8 อคติของนักลงทุนเพ้อฝันที่ทำให้ "การลงทุน" ผิดพลาด

8 อคติของนักลงทุนเพ้อฝันที่ทำให้ “การลงทุน” ผิดพลาด

4 min read  

ฉบับย่อ

  • นักลงทุนเพ้อฝันจะมีความมั่นใจในทักษะ “การลงทุน” ของตนเองจนไม่สนใจเสียงรอบข้างและรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมผลของการลงทุนได้
  • อคติในการลงทุน 8 อย่างของนักลงทุนเพ้อฝันทำให้นักลงทุนเพ้อฝันมองไม่เห็นความเสี่ยงและลงทุนโดยไม่มีการกระจายความเสี่ยง
  • การประเมินทักษะและข้อจำกัดในการลงทุนของตัวเองตามสภาพจริงจะช่วยลดอคติในการลงทุนได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เคยรู้สึกแบบนี้กันไหม ? เวลาที่เราจัดการเรื่อง “การลงทุน” เราเล่นหุ้นแล้วขายได้กำไรติดต่อกันบ่อยๆ หรือเปิดพอร์ตมาทีไรพอร์ตเราก็เขียวมีกำไรตลอด แล้วก็รู้สึกว่านี่แหละคือทางของเรา เราต้องเป็นสุดยอดนักลงทุนมาเกิดแน่นอน ใครไม่เคยรู้สึกแต่พี่ทุยเคยรู้สึก (ฮา)

จุดเริ่มต้นของ​ “การลงทุน” ที่มีอคติ

สมัยที่พี่ทุยรู้สึกว่าเป็นสุดยอดนักลงทุน ขอเรียกช่วงชีวิตการเป็นนักลงทุนช่วงนั้นว่า ช่วง “นักลงทุนเพ้อฝัน” ก็แล้วกัน ในช่วงที่เป็นนักลงทุนเพ้อฝัน พี่ทุยเห็นบทวิเคราะห์ตลาดหุ้นชิ้นไหนที่คิดและมีมุมมองเหมือนพี่ทุยนะ ก็จะไปอ่านแล้วก็รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่บทวิเคราะห์อันไหนที่วิเคราะห์ไม่ค่อยเหมือนพี่ทุย ก็จะรู้สึกว่ามันไม่น่าสนใจแล้วก็ข้ามไปเลย

เวลาที่พี่ทุยทำกำไรจากตลาดหุ้นได้เยอะๆ รู้สึกเหมือนว่าเราสามารถคาดการณ์ราคาหุ้นแต่ละตัวที่ลงทุนไปได้อย่างแม่นยำมาก เหมือนสามารถควบคุมผลของการลงทุนได้เองเลยแหละ แต่แล้วทำไมรู้ไหม ก็อย่างที่ทุกคนพอจะคาดเดาได้นั่นแหละ มันเริ่มมีช่วงที่เริ่มขาดทุนและเปิดพอร์ตมาทีไรพอร์ตก็เริ่มมีสีแดง ส่งสัญญาณการเริ่มขาดทุน ราคาขายของหุ้นที่มีก็เริ่มต่ำกว่าราคาที่เคยซื้อไว้ แล้วความเป็นสุดยอดนักลงทุนของพี่ทุยก็เริ่มสลายไปต่อหน้าต่อหน้าตั้งแต่ตอนนั้น

อคติที่ 1 : มีความมั่นใจล้นเกินไป (Overconfidence Bias)

พอลองมองย้อนกลับไปดูช่วงที่เป็นนักลงทุนเพ้อฝันพบว่าอคติในการลงทุนหลายอย่างเลยนะ อย่างแรกเลยคือ มีความมั่นใจล้นเกินไป (Overconfidence bias) เวลามีความมั่นใจที่ล้นเกินไป พี่ทุยจะมองไม่เห็นความเสี่ยงจากการที่หุ้นตก แล้วก็ไม่สนใจที่จะกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพราะมั่นใจในหุ้นที่เลือกมาว่าจะดีแน่นอน อีกอย่างหนึ่งคือพี่ทุยก็ไม่สนใจข้อมูลด้านตรงข้ามกับที่คิดเลย แม้ว่าข้อมูลนั้นอาจจะช่วยให้มองเห็นความเสี่ยงจากหุ้นที่ถืออยู่ก็ตาม

อคติที่ 2 : มองโลกในแง่ดีมากเกินไป (Optimism Bias)

การมองโลกในแง่ดีมากเกินไป จะทำให้เรามองตลาดหุ้นช่วงนั้นสดใสมาก (Optimism bias) รู้สึกว่าช่วงเวลานั้น คือ ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดที่จะลงทุนโดยไม่ได้สนใจแนวโน้มตลาดหุ้นว่าก็มีโอกาสที่จะลงเหมือนกัน

อคติที่ 3 : สนใจแค่หุ้นบางกลุ่มที่สามารถเห็นผลิตภัณฑ์นั้นได้ (Availability Bias)

ในบางช่วงบางตอน พี่ทุยสนใจแค่หุ้นที่สามารถเห็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นบ่อยๆในชีวิตประจำวันเท่านั้น (Availability bias) แม้ว่าจริงๆแล้วจะมีหุ้นอยู่อีกมากมายที่ทำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาในชีวิตประจำวัน

อคติที่ 4 : คิดว่าหุ้นที่มาจากอุตสาหกรรมเดียวกันทุกตัวจะต้องดี (Representativeness Bias)

อคติอย่างที่สี่คือ เมื่อพี่ทุยได้ลงทุนในหุ้นเด่นของอุตสาหกรรมนั้นแล้วได้กำไร พอมีหุ้นตัวใหม่หรือหุ้น IPO ในอุตสาหกรรมนั้นออกมาใหม่ พี่ทุยก็จะเชื่อเหลือเกินว่ามันต้องดีเพราะเทียบจากหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันที่เคยซื้อแล้วได้กำไร (Representativeness bias) แต่ความเป็นจริงหุ้นตัวใหม่อาจจะแย่ก็ได้

อคติที่ 5 : คิดว่าการลงทุนที่ผิดพลาดคือความโชคร้าย (Self-attribution Bias)

ความที่พี่ทุยเป็นนักลงทุนเพ้อฝันทำให้ช่วงนั้นแอบคิดไปว่าการที่พี่ทุยประสบความสำเร็จได้กำไรเป็นกอบเป็นกำนั้นมาจากความเก่ง ความฉลาดของพี่ทุยเอง แต่พอหุ้นตกลงมาก็จะโบ้ยให้กับความโชคร้ายที่ทำให้เข้าซื้อหุ้นผิดช่วงเวลา (Self-attribution bias)

อคติที่ 6 : เข้าใจไปเองว่าเราสามารถกำหนดผลของการลงทุนหุ้นได้ (Illusion of control Bias)

แต่ก็ยังไม่หมดแค่นี้นะ อคติของพี่ทุยยังเลยเถิดไปถึงการที่พี่ทุยเชื่อว่าสามารถกำหนดผลของการลงทุนหุ้นได้ (Illusion of control bias) ซึ่งในความเป็นจริงตลาดหุ้นมีความซับซ้อนและไม่แน่นอนกว่าที่พี่ทุยคิด

อคติที่ 7 : เลือกอ่านข่าวหรือบทวิเคราะห์เฉพาะที่เชียร์หุ้นที่เราซื้อ (Confirmation Bias)

ต่อจากอคติที่ 6 ที่เมื่อเราคิดว่าเราสามารถกำหนดผลของการลงทุนหุ้นได้แล้ว พี่ทุยก็จะสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้ตัวเองด้วยการเลือกอ่านข่าวหรือบทวิเคราะห์ที่เขียนเชียร์หุ้นที่พี่ทุยซื้อ (Confirmation bias) ซึ่งอคติอย่างที่เจ็ดนี้ก็ทำให้พอร์ตของพี่ทุยไม่ค่อยมีการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง

อคติที่ 8 : คิดว่าตลาดหุ้นจะสดใสต่อไปเรื่อยๆ (Recency Bias)

สำหรับอคติอย่างสุดท้ายที่พี่ทุยพอจะนึกๆได้ เมื่อในช่วงนั้นพี่ทุยลงทุนยังไงก็ได้กำไร ตลาดหุ้นก็ดูสดใส ก็เลยคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะสดใสต่อไปนะซิ (Recency bias) แต่ก็ลืมนึกไปว่าธุรกิจมันก็มีวงจรของมัน มีช่วงขาขึ้น มีช่วงขาลงเป็นธรรมดา

แล้วอคติทั้งแปดอย่างที่พบเจอในช่วงที่เป็นนักลงทุนเพ้อฝัน มันทำให้การลงทุนของแย่ยังไงนะเหรอ ? พอร์ตของพี่ทุยก็เต็มไปด้วยหุ้นตัวเดิมปริมาณมาก เพราะเชื่อมั่นในหุ้นตัวนั้นมากจนมองไม่เห็นความเสี่ยงจากการที่หุ้นตัวนี้จะตกเลย ประกอบกับที่พี่ทุยก็ไม่ฟังหรือไม่สนใจข่าวเสียๆหายๆหรือข่าวร้ายเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้เลย พอถึงคราวที่หุ้นตัวนี้ตก พอร์ตก็ไม่มีหุ้นตัวอื่นที่จะมากระจายความเสี่ยงยามหุ้นตัวนี้ตกเลย และก็ไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์อื่นเลย ผลก็คือพี่ทุยขาดทุนหุ้นนะซิ

ใครที่รู้สึกว่ากำลังเป็นนักลงทุนเพ้อฝันเหมือนพี่ทุยเมื่อก่อนอยู่ แสดงว่าได้ตระหนักแล้วว่าอคติในการลงทุนมันมีอยู่จริง! ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้อคติการลงทุนที่ดี พี่ทุยจึงขอแนะนำเพิ่มเติมว่า

  • ให้เก็บเงินให้ได้มากขึ้น เพราะการมองโลกในแง่ดีในการลงทุนเกินไปอาจทำให้เราเก็บเงินน้อยลง
  • การกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมช่วยให้พอร์ตเราลดความเสี่ยงได้ หากหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งตก เรายังมีหุ้นในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งหรือมีสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้นมาช่วยลดการขาดทุนของเราได้
  • ให้คิดถึงเสมอว่าเป้าหมายในระยะยาวของการลงทุนของเราคืออะไร อย่าลงทุนตามกระแส
  • รับฟังคำแนะนำทางการเงินจากผู้รู้ เช่น พี่ทุย (ฮา) และเปิดรับฟังมุมมองการลงทุนที่แตกต่าง
  • ลองหาข้อมูลทำรีเสิร์ชเยอะๆ เพื่อเป็นการตรวจสอบการตัดสินใจของเราก่อนทำการลงทุน
  • เมื่อลงทุนไปแล้วให้จดบันทึกพร้อมจดเหตุผลที่เราเลือกลงทุนไป และนำกลับมาดูมาวิเคราะห์ว่าการลงทุนของเราเป็นอย่างไร มีข้อผิดพลาดอย่างไร
  • ตระหนักว่าการที่เราลงทุนแล้วหุ้นเราขึ้นอาจจะมาจากฐานเศรษฐกิจที่ดีที่ทำให้หุ้นโดยรวมขึ้น แล้วหุ้นเราก็ขึ้นไปด้วย ไม่ได้มาจากความเป็นสุดยอดนักลงทุนของเรา

แล้วสุดท้ายพี่ทุยรู้ได้ยังไงว่านักลงทุนเพ้อฝันในตัวได้หายไปแล้ว ? ง่ายๆเลยก็สังเกตตัวเองและพบว่าพี่ทุยประเมินทักษะและข้อจำกัดในการลงทุนตามสภาพจริง ไม่ได้มั่นใจในผลการลงทุนในตลาดหุ้นของตัวเองจนเกินไป เพราะก็เข้าใจว่าตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอน และก็ยังมีการตั้งข้อสงสัยในทักษะในการลงทุนของตัวเองด้วยนะ ทำให้พี่ทุยก็ต้องหาข้อมูลการลงทุนมาประกอบการตัดสินใจลงทุนตลอด

Reference

  • คอร์สออนไลน์ Behavioral Investing, Indian School of Business จากเว็บไซต์ coursera.org
รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย