ซีรีส์การเงินตอนนี้พี่ทุยจะมาสอนให้นักลงทุนสายพื้นฐานทุกคนได้รู้จักกับวิธี วิเคราะห์งบการเงิน แบบง่าย ๆ กัน โดยเราจะเอา Common Size มาช่วยในการวิเคราะห์ และจะลองให้ทุกคนได้ดูตัวอย่างการวิเคราะห์ Common Size ด้วย รับรองว่าถ้าอ่านบทความนี้จบทุกคนจะทำวิเคราะห์งบการเงินกันได้เก่งขึ้นแน่นอน
วิเคราะห์งบการเงิน แบบ Common size คืออะไร ?
Common size ถ้าพูดแบบง่าย ๆ เลย คือ “งบการเงินแบบสัดส่วน” เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ “งบการเงิน” ได้อย่างสะดวก เข้าใจ และสามารถเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น
นอกจากการวิเคราะห์ Common Size จะเป็นประโยชน์ในการ วิเคราะห์งบการเงิน ของบริษัทต่าง ๆ แล้ว เรายังสามารถเอาการวิเคราะห์ Common Size มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเอง เพื่อจะได้ดูว่าบริษัทเรามีจุดแข็งหรือจุดอ่อนตรงไหนบ้างได้อีกด้วย
งบการเงินที่เราจะเอามาทำ Common Size จะมีอยู่ 2 งบ ด้วยกัน คือ
- งบกำไรขาดทุน = เป็นการเปรียบเทียบส่วนประกอบต่าง ๆ ในงบการเงินกับรายได้รวม
- งบแสดงฐานะการเงินหรืองบดุล = เป็นการเปรียบเทียบส่วนประกอบต่าง ๆ ในงบการเงินกับ สินทรัพย์รวม
วิเคราะห์งบการเงิน แบบ Common Size ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ?
การใช้ Common Size มีอรรถประโยชน์อะไรที่น่านำมาใช้ พี่ทุยสรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. เปรียบเทียบกับบริษัทตัวเองในแต่ละปี
เราสามารถเปรียบเทียบงบการเงินแบบ Common Size ของบริษัทในแต่ละปีได้ เพื่อให้รู้ว่าบริษัทนั้นมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนตรงไหนและทำให้เรารู้ว่าในแต่ละปีบริษัทมีพัฒนาการเป็นยังไงบ้าง เช่น
- งบกำไรขาดทุน
ตัวอย่าง ปี 2018 บริษัท A มีรายได้รวมเท่ากับ 20 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 5 ล้าน มีกำไรสุทธิเท่ากับ 10 ล้านบาท พอเราเอาตัวเลขมาเปรียบเทียบกันจะได้ว่า กำไรสุทธิคิดเป็น 50% ของรายได้รวม และค่าใช้จ่ายคิดเป็น 25% ของรายได้รวม
และปี 2019 บริษัท A มีรายได้หรือยอดขายเท่ากับ 30 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเท่ากับ 5 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเท่ากับ 20 ล้านบาท หรือค่าใช้จ่ายคิดเป็น 16.67% และกำไรสุทธิคิดเป็น 66.67% ของรายได้รวม
เพราะฉะนั้น ถือว่าบริษัท A ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น เพราะสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวมลดลงจาก 25% เป็น 16.67% เมื่อค่าใช้จ่ายลดลงเลยทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- งบดุล
ตัวอย่าง ปี 2018 บริษัท A มีสินทรัพย์ถาวร (เช่น เครื่องจักร อาคาร โรงงาน เป็นต้น) อยู่ 150 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 300 ล้านบาท ดังนั้น พอเราเอาสินทรัพย์ถาวรจำนวน 150 ล้านบาท มาเทียบกับสินทรัพย์รวมจำนวน 300 ล้านบาท จะคิดเป็น 50% และบริษัทมีหนี้สินระยะยาว เท่ากับ 30 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของสินทรัพย์รวม
หลังจากนั้นปี 2019 บริษัทมีสินทรัพย์ถาวรอยู่ 350 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 500 ล้านบาท หรือคิดสินทรัพย์ถาวรเป็น 70% ของสินทรัพย์รวม นอกจากนี้ บริษัทยังมีหนี้สินระยะยาวอยู่ 200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
จากตัวอย่างนี้ ถ้าตอนแรกเรามองแค่ตัวเลขในงบการเงินเพียงอย่างเดียว เราอาจจะเห็นว่าบริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่ถ้าเรามาดูแบบละเอียดโดยใช้ Common Size เข้ามาช่วยแล้วจะเห็นว่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แถมจำนวนหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วเพิ่มมากกว่าสินทรัพย์ระยะยาวเสียอีก เพราะสินทรัพย์ระยะยาวเพิ่มขึ้นจาก 50% มาเป็น 70% หรือเพิ่มขึ้น 20% แต่หนี้สินระยะยาวเพิ่มจาก 10% ในปี 2018 มาเป็น 40% ในปี 2019 หรือเพิ่มขึ้นถึง 30%
ถ้าเราเห็นงบการเงินแบบนี้ก็อาจจะต้องเฝ้าระวังบริษัทนี้มากเป็นพิเศษหรือหลีกเลี่ยงไปเลยได้ยิ่งดี
2. วิเคราะห์เทียบกับบริษัทอื่น
Common size ถ้าจะใช้ให้มีประโยชน์เพิ่มขึ้น เราต้องเทียบกับส่วนประกอบเดียวกันกับบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน
ตัวอย่าง ปี 2019 บริษัท A มีรายได้รวมเท่ากับ 30 ล้านบาท ส่วนบริษัท B มีรายได้รวมเท่ากับ 18 ล้านบาท จากตรงนี้ก็ถือว่าบริษัท A ได้คะแนนนำก่อนไปแล้ว 1 แต้ม
ต่อมาเราไปวิเคราะห์ Common Size กัน พบว่า บริษัท A มีกำไรสุทธิคิดเป็น 66.67% ของรายได้รวม และบริษัท B มีกำไรสุทธิคิดเป็น 40% ของรายได้รวม ทีนี้เราก็ได้ดูส่วนอื่น ๆ เพิ่ม เช่น ค่าใช้จ่าย ซึ่งบริษัท A มีค่าใช้จ่ายคิดเป็น 16.67% ของรายได้รวม ในขณะที่ บริษัท B มีค่าใช้จ่าย เท่ากับ 28% ของรายได้รวม
ถ้าเป็นพี่ทุยเจอสถานการณ์แบบตัวอย่างนี้ พี่ทุยจะค่อนข้างชอบบริษัท A มากกว่า เพราะรายได้รวมของบริษัท A มากกว่าแถมยังควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่าบริษัท B ด้วย
ตัวอย่าง วิเคราะห์งบการเงิน แบบ Common Size ของบริษัท
เราสามารถเข้าดู Common Size ของแต่ละบริษัทได้ที่นี่ โดยใส่ชื่อย่อหุ้นที่ “Stock Quote” แล้วกด Send และไปที่ “Stock Financial” ตรง Tab ด้านซ้ายมือได้เลย และ ถ้าเราอยากได้ Common Size ก็แค่ปรับ View จากเงินเป็นเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ซึ่งการยกตัวอย่างนี้พี่ทุยจะขอไม่เปิดเผยชื่อบริษัทที่เอามาใช้เป็นตัวอย่างจะได้ไม่เป็นการชี้นำ เราไปเริ่มดูตัวอย่างนี้กันเลย
- เปรียบเทียบกับบริษัทตัวเองในแต่ละปี
รูปข้างบน เป็น Common Size ของงบกำไรขาดทุน เราจะเห็นว่า ต้นทุนขาย (Cost of Revenue) ในปี 2020 คิดเป็น 73.74% ของรายได้ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มีต้นทุนขายอยู่ที่ 72.75% เกือบ 1% แต่รายได้ของปี 2020 ลดลงจากปี 2019 ค่อนข้างมากเลยทำให้ กำไรสุทธิ (Net Income) ของบริษัทลดลงไปเกือบ 1% เช่นกัน
ต่อมาเรามาดูที่ งบแสดงฐานะทางการเงินหรืองบดุลกันบ้าง เราจะเห็นว่า ในปี 2020 สินทรัพย์รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น ซึ่งสินทรัพย์รวม (Total Assets) ที่เพิ่มขึ้นก็มาจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนหรือสินทรัพย์ถาวร (Non-current assets) เช่น เครื่องจักร อาคาร และโรงงาน ถึง 1.92%
ส่วนหนี้สินทั้งหมด (Total liabilities) ของบริษัทเพิ่มจากสัดส่วน 59.39% มาเป็น 61.55% หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ซึ่งหลัก ๆ แล้วมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินระยะยาว (Non-current Liabilities)
- เปรียบเทียบบริษัทกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม
จากรูปเป็นการเปรียบเทียบ Common Size ของงบกำไรขาดทุนของ 2 บริษัท คือ บริษัท A และ บริษัท B เราจะเห็นว่า นอกจากบริษัท A จะขายของได้มากกว่าแล้ว บริษัท A ยังสามารถควบคุมต้นทุนขาย (Cost of Revenue) ได้ดีกว่าบริษัท B ด้วย สังเกตได้จาก ต้นทุนขายของบริษัท A คิดเป็น 73.74% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ต้นทุนขายของบริษัท บริษัท B คิดเป็น 83.81% ของรายได้รวม
ซึ่งการควบคุมต้นทุนขายได้ไม่ดีของบริษัท B กำไรสุทธิ (Net Income) ของบริษัท B น้อยตามไปด้วย โดยกำไรสุทธิของบริษัท B คิดเป็น 3.87% ของรายได้ทั้งหมด ต่างจากบริษัท A ที่กำไรสุทธิ คิดเป็น 8.61%
ในส่วนของงบดุล เราจะเห็นว่า สินทรัพย์ถาวร (Non-current assets) ของบริษัท A มากกว่า บริษัท B อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพี่ทุยมองว่าการที่มีสินทรัพย์ถาวรมากจะเป็นประโยชน์กับบริษัท เนื่องจากสินทรัพย์เหล่านี้สามารถสร้างรายได้และลดต้นทุนให้กับบริษัทได้อนาคต
แต่เมื่อสินทรัพย์มีมาก หนี้สินก็ย่อมมากตามไปด้วย โดยหนี้สินระยะยาว (Non-current Liabilities) ของบริษัท A มีสัดส่วนเป็น 24.81% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ในขณะที่บริษัท B มีหนี้สินระยะยาวเพียง 14.45% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
การวิเคราะห์ Common Size ถ้าเราใช้งานเป็นจะถือว่ามีประโยชน์มาก ๆ เพราะมันจะทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นจากตัวเลขในงบการเงินธรรมดา เพราะบางทีเราไม่รู้ว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้น มันเพิ่มขึ้นจริง ๆ แต่ถ้าเราเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ เราก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
ถึงตอนนี้พี่ทุยเชื่อว่าทุกคนก็คงจะพอเข้าใจการวิเคราะห์งบการเงินแบบง่าย ๆ โดยการเอา Common Size มาช่วยวิเคราะห์กันมากขึ้นแล้ว ถ้าเราใช้ทั้งการวิเคราะห์งบการเงินแบบปกติและการวิเคราะห์งบการเงินแบบ Common Size ด้วยกันจะเป็นอะไรที่มีประโยชน์มาก ๆ
แต่ถ้าเราอยากได้การวิเคราะห์แบบขั้นสุดไปเลยก็คงจะต้องเอาอัตราส่วนทางการเงิน (Ratio) มาช่วยวิเคราะห์ด้วย ซึ่งซีรีส์การเงินในตอนหน้าพี่ทุยจะหยิบเรื่องการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินมาเล่าให้ทุกคนฟังกัน การวิเคราะห์ทั้งหมดนี้มันอาจจะดูหลายขั้นตอนไปสักหน่อย แต่พี่ทุยอยากจะบอกว่า ถ้าเราทำได้แล้วมันคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปจริง ๆ และพี่ทุยก็เชื่อว่าสักวันหนึ่งทุกคนจะวิเคราะห์หุ้นเป็นอย่างแน่นอน..
เปิดบัญชีกับ LH Securities วันนี้ เรียนฟรีคอร์สเทรดหุ้นออนไลน์
แต่ถ้าอยากขึ้นทางด่วนโดยไม่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองอีกต่อไป แนะนำให้เปิดพอร์ตกับทาง LH Securities ตอนนี้ เพื่อรับสิทธิ์เข้าเรียนคอร์สเทรดหุ้นออนไลน์กันแบบฟรี ๆ กับ “คุณเคน – จักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร, CFP ®” ผู้ร่วมก่อตั้ง Money Buffalo ของเรา ที่จะมาพาจับมือเทรดกันตั้งแต่ 0 ไปจนถึง 100 ให้ โดยจะเน้นที่การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis) วิเคราะห์กราฟกันแบบมันส์ ๆ พร้อมลุยตลาดจริงกันเลย
และที่พี่ทุยแนะนำให้เปิดบัญชีกับทาง LH Securities ผู้สนับสนุนหลักของ ซีรีส์ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน นั่นก็เพราะที่นี่ทั้งสะดวก และให้บริการครบ สามารถจบในที่เดียวได้ ตั้งแต่เปิดบัญชี การสมัครบริการตัดเงินบัญชีอัตโนมัติ ไปจนถึงวางหลักประกัน LH Securities ก็มีให้บริการ และที่สำคัญคือสามารถทำทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย สะดวกและง่ายมาก ๆ
สนใจเปิดบัญชีกับ LH Securities พร้อมดูขั้นตอนแบบละเอียด สามารถทำตามได้แบบ Step by Step คลิกที่นี่เลย
อ่าน EP ต่อไป
ย้อนกลับไปอ่าน EP ก่อนหน้านี้
ติดตามซีรีส์การเงิน “ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน” ตอนอื่น ๆ ได้ที่นี่