ท่ามกลางความวุ่นวายและความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกตอนนี้ เช่น วิกฤตเงินเฟ้อ ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกผันผวน ไม่เว้นวัน แล้วในสภาวะแบบนี้ จะมีหลุมหลบภัยที่ดีสำหรับนักลงทุนหรือไม่ วันนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Defensive Stock คืออะไร จริงไหมที่บอกว่าเป็นหลุมหลบภัยของนักลงทุน เพราะ มีความทนทานในทุกสภาพตลาด
Defensive Stock คืออะไร ?
Defensive Stock เป็นหุ้นที่มีความทนทานในทุกสภาพตลาด ทั้งขาขึ้นและขาลง เพราะ เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแรง ความเสี่ยงต่ำ มีการจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ
แต่เป็นกำไรเติบโตของหุ้นจะไม่หวือหวา ไม่ค่อยมีเรื่องราวที่จะนำมาเป็นจุดขายของหุ้นเท่าไหร่ หรือ เป็นหุ้นที่มีธุรกิจที่สามารถประเมินรายได้ได้ค่อนข้างแม่นยำ จึงลดความคาดหวังของนักลงทุนลงได้พอสมควร ฉะนั้น จึงมีโอกาสทำกำไรจากส่วนต่างของราคาได้ไม่มากนัก
นักลงทุนต้องเผชิญความเสี่ยงอะไรบ้าง
1. ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่กระทบทั้งตลาด ไม่สามารถหลีกเหลี่ยงได้ เช่น การเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มหรือลดลง
2. ความเสี่ยงที่กระทบหุ้นโดยตรง ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ จากปัจจัยภายนอก เช่น น้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรมของหุ้นที่เข้าข่าย Defensive Stock เป็นต้น
เหมาะกับนักลงทุนประเภทไหน
Defensive Stock เหมาะกับนักลงทุนที่เน้นเงินปันผล เพราะ รายได้และกำไรของหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างมีเสถียรภาพ อีกทั้ง ไม่ต้องเสียเวลาในการตามข่าวด้วย และจัดพอร์ตบ่อยครั้ง
วิธีการคัดเลือก Defensive Stock
1. ดูขนาดบริษัท หรือ หุ้นที่มี Market Cap. ขนาดใหญ่ เพราะ มักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ฐานะการเงินมั่นคง ผลกำไรโตต่อเนื่องแบบช้า ๆ จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง เป็นผู้นำตลาด ได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ราคาหุ้นไม่ผันผวนมาก แต่เนื่องจากเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยม จึงหาหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานได้ค่อนข้างยาก
2. ความผันผวนต่ำ ควรเลือกหุ้นที่มีความผันผวนของราคาเมื่อเทียบกับความผันผวนของดัชนีราคาหุ้นของตลาดต่ำ หรือ หุ้นที่มีค่า Beta ต่ำ หรือ น้อยกว่า 1 ค่อนไปทางติดลบนั่นเอง
3. ภาระหนี้น้อย ปัจจัยหนึ่งที่ใช้ดูว่าหุ้นมีความเสี่ยงทางการเงินต่ำ คือ ภาระหนี้สินต่ำ จึงควรเลือกหุ้นที่ไม่มีภาระหนี้สินหรือมีหนี้สินต่ำ โดยเลือกหุ้นที่มีหนี้สินต่ำกว่าทุน (D/E Ratio) เช่น ต่ำกว่า 1 เท่า
4. กำไรสม่ำเสมอ ควรมีผลการดำเนินงานที่ดีและสม่ำเสมอ แสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการ เพราะ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจแบบใด ก็สามารถสร้างผลงานได้ดี เช่น ทำกำไรได้ดีต่อเนื่อง 5 – 10 ปีติดต่อกัน เป็นต้น
5. จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เพราะ เงินปันผลเป็นกระแสเงินสดรับที่นักลงทุนคาดหวัง ดังนั้น บริษัทที่ดีจึงควรมีการบริหารจัดการระหว่างการนำเงินไปลงทุนกับการจ่ายเงินปันผลได้อย่างเหมาะสม โดยนักลงทุนอาจพิจารณาหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผล 10 ปีติดต่อกัน เป็นต้น
6. ราคาไม่แพง หุ้นกลุ่มนี้ต้องมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ซึ่งนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนมักจะมองหาหุ้นที่มี Margin of Safety สูง ๆ โดยพิจารณาจากหุ้นที่ราคายังไม่แพงจนเกินไป โดยมีเกณฑ์ คือ P/E Ratio ไม่ควรเกิน 15 เท่า และ P/BV Ratio ไม่ควรเกิน 1.5 เท่า
อ่านเพิ่ม
กลยุทธ์การลงทุนใน Defensive Stock
หุ้นกลุ่มนี้จะได้รับความสนใจ ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา เพราะ มักจะเป็นหุ้นที่ราคาได้รับผลกระทบ หรือราคาลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับหุ้นอื่น ๆ ในตลาด เนื่องจากยังมีความต้องการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำไรของบริษัทยังคงที่ แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว หุ้นกลุ่มนี้ก็มักจะทำผลตอบแทนได้ดีไม่เท่ากับหุ้นอื่นๆ ในตลาดเช่นกัน
ซึ่งเรามักจะเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “หุ้นปลอดภัย” หรือ “หุ้นหลุมหลบภัย” นั่นเอง ตัวอย่างของหุ้นกลุ่มนี้ เช่น หุ้นสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) อาหาร ยา โรงพยาบาล หุ้นได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พี่ทุยมองว่าต้องวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจว่าอยู่ในช่วงใดเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกลงทุน โดยควรมองหาหุ้นกลุ่มนี้ ในช่วงที่ตลาด “กำลังจะเข้าสู่ช่วงขาลง” เนื่องจากหุ้นปลอดภัยมักจะราคาลดลงน้อยกว่าตลาด และในทางกลับกัน ควรจะออก เพื่อสลับเงินกลับไปสู่หุ้นเติบโต เมื่อตลาดเริ่มกลับทิศปรับตัวเป็นขาขึ้นนั่นเอง
อ่านคำศัพท์การเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่