สำหรับคนที่จะเริ่ม “เล่นหุ้น” พี่ทุยขอแนะนำซีรีส์การเงิน ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน เป็นซีรีส์ที่จะช่วยปูพื้นฐานในการเริ่มต้น “เล่นหุ้น” ให้กับทุกคน แต่วันนี้พี่ทุยจะมาเล่า วิธีเล่นหุ้น ด้วยการใช้ใช้ Technical Analysis เช่น เส้น EMA เบื้องต้นให้ฟัง หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าการดูกราฟนั่นเอง
หลายคนที่ทำงานประจำคงจะไม่สะดวกเท่าไหร่ ถ้าต้องมานั่งดูกราฟเทคนิคและเฝ้าจอ ลำพังงานตรงหน้าก็เครียดอยู่แล้ว ถ้าต้องมานั่งปวดหัวกับเส้นยึกยือบนจออีกคงไม่ไหว แถมยังต้องคอยหลบเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานตอนที่แอบเปิดดูในเวลาทำงาน จริงมั้ย ?
จริงๆ แล้ว เราสามารถเล่นหุ้นแนวเทคนิคแบบไม่ต้องเฝ้าจอ ซึ่งเหมาะมากกับผู้ที่ต้องทำงานประจำและลดการขายหมูได้ด้วยเส้นเพียงแค่ไม่กี่เส้น ซึ่งพระเอกของเราในวันนี้ คือ
เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอกซ์โปเนนเชี่ยล หรือเรียกสั้น ๆ ว่า EMA (Exponential Moving Average)
วิธีเล่นหุ้น ด้วยเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) คืออะไร ?
เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แต่ประเภทที่นิยมใช้กันมากที่สุด เหมือนเป็นยาสามัญประจำพอร์ตของเทรดเดอร์ที่ใช้งานกราฟเทคนิคในการวิเคราะห์ราคาหุ้น คือ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอ็กซ์โปเนนเชียล หรือ EMA ซึ่งคำนวณมาจากค่าเฉลี่ยของราคาปิดของหุ้นย้อนหลัง ตามจำนวนวันที่เราต้องการ โดยให้ราคาวันหลัง ๆ มีน้ำหนักมากกว่า
เพราะมีแนวคิดที่ว่า ราคาย้อนหลังของวันที่ใกล้ปัจจุบันมากกว่าจะมีความสำคัญมากกว่า เช่น เรากำหนดให้แสดงค่า EMA5 โปรแกรมก็จะเฉลี่ยเอาราคาปิดของ 5 วันย้อนหลัง โดยถ่วงน้ำหนักวันหลัง ๆ มากกว่าวันแรก ๆ อย่างนี้ไงล่ะ แบบว่ามาทีหลังดังกว่า (ฮ่า)
วิธีเล่นหุ้น โดยใช้ EMA ?
เคยได้ยินคำว่า แนวรับ-แนวต้าน กันมั้ย ? ตลาดหุ้นพี่ทุยมันเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่
- ถ้าคนในตลาดส่วนใหญ่ขาย ราคาก็จะลง
- แต่ถ้าซื้อราคาก็จะขึ้น
แล้วถ้าเรารู้ว่าคนส่วนใหญ่จะหยุดขายที่เมื่อไหร่ การเข้าซื้อก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะราคากำลังจะกลับตัวนั้นเอง การที่เราใช้เครื่องมือที่คนส่วนใหญ่ใช้ก็จะทำให้เราเห็นแนวโน้มของคนส่วนใหญ่ในตลาดไปในตัวว่าเรากำลังคิดอะไรกันอยู่
ราคาหุ้นที่ลงมาแรง ๆ บ่อยครั้งจะหยุดลงที่แนวรับ เพราะคนส่วนมากคิดว่า ที่แนวราคานี้แหละน่าจะรับอยู่ ไม่ลงต่ำกว่านี้แล้ว ก็เลยพากันเข้าซื้อ และอุปทานหมู่นี้ ก็ทำให้ราคาไม่ลงต่ำไปกว่าจุดนั้นจริง ๆ เพราะทุกคนช่วยกันซื้อคนละไม้คนละมือ แนวต้านทางจิตวิทยาก็เป็นอย่างนี้เช่นกัน คือ คนส่วนมากจะขายหุ้น เพราะเชื่อมั่นว่าราคาคงขึ้นสูงไปกว่านี้ไม่ได้ พอมีแต่คนขาย ราคาก็เลยไม่ขึ้นจริง ๆ น่ะสิ
เพราะฉะนั้นอะไรที่คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นตรงกัน มักได้ผลมากกว่า ก็เหมือนเส้น EMA นี่แหละ เพราะฉะนั้นใช้อะไรที่ฮอตฮิต มันก็จะดีตรงนี้แหละ
เส้น EMA หน้าตาเป็นยังไง ?
พี่ทุยขอเอาตัวอย่างของหุ้นตัวนึงมาให้ดูนะ ขอย้ำเลยว่าไม่ได้เชียร์ซื้อขาย แค่ว่าชื่อย่อของเขาขึ้นต้นด้วยตัวอักษร A เลยเอามาให้ดูนะ ในรูป พี่ทุยตั้งค่าให้แสดงเส้น EMA ทั้งหมด 4 เส้น คือ
- EMA5 – เส้นสีฟ้า
- EMA15 – เส้นสีแดง
- EMA50 – เส้นส้ม
- EMA200 – เส้นสีม่วง
ซึ่งตัวเลขตรงนี้จะแตกต่างออกไปตามสไตล์การเทรดของแต่ละคน ไว้ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟังนะ จะเห็นว่าเส้นค่าเฉลี่ยแต่ละเส้น เราสามารถกำหนดให้เป็นคนละสีได้ เวลาดูจะได้ไม่สับสนและยังสวยกว่าอีกด้วย
สำหรับวิธีการตั้งค่า จากบทความที่แล้ว ที่พี่ทุยแนะนำเรื่อง การใช้งานแอปพลิเคชัน Streaming ไป ถ้าใครยังไม่ได้ติดตั้ง ไปจัดการเลยนะ แอป Streaming นี่เปรียบเหมือนก๊าซออกซิเจนของคนเล่นหุ้นเลย ถ้าขาดเธอไป ขาดใจแน่นอน
วิธีเพิ่มเส้น EMA
1. เมื่อมีแอปพลิเคชัน Streaming แล้ว เข้าใช้งานตาม Username และ Password ที่ได้รับมาจาก Marketing
2. กดรูปกราฟในหน้าข้อมูลหุ้น (Quote) จากนั้นกด Technical Chart (รูปกราฟด้านขวามือล่างสุด) เรียกพิมพ์ชื่อหุ้นสักตัวนึง ในที่นี้พี่ทุยขอยกตัวอย่าง PTT
3. พอเลือกชื่อหุ้นที่เราต้องการแล้ว กดเลือกที่ Indicator และเลือกที่ Moving Average Exponential ตามรูป
4. เมื่อกดคำสั่ง Moving Average Exponential เรียบร้อยแล้ว เส้น EMA ก็จะมาปรากฏที่กราฟหุ้น PTT ของเรา ซึ่งอาจจะกำหนดมาเป็นเส้นค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่เราไม่ได้ต้องการ ตรงนี้เราต้องทำการปรับแต่งเองนะ
5. ปรับแต่งเส้นค่าเฉลี่ย EMA ให้เป็นจำนวนวันตามที่เราต้องการ โดยกดเปลี่ยนแปลงได้ทั้ง จำนวนวัน (Length) ซึ่งบ่งบอกถึงระยะเวลาที่เราต้องการหาค่าเฉลี่ย , แหล่งที่มาของราคา (Source) เช่น close คือ ราคาปิดของวันนั้น ๆ , สีของเส้น ความหนาค่าเฉลี่ย (Plot) , ความเล็กใหญ่ของเส้นค่าเฉลี่ยที่อยู่ข้าง ๆ Plot เป็นต้น ลองทำดูกันนะจ๊ะ
6. เมื่อทำการเพิ่มเส้น EMA ลงในกราฟเทคนิคเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถรันเทรนด์โดยใช้ EMA ได้
เส้น EMA ทำอะไรได้บ้าง ? เอามาใช้งานยังไง ?
- สัญญาณซื้ออย่างที่พี่ทุยเล่าให้ฟังว่าเส้น EMA คือ การเอาราคาปิดของหุ้นมาเฉลี่ยกัน ดังนั้นถ้าเส้น EMA ของวันที่สั้นกว่า ตัดเส้น EMA ของวันยาวกว่าขึ้น ก็จะแสดงถึงว่าราคาหุ้นในระยะนี้มีความแข็งแกร่งยังไงล่ะ เพราะราคาเฉลี่ยระยะสั้นของเค้าสูงกว่าราคาเฉลี่ยระยะยาว เช่น เมื่อเส้น EMA5 ตัดเส้น EMA15 ขึ้น ก็จะเป็นสัญญาณซื้อเรียกเป็นศัพท์เก๋ ๆ ได้ว่าเกิด Golden Cross
- สัญญาณขายเมื่อเส้น EMA ที่ยาวกว่าตัดขึ้นบนเส้น EMA ที่สั้นกว่า ก็จะเป็นสัญญาณเตือนที่บอกให้เราปล่อยมือจากหุ้นตัวนั้น ๆ ได้แล้ว เช่น เส้น EMA15 ตัดขึ้นเหนือเส้น EMA5 และเราก็มีชื่อเรียกเก๋ ๆ อีกเช่นกันว่าเกิด Dead Cross
- เส้น EMA สามารถใช้เป็นแนวรับ-แนวต้านได้ บางคนที่ไม่อยากไล่ราคาหุ้น ก็จะรอรับเมื่อราคาหุ้นย่อลงมาที่เส้น EMA สำคัญต่าง ๆ เพราะมันคือแนวรับแบบนึง ส่วนใหญ่แล้วจะดู EMA50 และ EMA150 หรือ 200 วันเป็นแนวรับสำคัญลองศึกษาตัวเส้น EMA เพิ่มเติมกันดูจริง ๆ แล้วมีลูกเล่นที่เราเล่นได้ในระยะสั้นอยู่ด้วยกำลังคนที่สนใจ การลงทุนแนวเทคนิดการเริ่มต้นที่เส้น EMA ดูเป็นการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดแล้วล่ะ
ควรระมัดระวังตรงไหน ในวิธีการเล่นหุ้น ด้วยเส้น EMA ?
เส้นค่าเฉลี่ยมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ทั้งSMA, TTA, WMA แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ EMA ถ้าต้องการให้กราฟเทคนิคของเราแสดงเส้นค่าเฉลี่ย EMAเราควรดูให้ดีว่าเลือกถูกหรือไม่ เช่น ใน Streaming ตรวจสอบให้ดีว่าเลือก Moving Average Exponential ไม่ใช่ Moving Average ธรรมดา หรือในแอปพลิเคชัน Efin เวลากดเลือกอย่าลืมเลือกเส้นค่าเฉลี่ยแบบ Exponential นะจ๊ะ
พี่ทุยเตือนอีกทีว่าการลงทุนแนวเทคนิค หรือ การดูเส้นค่าเฉลี่ยที่พี่ทุยแนะนำ เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการดูแนวโน้มของราคาที่ได้รับความนิยมเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเราลทุนตามหลักการนี้แล้วจะได้กำไรทุกครั้งเสมอไป
สำหรับคนที่ทำงานประจำไปด้วย พี่ทุยแนะนำว่านอกจากปัจจัยทางเทคนิค ก็ควรดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นประกอบด้วย ก็จะช่วยทำให้เราเห็นแนวโน้มได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วยังไงหุ้นในระยะยาว ก็จะวิ่งตามปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้นอยู่แล้ว แต่การจับจังหวะการลงทุนที่หาราคาที่น่าเข้าซื้อในแต่ละช่วงเวลา การลงทุนแนวเทคนิคจะช่วยทำให้เราดูได้แม่นยำมากขึ้น
ก่อนจะจากกันไป พี่ทุยขอแนะนำซีรีส์การเงิน ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน รับรองว่าใครติดตามจนจบ เล่นหุ้นเป็นแน่นอน ! ไปเรียนรู้พร้อม ๆ กัน คลิกที่นี่เลย..
Comment