นักลงทุนต้องรู้ เรา “ขาดทุนในตลาดหุ้น” แบบไหนได้บ้าง

นักลงทุนต้องรู้ เรา “ขาดทุนในตลาดหุ้น” แบบไหนได้บ้าง

3 min read  

ฉบับย่อ

  • การขาดทุนจากตลาดหุ้น รูปแบบที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด คือ ขาดทุนเงินทุน (Capital losses) หากเราขาดทุนหนักเท่าไหร่ การทำกำไรคืนมาก็จะยิ่งหนักขึ้นเท่านั้น เพราะเงินลงทุนที่เหลืออยู่จะน้อยลง
  • การขาดทุนยังมีรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราได้ อย่าง ขาดทุนโอกาส (Lost Opportunities) เป็นการสูญเสียโอกาสจากการที่เงินทุน ‘จม’ อยู่กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเป็นเวลานาน, ขาดทุนกำไร (Missed Profit Losses) คือการรู้สึกเหมือนขาดทุน จากกำไรที่ควรจะได้มากกว่านั้น, ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized Losses) เป็นการขาดทุนในลักษณะที่ว่า ‘ไม่ขาย ไม่ขาดทุน’

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เชื่อว่าจุดมุ่งหมายของทุกคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น คือ ‘กำไร’ แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นด้วยเสมอระหว่างช่วงเวลาที่อยู่ในตลาด คือ ‘ขาดทุน’ และจากประวัติศาสตร์นับร้อยปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครในตลาดสามารถยืนยันได้ว่าไม่เคย “ขาดทุนในตลาดหุ้น” แม้แต่ครั้งเดียว พี่ทุยคิดว่าสาเหตุที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการขาดทุนไว้เสมอ เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้น มันมีปัจจัยหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น

การ “ขาดทุนในตลาดหุ้น” โดยทั่วไปทุกคนน่าจะคุ้นชินกับความหมายที่ว่า การสูญเสียเงินลงทุนที่เราใช้ลงทุนไปในหุ้นนั้น ๆ หรือที่เรียกว่า การขาดทุนเงินทุน (Capital losses) แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขาดทุนจากตลาดหุ้นนั้นไม่ได้มีเพียงแค่รูปแบบเดียว

การ “ขาดทุนในตลาดหุ้น” มาในรูปแบบไหนบ้าง ?

1. การขาดทุนเงินทุน (Capital losses)

ซึ่งเป็นการขาดทุนเงินทุน เป็นรูปแบบที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อยู่บ่อยครั้ง เมื่อเราตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง โดยคาดหวังว่าราคาหุ้นมันจะเพิ่มขึ้นจากจุดที่เข้าซื้อ แต่หลังจากนั้นกลับกลายเป็นว่าราคาหุ้นค่อย ๆ ร่วงลงมา และเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่ง เราก็ตัดสินใจยุติความเจ็บปวด ยอมขายหุ้นตัวนั้นออกไป พร้อมกับสูญเสียเงินจำนวนหนึ่ง หรือ ขาดทุน นั่นเอง การขาดทุนในลักษณะนี้ เป็นการเสียเงินลงทุนไปจริง ๆ ผลกระทบที่ตามมาคือ ด้วยเงินทุนที่เหลืออยู่ (หากไม่ได้เพิ่มเงินลงทุนจากแหล่งอื่นเข้ามา) จะทำให้อำนาจในการซื้อของเราลดลงไป และนั่นเองส่งผลให้การที่จะทำกำไรเพื่อชดเชยส่วนที่สูญเสียไป จะยิ่งเหนื่อยมากขึ้นกว่าเดิม สมมุติว่า เราขาดทุน 20% หากมีเงิน 100 บาท เมื่อขาดทุนไปแล้ว ก็จะเหลือเงินอยู่ 80 บาท การจะทำเงินให้กลับมาอยู่ที่ 100 บาท เราจะต้องทำให้ได้กำไร 25% ในครั้งถัดไป เพราะฉะนั้นยิ่งเราขาดทุนหนักเท่าไหร่ การพยายามสร้างกำไรกลับมาก็ยิ่งหนักขึ้นเท่านั้น

2. ขาดทุนโอกาส (Lost Opportunities)

เป็นรูปแบบที่ดูเหมือนจะไม่ได้สร้างความสูญเสีย และอาจจะไม่ได้กระทบต่อความรู้สึกของเรานัก เพราะในท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะไม่ได้สูญเสียเงินลงทุนใด ๆ ไปเลย เพียงแค่เราเอาเงินทุนที่มีอยู่ไปลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง อาจจะสัก 1 เดือน 6 เดือน หรือนานหน่อยก็อาจจะสัก 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี แต่ท้ายที่สุดแล้วหุ้นตัวนั้นกลับมามีราคาอยู่เท่า ๆ เดิมกับที่เราเคยซื้อไว้ เท่ากับว่าเงินลงทุน ที่เราควรจะได้ผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบของกำไร (ยังไม่รวมเงินปันผลที่อาจจะมีหรือไม่มี) กลับกลายเป็นว่าต้อง ‘จม’ อยู่กับหุ้นตัวนั้น ทั้ง ๆ ที่เราอาจจะนำไปลงทุนในหุ้นตัวอื่น หรือแหล่งอื่น ๆ และได้ผลตอบแทนกลับมา

3. ขาดทุนกำไร (Missed Profit losses)

เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย คือการนั่งมองราคาหุ้นที่เราถืออยู่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น หรือดีกว่านั้น ก็คือพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าตัวเลข กำไร/ขาดทุน ในพอร์ตของเราคงจะโชว์สีเขียวสดใส แต่อยู่ดีดี ตัวเลขสีเขียวสดใสที่แสดงกำไรในพอร์ตของเราก็ค่อย ๆ ลดลง และลดลง ซึ่งบางครั้งเราก็อาจจะรู้สึกตัว และยอมขายเพื่อเก็บกำไรที่พอมีอยู่เอาไว้ก่อน แต่ในบางครั้งกำไรที่เคยมีอยู่นั้น กลับหายไปจนหมด สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เรารู้สึกว่า ‘ขาดทุน’ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เราอาจจะ ‘กำไร’ การจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทางหนึ่งคือ การยอมรับเสียก่อนว่า ไม่มีใครสามารถคาดเดาจุดสูงสุดหรือต่ำสุดของราคาหุ้นได้ สิ่งที่เราควรทำคือการพยายามประเมินราคาที่สมเหตุสมผลกับหุ้นตัวนั้น ๆ โดยอาจจะใช้โมเดลในการประเมินมูลค่าหุ้น หรือสถิติต่าง ๆ เพื่อช่วยกำหนดจุดที่เหมาะสมที่เราอาจจะขายออกไป

4. ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized Losses)

เป็นการขาดทุนที่เกิดขึ้นก่อนที่เราจะขาดทุนเงินทุนไปจริง ๆ โดยการขาดทุนลักษณะนี้ มักจะมาพร้อมกับวลีที่ว่า “ไม่ขาย ไม่ขาดทุน!” เมื่อราคาหุ้นไม่ขยับขึ้นอย่างที่เราคาดหวัง สิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องทำคือ การกลับมาทบทวนสิ่งที่เราตัดสินใจลงไปว่ามันมีข้อผิดพลาด หรือมีปัจจัยอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หลังจากนั้นคือการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับผลขาดทุนที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น หากมี ‘เหตุผล’ ให้ยังมั่นใจได้ว่า หุ้นที่ถืออยู่นี้มีแนวโน้มจะดีขึ้นได้ในระยะถัดไป เราก็อาจจะถือต่อไป แต่กลับกันหากสถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ก็คงจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา

นักลงทุนต้องรู้ เรา “ขาดทุนในตลาดหุ้น” แบบไหนได้บ้าง

ในความเป็นจริงของการลงทุน พี่ทุยคิดว่าเราคงจะไม่สามารถหลีกหนีการขาดทุนไปได้ ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังในแต่ละปีของแต่ละ Asset Class ก็จะเห็นว่า ในบางปี หุ้นอาจจะให้ผลตอบแทนดี แต่หลังจากนั้นก็อาจจะไม่ดี กลายเป็นทองคำ หรือตราสารหนี้ที่กลับมาโดดเด่นมากกว่า ดังนั้นใครก็ตามที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากจะเตรียมตัวสำหรับการสร้างกำไรแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับการขาดทุนเช่นกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply