไม่ต้องเอาเงินไปทิ้งไว้ในพอร์ตหุ้นในกรณีที่เรายังไม่ได้ลงทุนอะไร ก็เอาเงินไปวางที่อื่นก่อน แล้วถ้าจะซื้อก็ค่อยโอนตามมา แต่ถ้าเราไม่โอนภายในเวลาที่กำหนดก็จะโดนค่าปรับเอานะ ในกรณีขายหุ้นก็เช่นกัน เราจะได้รับเงินเข้าบัญชีหลังจากทำการขายไปแล้ว 3 วันทำการ
2. บัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance / Pre-Paid / Cash Deposit)
เป็นบัญชีแบบที่เราจะต้องเอาเงินสดไปฝากไว้กับโบรคเกอร์ก่อนถึงจะทำการซื้อหุ้นได้ โดยจะซื้อขายได้เท่ากับเงินที่เราฝากเข้าไปในบัญชีเท่านั้น และเงินที่อยู่ในบัญชีถ้าเราไม่ได้นำไปซื้อหุ้นก็จะได้รับดอกเบี้ยด้วยนะ พี่ทุยเองตอนเริ่มต้นก็เปิดบัญชีนี้ เพราะว่าง่ายแล้วก็ไม่ทำให้เราเทรดจนเกินตัว พูดง่าย ๆ ว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ก็ซื้อหุ้นได้เท่านั้นแหละ บัญชีแคชบาลานซ์เลยเป็นบัญชีขวัญใจมือใหม่โดยปริยาย
3. บัญชีเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance Account) หรือบัญชีมาร์จิน (Margin Account)
เป็นบัญชีที่เราสามารถกู้ยืมเงินจากโบรคเกอร์มาซื้อหุ้นได้ แต่จะต้องวางเงินสดหรือหุ้นเป็นหลักประกันการชำระหนี้ในอัตราส่วนขั้นต่ำที่โบรคเกอร์กำหนดไว้ ซึ่งโบรคเกอร์ก็จะคิดดอกเบี้ยเงินที่เรากู้ไปซื้อหุ้นด้วย วงเงินกู้ยืมที่เราจะได้รับอาจเพิ่มลดตามราคาหุ้นที่เราวางไว้เป็นหลักประกัน ถ้าราคาหุ้นที่เราเอามาค้ำต่ำลงไปมากๆ โบรคเกอร์ก็อาจจะเรียกให้เราเอาเงินมาเติม ไม่ก็อาจจะบังคับขายหุ้น (Force Sell) เพื่อให้ยังคงรักษาระดับอัตราส่วนหลักประกันขั้นต่ำไว้
เมื่อเราเข้าใจหลักการ ความแตกต่างของบัญชีหุ้นแต่ละประเภทแล้ว ก็ลองมาสำรวจตัวเองว่าตัวเราเหมาะกับบัญชีแบบไหน แล้วก็ไปเปิดบัญชี แล้วจัดการซื้อหุ้นกันได้เลย
สุดท้ายนี้ถ้าใครอยากรู้ว่านักลงทุนแบบเราจะไปเปิดพอร์ตหุ้นที่ไหนดี พี่ทุยมีแนะนำให้ไปอ่านเพิ่มเติมกันได้เลยตามด้านล่างนี้เลยนะ
อ่านเพิ่มเติม