RMF คืออะไร ? ทำไมถึงเป็นกองทุนยืนหนึ่งสำหรับ “วัยเกษียณ”

RMF คือ อะไร ? ทำไมถึงเป็นกองทุนยืนหนึ่งสำหรับวัยเกษียณ

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • Retirement Mutual Fund หรือ RMF เป็นกองทุนรวมประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในระยะยาว เพื่อนำไปใช้จ่ายยามเกษียณอายุ 
  • RMF ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเพดานลดหย่อนได้ไม่เกิน 5 แสนบาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมอื่น ๆ 
  • RMF ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อแต่ต้องซื้อทุกปี (อย่างน้อยปีเว้นปี) สามารถสับเปลี่ยนกองทุนตามแนวโน้มตลาด รวมไปถึงต้องถืออย่างน้อย 5 ปี และ อายุ 55 ปีขึ้นไป ถึงขายได้ 
  • หากผิดเงื่อนไขต้องคืนเงินภาษีย้อนหลังในช่วง 5 ปีปฎิทิน และนำกำไรจากการขายไปเสียภาษีด้วย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

อีกหนึ่งคำถามที่พี่ทุยมักได้ยินบ่อยก็คือ RMF คือ อะไร ? มีไว้แล้วดีอย่างไร วันนี้พี่ทุยเลยมาพูดถึง RMF หรือ Retirement Mutual Fund เป็นทางเลือกการลงทุนอีกทางหนึ่ง ที่ทำให้นักลงทุนได้รับสิทธิพิเศษในการนำไปลดหย่อนภาษี รวมไปถึงยังเป็นการสร้างวินัยการออมเพื่อยามเกษียณอีกด้วย 

วันนี้พี่ทุยจะพาไปรู้จักกับ RMF ว่ามีประโยชน์อย่างไร เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครหลาย ๆ คนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว 

RMF คือ อะไร ? 

RMF หรือ Retirement Mutual Fund เรียกชื่อเล่นว่า “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” เป็นกองทุนรวมประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในระยะยาวสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณอายุ 

กองทุน RMF มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตั้งแต่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ความเสี่ยงปานกลาง เช่น หุ้นกู้ รวมไปถึง สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ทอง ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) และ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น 

และอีกหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้ก็คือ RMF เป็นกองทุนที่ “ไม่มีนโยบายในการจ่ายปันผล”

ใครบ้างที่ควรซื้อ RMF ? 

จุดประสงค์ของ RMF ก็เพื่อเป็น “เงินออมวัยเกษียณ” เพื่อลดปัญหาเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานประจำ ฟรีแลนซ์ หรือแม้แต่จะเป็นเจ้าของกิจการก็ตาม 

เงื่อนไขและสิทธิในการนำไปลดหย่อนภาษีของ RMF

1. RMF สามารถนำไป “ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30%” ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อนับรวมกับ กองทุนเพื่อการออม (SSF) , กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ , กองทุนบําเหน็จบํานาญ (กบข.) , ประกันชีวิตแบบบำนาญ , กองทุนการออมแห่งชาติและกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนต้องไม่เกิน 500,000 บาท

เช่น ถ้าเรามีเงินได้ต้องเสียภาษีทั้งหมด 700,000 บาท เราจะสามารถซื้อ RMF ได้เต็มสิทธิเพียง 30% ของเงินได้ หรือ 210,000 บาทเท่านั้น

แต่ถ้าสมมติว่าเรามีซื้อประกันแบบบำนาญ 100,000 บาท มีซื้อ SSF 200,000 บาท แปลว่าในกรณีนี้ก็จะสามารถซื้อ RMF ได้เพียง 200,000 บาทเท่านั้น 

และพี่ทุยขอแนะนำว่าการซื้อ RMF ควรใช้เป็นการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเท่านั้น ไม่ควรซื้อเกินสิทธิการลดหย่อนสูงสุด 

เพราะหากขายแล้วเกิดส่วนต่าง (Capital Gain) กำไรจาก RMF จะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้จากการขายของออนไลน์, กำไรจากการขาย LTF/RMF) ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไปที่เป็นเงินได้ประเภทที่ 4 (ดอกเบี้ยและเงินปันผล)

RMF คือ อะไร ? ทำไมถึงเป็นกองทุนยืนหนึ่งสำหรับ “วัยเกษียณ

2. การขายคืนนั้นอยู่บน 2 เงื่อนไขหลัก

  • ต้อง “ถือ” RMF อย่างน้อย 5 ปี
  • ต้องอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์”

แปลว่าถ้าเราซื้อตอนอายุ 49 ปี ถือไปจนถึง 54 ปี เราก็ยังขายไม่ได้นะ ต้องอายุ 55 ปีบูรณ์ก่อน ถึงจะสามารถขายออกมาได้ 

3. การซื้อ RMF ในปี 2563 เป็นต้นมาได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่ เป็นไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (หรืออย่างน้อยซื้อปีเว้นปี) ซื้อตามขั้นต่ำของกองทุนที่แต่ละกองกำหนดได้เลย แต่แนะนำว่าให้ทุกคนซื้อทุกปีจะดีที่สุดกันลืม ! (ถ้าลืมแล้วจะถือว่าผิดเงื่อนไขเลยนะ)

4. การสับเปลี่ยนไปถือ RMF กองอื่นนั้นสามารถทำได้ แล้วแต่วิจารณาญาณของผู้ลงทุนเลย เพราะ RMF ค่อนข้างถือกินเวลายาวนานและแนวโน้มของตลาดในแต่ละอุตสาหกรรมในแต่ละช่วงเวลาก็ต่างกัน 

ดังนั้นก็สามารถสลับไปกอง RMF อื่น ๆ ที่เรามองว่าสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าได้ตลอดเวลา  โดยไม่ผิดเงื่อนไขการนับระยะเวลาและไม่ถือว่าเป็นการขายก่อนเวลา (ห้าม “ขาย” แล้วเปลี่ยนไปถือกองอื่น เพราะ จะผิดเงื่อนไขทันที) 

หากผิดเงื่อนไข RMF จะเกิดอะไรขึ้น ? 

1. ถ้าลงทุน “ไม่ถึง 5 ปี” และมีการผิดเงื่อนไข ต้อง “คืนเงินภาษีทั้งหมด” ที่ได้รับยกเว้นในช่วง 5 ปีปฎิทินย้อนหลัง และต้องนำเงินส่วนต่าง หรือ กำไรจากการขายกองทุน (Capital Gain) ไปคำนวนรวมกับเงินได้ เพื่อนำไปยื่นคำนวนภาษี

2. ถ้าลงทุน “เกิน 5 ปี” และมีการผิดเงื่อนไข เช่น ลงทุนไปเกิน 5 ปี แต่ลืมเอาเงินไปซื้อเกิน 1 ปี ต้อง “คืนเงินภาษีทั้งหมด” ที่ได้รับยกเว้นในช่วง 5 ปีปฎิทินย้อนหลัง แต่ไม่ต้องนำกำไรจากการขายกองทุน RMF ไปคิดภาษี เพราะ “ผู้ลงทุนได้ถือกองทุนไว้จนครบเงื่อนไข ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษี”

3. หากไม่ชำระภาษีภายในเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับรายเดือนเพิ่มอีก 1.5% ของเงินภาษีที่ต้องชำระ (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) นับตั้งแต่วันที่หมดเขตการยื่นรายการจนถึงวันที่เราไปชำระภาษี

ดังนั้น การลงทุน RMF พี่ทุยว่าเราต้องสำรวจ และพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน ว่าเราสามารถรับเงื่อนไขได้เหรือไม่ เพราะ คงไม่มีใครอยากผิดเงื่อนไข และมีเรื่องกับสรรพากรหรอกใช่ไหมล่ะ  อีกอย่างต้องเลือกกองทุนที่แต่ล่ะคน “สามารถรับความเสี่ยงได้” เพื่อทำให้เราลงทุนไปจนถึงวัยเกษียณ ได้อย่างสบายใจด้วยนะ

พี่ทุยทำตารางเปรียบเทียบระหว่าง SSF กับ RMF เพิ่มให้ด้วย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ไปศึกษากัน

เปรียบเทียบ SSF vs RMF

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile