สำหรับคนที่ต้องการกู้เงิน โดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหรือที่จะเรียกกันว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย เรามักจะเห็นคำว่า “MLR MOR MRR” อยู่ตรงที่อัตราดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายกันมาบ้างอย่างแน่นอน แล้วรู้ไหมว่า MLR MOR MRR คืออะไร แปลว่าอะไรกันแน่ พี่ทุยจะมาบอกให้ฟัง
MLR MOR MRR คืออะไร ?
ก่อนอื่นเลยเราต้องเข้าใจก่อนว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นแบ่งได้ออกมาเป็น 2 ประเภทนั่นก็คือ อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) และ อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate)
ประเภทของอัตราดอกเบี้ยใน MLR MOR MRR
อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate)
จะกำหนดอย่างชัดเจนว่าในแต่ละปีนั้นเราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนเท่าไหร่ 5% 7% 8% พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตามที่เจรจาตกลงกัน ซึ่งการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ สามารถกำหนดได้ง่ายเพราะการกู้เงินลักษณะนี้จะรู้ชัดเจนล่วงหน้าว่าเราจะต้องจ่ายคืนเดือนละเท่าไหร่ แบ่งเป็นเงินต้นเท่าไหร่และดอกเบี้ยเท่าไหร่
อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate)
เมื่อขึ้นชื่อว่าลอยตัว แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นจำเป็นต้องมีอัตราดอกเบี้ยอะไรบ้าง อย่างเป็นตัวอ้างอิงตามเงื่อนไขและต้นทุนของธนาคาร ซึ่งแต่ละธนาคารอาจจะไม่เท่ากันก็เป็นไปได้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่เราคุ้นหูกันมากที่สุดก็คือ MLR MOR MRR นั่นเอง
Minimum Loan Rate (MLR) คืออะไร ?
เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินเรียกเก็บจากลูกหนี้ชั้นดี มักจะใช้สำหรับสินเชื่อระยะยาวเป็นหลัก และมีการจ่ายคืนตามระยะเวลาที่กำหนด หรือจะถูกใช้กับการขอกู้เงินที่หลักประกัน
Minimum Overdraft Rate (MOR) คืออะไร ?
เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับการเบิกเกินบัญชีหรือที่อาจจะคุ้นกันในชื่อของ O/D หรือย่อมาจาก Overdraft เนี่ยแหละ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยชนิดนี้ จะถูกคิดเฉพาะส่วนที่เบิกเกินกว่าเงินในบัญชีเท่านั้น และเมื่อเราโอนเงินคืนกลับไปดอกเบี้ยก็จะหยุดคิดคำนวณทันที
Minimum Retail Rate (MRR) คืออะไร ?
เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินเรียกเก็บจากลูกหนี้รายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย ต่าง ๆ
โดยทั่วไป MLR จะมีค่าน้อยที่สุดและ MRR มีค่ามากที่สุด ซึ่งแต่ละธนาคารอาจจะมีค่าไม่เท่ากันก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนของเงินทุน ต้นทุนในการบริหารที่ไม่เท่ากันของแต่ละธนาคาร โดยทั่วไปแล้วแต่ละธนาคารจะมีการประกาศ MLR MOR MRR ทุกวัน เราสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของแต่ละธนาคารหรือเข้าไปที่หน้าสาขาของแต่ละธนาคารก็ได้เช่นกัน
ที่สำคัญก็คือเมื่อลูกค้าต่างเข้าไปขอวงเงินกู้จากธนาคาร อาจจะได้ข้อเสนอที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้กู้ หลักประกันต่าง ๆ และเจรจาหน้างานด้วย บางคนอาจจะได้ MLR+1.5% บางคนอาจจะได้ MRR – 2% ก็เป็นไปได้ ไม่ต้องแปลกใจเพราะเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ดังนั้นการตัดสินใจจรดปากกาเซ็นทุกครั้ง อย่าลืมเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยให้ดีก่อนตลอด เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับตัวเรานะ
ติดตามคำศัพท์การเงินอื่น ๆ ได้ที่นี่
Comment