คำถามหนึ่งสำหรับคนที่เริ่มเก็บออมเงินก็คือ ไม่รู้ว่าในแต่ละเดือนควรจัดสรรเงินออมยังไง แบ่งออมเท่าไหร่ถึงจะพอ 10% พอมั้ย หรือว่า 20% ดี วันนี้พี่ทุยเลยเอาเทคนิค 6 Jars System ที่เป็นที่นิยมระดับโลกมาให้เป็นแนวทางว่าถ้าอยากเริ่มต้นจัดสรรเงินควรแบ่งเงินในแต่ละเดือนยังไงบ้าง ซึ่งหลักการสำคัญของ 6 โหลเงินเก็บ คือจะแบ่งเงินที่เราหามาได้เป็นทั้งหมด 6 โหล
6 JARS SYSTEM : โหลแรก โหลจำเป็น
เริ่มต้นที่โหลแรกคือ ‘โหลจำเป็น’ วิธีการคัดเลือกว่าค่าใช้จ่ายส่วนใดที่เราจะหยิบจากโหลนี้ไปใช้ ให้ตัดสินจาก “ถ้าไม่มี แล้วลำบากแน่นอน” เช่น ค่าหอ ไม่มีไม่ได้เพราะจะไม่มีที่ซุกหัวนอน ค่าอาหาร ไม่มีก็อดตายแน่ ๆ หรือค่าไฟไม่จ่ายก็ได้นอนเหงื่อท่วมกันแน่ ๆ หรือบางคนอาจจะบอกว่า ลิปสติก เครื่องสำอางก็จำเป็นนะพี่ทุย ไม่มีคืออกจากบ้านไม่ได้ แบบนี้สำหรับพี่ทุยก็ถือว่าจำเป็นนะ ซึ่งความจำเป็นแต่ละคนไม่เหมือนกันไม่ต้องไปลอกข้อสอบเพื่อนนะ
6 JARS SYSTEM : โหลที่สอง โหลปรนเปรอ
อู๊ยยย แค่ชื่อโหลนี้ก็น่าสนใจแล้ว ฮ่า ๆ โหลนี้จะถูกหยิบเมื่อเราต้องการใช้จ่าย สิ่งที่ “เสริมความสุข” แต่ว่าขาดไป ก็ไม่ได้ลำบากอะไร เรียกว่ามีก็ได้ไม่มีก็ขัดอกขัดใจนิดหน่อย อย่างเช่น บุฟเฟ่ต์หรูหราตามโรงแรม ปาร์ตี้สุดเหวี่ยง เคาท์ดาวน์เชียงใหม่ หรือเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น แน่นอนว่าค่า่ใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่สร้างความสุขให้กับเรา สามารถมีได้แต่มีอย่างพอประมาณก็พอนะ
โหลที่สาม โหลลงทุน
ถึงชื่อโหลจะเป็น ‘โหลลงทุน’ แต่ด้วยความหมาย สำหรับพี่ทุยคือ โหลสำหรับการออมโหลหนึ่งนี่แหละ แค่เอาเงิน ใส่ธนาคารก็จัดอยู่ในส่วนนี้ได้แล้ว หรือถ้าใครมีความรู้เรื่องหุ้นก็จัดการออมในหุ้นกันไป เพราะเงินส่วนนี้มีหน้าที่ให้เงินงอกเงยออกมาเพิ่ม หรือก็คือเงินต่อเงินนั่นเอง จะต่อได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของเรา ดังนั้นแล้ว ข้อบังคับที่ควรทราบคือ “โหล นี้ ห้าม หยิบ” ห้ามงัด ห้ามแงะ ห้ามทุบ เด็ดขาด ลงทุนไม่ได้ก็เอาไปใส่ธนาคารเก็บไว้ดีที่สุด
โหลที่สี่ โหลความรู้
เห็นชื่อโหลแล้วอย่าเพิ่งหันหน้าหนีพี่ทุยไปนะ ฮ่า ๆ เพราะพี่ทุยเชื่อเสมอว่าการลงทุนที่ดีคือการลงทุนกับการศึกษา หรือเรียกง่าย ๆ ว่าการลงทุนในตัวเองเนี้ยแหละ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถหยิบออกจากโหลนี้ได้
อย่าไปนึกแค่ค่าเรียน ป.ตรี ป.โท ป.เอก เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็น คอร์สทำอาหาร เรียนภาษาอังกฤษ เวิร์คชอปตัดกระดาษ อบรม Excel ใด ๆ ก็แล้วแต่ ล้วนจัดอยู่ในนี้ทั้งนั้น เพราะเป็นการ ‘เพิ่มทักษะ’ อันเป็นความรู้ประดับบารมีสมองของเรา ช่วยทำให้ Productivity เพิ่มขึ้นในอนาคตได้
โหลที่ห้า โหลเก็บหอมรอมริบ
หรือก็คือ ‘โหลออม’ โหลหนึ่งนั่นแหละ โหลนี้เอาไว้เก็บเงินเพื่อซื้อของสนองความต้องที่มีราคาสูงขึ้นมานิ๊ดนึง เช่น รถ บ้าน คอนโด โน๊ตบุค มือถือ อะไรงี้ ดังนั้นโหลนี้จะไม่ได้ถูกหยิบออกมาใช้บ่อย ๆ เพราะต้องสะสมไปก่อน แต่พี่ทุยบอกได้เลยว่าโหลนี้เวลาหยิบออกมาทีแทบจะหมดโหลกันเลยละ ฮ่า ๆ
อ่านเพิ่ม
โหลที่หก โหลนี้พี่ให้
ตอนอ่านข้อมูลแล้วเจอค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ความรู้สึกคือ “เออว่ะ” คือมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่ และเรามักจะมองข้ามไป ดังนั้นถ้าเรารู้ว่าเงินจำนวนสูงสุดที่เราสามารถ ‘GIVE’ ได้ เราก็จะเปย์อย่างมีสติ ไม่ใช่ว่าอยากให้อะไรเข้าก็ให้ ใจป๋าซะเหลือเกิ๊นน ระวังมาน้ำตาไหลตอนหลังนะฮ้าฟฟฟฟฟฟฟ โหลนี้ก็จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เราทำเพื่อคนอื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะซองงานแต่ง ของขวัญเพื่อน ของขวัญแฟน ให้พ่อแม่ ตลอดจนบริจาค ก็หยิบออกจากที่นี้เด้ออออ
อ่านเพิ่ม
จะเห็นได้ว่า.. ถ้าเรามีการจัดสรรเงินให้เป็นระบบระเบียบ เราก็จะรู้ว่าเงินที่ใช้ได้ของเรามีแค่ไหน ควรใช้จ่ายในแต่ละเรื่องเท่าไหร่ แล้วจะมีเงินเหลือเก็บมั้ย เราก็จะเป็นคนใช้เงินเป็น และนำไปสู่เส้นทางความมั่งคั่งได้เร็วมากขึ้น ทั้งนี้สัดส่วนที่พี่ทุยบอกไปนั้น สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม เช่นตัวอย่างนี้ก็ได้มีการลดสัดส่วน ‘โหลจำเป็น’ ลงและเพิ่ม ‘โหลลงทุน’ ขึ้นเพราะอยากเอาเงินไปลงทุนมากขึ้นก็สามารถทำได้ เป็นต้น
ถ้าใครที่บรรลุเข้าสู่การออมเงินขั้นสูงแล้ว สามารถใช้โหลในจินตนาการก็ได้ ก็คือไม่ต้องมีขวดโหลมาตั้งให้เกะกะอีกต่อไป ใช้ระเบียบวินัยในการจดจำและควบคุมพฤติกรรมการใช้จ่ายแทนขวดโหลได้เลย
อ่านเพิ่ม