สรุป "หุ้น AOT" ท่าอากาศยานหนึ่งเดียวของไทย

วิเคราะห์ “หุ้น AOT” ท่าอากาศยานหนึ่งเดียวของไทย

3 min read  

ฉบับย่อ

  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดธุรกิจสนามบินในประเทศไทย โดยบริหารท่าอากาศยานรวมทั้งหมด 6 แห่ง
  • รายได้จากธุรกิจของ AOT ประกอบด้วย 2  ส่วนหลัก คือ “รายได้จากกิจการการบิน” และ “รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน” และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ในปี 2563 AOT มีรายได้ลดลงกว่า 48.5%
  • AOT มีแผนขยายและลงทุนเพื่อเพิ่ม “รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน” เพิ่มขึ้นจากทั้งการเข้าซื้อหุ้นในโรงแรมและบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับธุรกิจการท่าอากาศยาน
  • อนาคตของ AOT ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ยิ่งกลับสู่สภาวะปกติเร็วเท่าไหร่ AOT ก็ยิ่งกลับมาได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงปี 2563 – 2564 ต้องบอกว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับใครหลาย ๆ คน และแน่นอนว่าการมาของโควิด-19 หุ้นตัวนึงที่ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ เลยก็คือ หุ้นท่าอากาศยานหรือ AOT วันนี้พี่ทุยจะพามาเจาะลึก “หุ้น AOT” กัน ว่าเค้าทำอะไรและน่าลงทุนแค่ไหน

AOT คือใคร ?

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เรียกได้ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประกอบธุรกิจสนามบินในประเทศไทย โดยบริหารท่าอากาศยานรวมทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่

1. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 
2. ท่าอากาศยานดอนเมือง
3. ท่าอากาศยานเชียงใหม่
4. ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย
5. ท่าอากาศยานหาดใหญ่
6. ท่าอากาศยานภูเก็ต 

นอกจากนี้ก็ยังมีประกอบกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าอากาศยานอีกด้วย

รายได้จากธุรกิจของ AOT ประกอบด้วย 2  ส่วนหลัก คือ “รายได้จากกิจการการบิน” และ “รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน”

สรุป "หุ้น AOT" ท่าอากาศยานหนึ่งเดียวของไทย

1. รายได้จากกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) ประกอบด้วย 

  • ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) 
  • ค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) 
  • ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (Passenger Service Charge)  
  • ค่าเครื่องอำนวยความสะดวก(Aircraft Service Charge)

2. รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non Aeronautical Revenue) ประกอบด้วย

  • รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ (Concession Revenue) 
  • ค่าเช่าสำนักงานและค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ (Office and Real Property Rents)  
  • รายได้จากการให้บริการ (Service Revenue)

สรุป "หุ้น AOT" ท่าอากาศยานหนึ่งเดียวของไทย

นอกจากนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยังถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

บริษัท โรงแรมสุวรรณภูมิ จำกัด (60%)
บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด (49%)
บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด (49%)
บริษัท ฟอร์ท เอ็มอาร์โอ เซอร์วิส จำกัด (25%)
บริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด (10%)
บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (10%)
บริษัท ดอนเมือง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต โฮเต็ล จำกัด (9%)
บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (4.94%)
บริษัท เทรดสยาม จำกัด (1.5%)
บริษัท ไทย แอร์พอร์ตส์ กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (28.50%)

และล่าสุดที่ AOT เข้าไปถือหุ้น ช่วงกลางปี 2564 คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอร์เรเตอร์ จำกัด โดยถือหุ้น 49%

โดยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบิน การขยายธุรกิจด้วยบริษัทลูกนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพิ่มรายได้ในปี 2564 ซึ่งจะมีส่วนช่วยทดแทนรายได้ที่หายไปจากผู้โดยสารในอนาคต และจะปรับสัดส่วนรายได้เป็น จากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบิน 50% รายได้จากธุรกิจการบิน 50% การทำแบบนี้เป็นการทำให้ AOT จะมีการให้บริการท่าอากาศยานอย่างครบวงจร

จุดแข็งของ “หุ้น AOT” คือ การเป็น “ผู้ผูกขาด” ในธุรกิจท่าอากาศยานของไทย

AOT เป็นธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง ถูกเรียกว่าเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทย เพราะนี่คือบริษัทที่ บริหารสนามบิน 6 แห่ง อย่างที่พี่ทุยเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ ซึ่งมีผู้โดยสารเข้า-ออก สูงถึง 139.5 ล้านคนต่อปี โดยสนามบิน “สุวรรณภูมิ” กับ “ดอนเมือง” คือ “หัวใจหลัก” ที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ AOT

ถ้าลองย้อนกลับไปในปี 2561 ที่ถือว่าเป็นปีที่ประเทศไทยเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามามากที่สุด สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารรวมทั้งขาเข้าและออก 62.8 ล้านคน อัตราผู้โดยสารเติบโต 6.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีพนักงานอยู่ที่สนามบิน 3,175 คน

และในส่วนของสนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารทั้งขาเข้า-ขาออก 40.5 ล้านคน อัตราผู้โดยสารเติบโตมากกว่าปี 2560 สูงถึง 9% โดยมีพนักงานสนามบิน 1,423 คน

แต่ที่น่าสนใจก็คือ 2 สนามบินอย่างสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง มีสัดส่วนผู้โดยสารรวมกันถึง 74% จาก 6 สนามบินของ AOT ที่มีผู้โดยสารรวมกันทั้งหมด 139.5 ล้านคน และเมื่อเปรียบเทียบกับกรมท่าอากาศยานที่มี 24 สนามบิน นั้นมีผู้โดยสารรวมกันเพียงแค่ 18.9 ล้านคนต่อปี เพราะสนามบินทั้งหมดของกรมท่าอากาศยานนั้นอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

จะเห็นได้ว่าการที่ AOT กุมอำนาจบริหารสนามบินทำเลอันดับ 1 และ 2 ของประเทศ ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารทิ้งขาดกรมท่าอากาศยาน จนสามารถสร้างรายได้และกำไรในการทำธุรกิจในแต่ละปีได้อย่างมหาศาล

นอกจากนี้การมี “กระทรวงการคลัง” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็นับว่าเป็นจุดแข็งจุดหนึ่งของ AOT เนื่องจากกิจการของ AOT เป็นกิจการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและความมั่นคงที่รัฐจะต้องให้การดูแล ประกอบกับ”หุ้น AOT” มีผลประกอบการที่ดีและมีการจ่ายเงินปันผลให้กับกระทรวงการคลังมาโดยตลอด ที่สำคัญในส่วนของอาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดของบริษัทตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ภายใต้สัญญาเช่า และสัญญาเช่าจะขาดลงทันทีเมื่อกระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยกว่า 50% โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้น AOT อยู่ 10,000,000,000 หุ้น หรือ 70% ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว

รายได้และกำไรของ AOT มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รายได้ปรับลดลงจากผู้โดยสารที่หายไปมากกว่า 50%

สรุป "หุ้น AOT" ท่าอากาศยานหนึ่งเดียวของไทย

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารายได้และกำไรของ AOT มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนเที่ยวบินลดลงถึง 42.25% และ จำนวนผู้โดยสารลดลงถึง 49.87% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ว่าช่วงปี 2564 รายได้และกำไรของ AOT ก็อาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก

สรุป "หุ้น AOT" ท่าอากาศยานหนึ่งเดียวของไทย

อย่างที่เรารู้กันว่าในช่วงปี 2563 AOT ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรงทำให้รายได้จากกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) ปรับตัวลงอย่างมาก ถ้าหากเราลองดู “กำไรต่อหุ้น (EPS)” ในงบปี 2563 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บ่งบอกถึงบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับงบ ปี 2559-2562 ในช่วงสภาวะปกติ

และเนื่องจากราคาหุ้นของ AOT ไม่ได้ปรับตัวลงเมื่อเทียบกับรายได้และกำไรที่ปรับลดลง ทำให้ P/E Ratio ในงบปี 2563 สูงถึง 188.33 เท่า หมายความว่าในกรณีที่ AOT ทำกำไรได้เท่าเดิมทุกปี (4,320 ล้านบาท/ปี) ถ้าเราซื้อหุ้นที่ระดับ P/E 188.33 เท่า จะใช้เวลา 188.33 ปีในการคืนทุน โดยเงินที่เราได้คืนจะกลับมาในรูปเงินปันผลหรือส่วนต่างราคา แต่ในอนาคตถ้า AOT สามารถกลับมาทำกำไรได้สม่ำเสมอเท่ากับในช่วงก่อนเกิดโควิด P/E ของ AOT  ก็จะค่อย ๆ ลดลงมาในระดับที่เหมาะสมนั่นเอง

พอมาดูที่ ROA และ ROE ตามหลักการแล้วยิ่งสูง ยิ่งถือว่าบริษัทนั้นสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงก่อนโควิด-19 ถือว่า AOT อยู่ในระดับที่ดีมาก แต่ถ้าดูในงบปี 2563 แล้วพบว่าทั้งสองอัตราส่วนลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากกำไรสุทธิเช่นกัน 

AOT ต้องการผลักดันให้เป็น “ผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก และการมุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสร้างรายได้อย่างสมดุล”

AOT วางวิสัยทัศน์ในการผลักดันองค์กรสู่การเป็น “ผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก และการมุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสร้างรายได้อย่างสมดุล”

AOT มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและการปลุกชีวิตของสนามบินด้วยการทำ Digital Transformation ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เชื่อมโยงระบบ IT ทั้งหมดในสนามบินหรือท่าอากาศยานให้สื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานซึ่งในการดำเนินการต่อจากนี้จะยังมีการเชื่อมโยงระบบไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนอกท่าอากาศยาน ทั้งการคมนาคมและแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ และเชื่อมโยงไปยังท่าอากาศยานพันธมิตร 16 แห่งทั่วโลก

โดยหลังจากนี้ Digital Platform จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อ AOT ถือเป็นการทรานส์ฟอร์มรูปแบบและโครงสร้างธุรกิจของ AOT ในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งไม่ใช่แค่การเชื่อมโยงเฉพาะภายใน AOT เท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานและองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ

การสื่อสารกับระบบต่าง ๆ ในท่าอากาศยานจะไปสู่โลกเสมือนจริง โดยในช่วงแรกจะสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่นของโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

อนาคตของ AOT จะเป็นอย่างไร ?

ต้องยอมรับว่า AOT เป็นหุ้นตัวนึงที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 เข้าไปเต็ม ๆ ทำให้มีเรื่องที่นักลงทุนแบบเรา ๆ ต้องจับตามองกันเพิ่มเติมในหลากหลายแง่มุม พี่ทุยมีเช็คลิสต์สิ่งที่เราจะต้องจับตามองมาให้ 3 ข้อ ได้แก่

1. ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในประเทศ

เนื่องจาก AOT มีรายได้หลักจากธุรกิจบริการการบินทั้งสิ้น โดยนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีเป้าหมาย ฉีดให้ประชากรในประเทศไทย 50 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564 และหากแผนการฉีดวัคซีนเป็นไปได้ตามเป้าหมาย เราอาจจะได้เช็คอินถ่ายรูปที่สนามบิน ไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว เพื่อนฝูงอย่างมีความสุขก็เป็นไปได้

2. แนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจบริการขนส่งทางอากาศ

ธุรกิจบริการขนส่งทางอากาศปี 2564-2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เพราะเศรษฐกิจและการค้าโลกค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัว ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนแพร่หลายมากขึ้น ทำให้มีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความต้องการเดินทางทั้งในและต่างประเทศก็ค่อย ๆ กลับมา

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนส่งทางอากาศอาจมีภาระการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเกณฑ์ความปลอดภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินโลก และการลงทุนเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางการบินช่วงหลังวิกฤต ทำให้ผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน จำนวนเที่ยวบิน และส่วนแบ่งตลาดในเส้นทางบินน้อยอาจจะเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องและไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

3. การขยายเวลาเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน

การขยายเวลามาตรการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าเช่าพื้นที่ และค่าบริการช่วยสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อประคองธุรกิจไม่ให้เกิดปัญหาการเลิกจ้าง ทำให้งบการเงินปี 2564 อ่อนแอลง

ถึงแม้โควิดจะทำให้ธุรกิจของ AOT ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่พี่ทุยเชื่อว่า “ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ” หลังวิกฤติผ่านพ้นไปคาดว่าในปี 2567 ปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับสู่ระดับเดียวกับปี 2562

อย่างไรก็ตาม AOT ยังคงดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ตามแผนงาน รวมทั้งใช้โอกาสในช่วงที่มีเที่ยวบินน้อย ดำเนินการซ่อมแซมหรือก่อสร้างทางวิ่งทางขับให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เตรียมพร้อมการฟื้นตัวของธุรกิจการบินที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ถ้ามองเป็นการลงทุนระยะยาวการซื้อสะสมในช่วงนี้ถือว่าน่าสนใจ ให้มองวิกฤติเป็นโอกาสโดยหุ้น AOT เป็นที่หุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง อยู่รอดได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทย และบริษัทมีความสม่ำเสมอในส่วนของรายได้ กำไรสุทธิ รวมถึงการจ่ายปันผลในสภาวะปกติ

ใครที่อยากลงทุนในหุ้น ดูคลิปเกี่ยวกับหุ้นเพิ่มเติม ได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย