เช็กลิสต์ สุขภาพการเงิน ตั้งเป้าหมายให้ปีใหม่นี้มีเงินเก็บ

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • สุขภาพการเงิน เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้สุขภาพกายหรือสุขภาพทางใจ ในโอกาสปีใหม่นี้มี 4 เช็ตลิสต์สุขภาพการเงินมาฝากกัน ประกอบด้วย ด้านเงินออม, ด้านเงินสำรองฉุกเฉิน, ด้านภาระหนี้สินต่อเดือน และด้านหนี้สินเทียบกับสินทรัพย์
  • บทเรียนจากช่วง COVID-19 และยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไว ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเราอาจตกงานไม่ทันตั้งตัวก็ได้ เงินสำรองฉุกเฉินเป็นส่วนที่สำคัญสุด ควรมีอย่างน้อย 6-12 เดือน แถมยิ่งมีมากกว่านี้ยิ่งดี
  • สำหรับบางคนที่สุขภาพการเงินคงยังแข็งแรงมากนัก แก้ปัญหาหนี้สินก่อนเลย ถ้ามีเงินก้อนโบนัสควรโปะเพื่อลดภาระดอกเบี้ย และไม่สร้างหนี้สินเพิ่มเติมอีก จากนั้นลองดูว่ารายจ่ายประจำอะไรที่ลดได้บ้าง จะได้มีเงินต่อเดือนเหลือเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เข้าปีใหม่กันแล้ว หลายคนอาจจะเช็กสุขภาพกายกันไปเรียบร้อย แต่ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ สุขภาพการเงิน เพราะถ้าเรื่องนี้ราบรื่น ก็เดินหน้าใช้ชีวิตดีรับปีใหม่กันได้เต็มที่ แถมวางแผนเกษียณได้เลย วันนี้พี่ทุยเลยมี 4 เช็กลิสต์ สุขภาพการเงิน เพื่อเริ่มต้นชีวิตดีรับปีใหม่มาฝากให้ทุกคนได้เอาไปใช้กัน เชื่อว่าถ้าใครได้เอาไปใช้จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นอย่างแน่นอน

เช็กลิสต์ สุขภาพการเงิน ข้อที่ 1 เงินออมควรเก็บให้ได้ทุกเดือน

อย่าใช้เงินซื้อข้าวของจนหมด เพราะเราไม่รู้ว่าต้องใช้เงินก้อนทำอะไรในอนาคตเมื่อไร เช่น ดาวน์บ้าน ซื้อรถ ทำธุรกิจ เราเลยควรมีเงินออมเอาไว้ให้อุ่นใจ ซึ่งถ้าใครมีก่อนมีมากก็ยิ่งได้เปรียบ สำหรับเงินออมควรเก็บให้ได้ประมาณ 10-25% ของรายได้ (เยอะกว่านี้ก็ได้นะ)

เช่น รายได้ทั้งเดือน 40,000 บาท ออมเงิน 20% ของรายได้ เงินออมที่ควรเก็บต่อเดือน 40,000 x 0.20 = 8,000 บาท

ซึ่งเงินออมส่วนนี้อาจเอาไปลงทุนต่อยอดเพื่อไม่ให้โดนเงินเฟ้อกัดกินมูลค่า แต่พี่ทุยแนะนำว่าควรเลือกลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้ อย่าลงทุนแล้วนอนไม่หลับ

ข้อที่ 2 เงินสำรองฉุกเฉิน ส่วนนี้สำคัญมาก

เรื่องฉุกเฉินจนทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ที่เห็นชัดๆเลยอย่าง COVID-19 ซึ่งทำหลายคนตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว แถมไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร แล้วอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรแบบนี้อีกหรือไม่ ดังนั้นเงินสำรองฉุกเฉินเลยสำคัญมาก

พี่ทุยแนะนำว่าควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่ากับค่าใช้จ่าย 6-12 เดือน เช่น ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน 15,000 x 6 = 90,000 บาท (เป็นอย่างน้อย)

ทั้งเห็นบทเรียนจากช่วง COVID-19 แล้วยิ่งในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไว AI กำลังทดแทนคนได้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งเราอาจตกงานไม่ทันตั้งตัวก็ได้ พี่ทุยคิดว่าเงินสำรองฉุกเฉินอาจต้องมีมากกว่า 12 เดือนด้วยซ้ำ

ข้อที่ 3 ภาระหนี้สินต่อเดือน ควรมีให้น้อยที่สุด

ทุกคนมีค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่ากิน บางช่วงมีเหตุจำเป็นต้องซื้อของที่ใช้เงินจำนวนมากแบบเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้ามีภาระหนี้สินต้องจ่ายมากเกินไป คงไม่มีเงินเหลือเก็บแน่นอน แต่เราแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการควบคุมภาระค่าใช้จ่ายหนี้สินให้อยู่ในระดับที่พอดี

พี่ทุยแนะนำว่าภาระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 35-40% ของรายได้ เช่น รายได้ทั้งเดือน 40,000 บาท ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนต่อเดือน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ สิ่งของ ไม่ควรเกิน 40,000 x 0.40 = 16,000 บาท

ข้อที่ 4 หนี้สินรวมไม่ควรมากกว่าทรัพย์สิน

การมีสุขภาพการเงินที่ดี ใช้ชีวิตไม่ลำบาก ยังไงก็ควรมีหนี้สินรวมมากกว่าทรัพย์สิน การรวบรวมหนี้สินและทรัพย์สินอาจยากหน่อย แต่พี่ทุยแนะนำให้นับเฉพาะหนี้สินและทรัพย์สินหลัก ๆ ชิ้นใหญ่ ๆ

อาจมีปัญหาว่าแล้วสิ่งของที่ยังผ่อนไม่หมดจะนับยังไง ? พี่ทุยยกตัวอย่าง ถ้ามีคอนโดราคา 2,000,000 บาท ผ่อนไปแล้ว 500,000 บาท เท่ากับว่าเรามีสินทรัพย์ 500,000 บาท หนี้สิน 1,500,000 บาท

ทีนี้ก็นับหนี้สินรวมทั้งหมดกับสิ่งของที่ยังผ่อนอยู่ ส่วนทรัพย์สินก็เอาไปรวมกับเงินออม เงินสำรองฉุกเฉิน เงินลงทุน กองทุนสำหรับการเกษียณ ประกันชีวิต

จากนั้นเอาทรัพย์สินหักลบกับหนี้สินรวม ถ้าทรัพย์สินสูงกว่าหนี้สิน แปลว่าสุขภาพการเงินยังดี ยิ่งมีสินทรัพย์ที่ต่อยอดให้งอกเงยมากยิ่งดีกับสุขภาพการเงินในอนาคต แต่ถ้าทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน ก็ใช้โอกาสขึ้นปีใหม่ เริ่มทำให้ทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน

ถ้า เช็กลิสต์ สุขภาพการเงิน น่าเป็นห่วง ต้องทำยังไงดี?

ที่ผ่านมาบางคนอาจละเลยสุขภาพการเงินไปบ้าง บางคนภาระหนี้เกินตัว บางคนยังไม่ค่อยมีเงินออม บางคนเงินสำรองฉุกเฉินยังน้อยอยู่ สุขภาพการเงินคงยังแข็งแรงมากนัก ก็เลยมีคำถามตามมาว่าต้องแก้ยังไงดี เริ่มตรงไหนก่อน?

พี่ทุยมีคำแนะนำกับเรื่องนี้มาให้เหมือนกัน โดยเริ่มจากแก้ปัญหาหนี้สินก่อนเลย ถ้ามีเงินก้อนโบนัสควรโปะเพื่อลดภาระดอกเบี้ย และไม่สร้างหนี้สินเพิ่มเติมอีก จากนั้นลองดูว่ารายจ่ายประจำอะไรที่ลดได้บ้าง จะได้มีเงินเหลือเพิ่ม

พอจัดการลดรายจ่ายแต่ละเดือนได้บ้างแล้ว ก็เอาเงินส่วนที่เหลือเพิ่มมาสะสมความมั่นคงให้ชีวิตกับเงินสำรองฉุกเฉิน พี่ทุยแนะนำว่าควรมีแบบแน่ ๆ 6 เดือน แล้วค่อยเอาไปเพิ่มเงินออม ซึ่งควรเก็บไว้กับสินทรัพย์ที่ต่อยอดสร้างผลตอบแทนให้เรา และควรเลือกให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้

เช่น เป็นฟรีแลนซ์ มีเวลาน้อย รายได้อาจไม่ค่อยแน่นอน รับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็เก็บเงินออมในเงินฝากประจำ กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น

สุดท้ายนี้พี่ทุยหวังว่า 4 เช็กลิสต์นี้จะช่วยให้ทุกคนได้เริ่มต้นกับการสร้างสุขภาพการเงินที่แข็งแรงให้ชีวิตดีรับปีใหม่ และยาวไปจนถึงเกษียณสุขเลย ส่วนใครที่ต้องแก้ไขสุขภาพการเงิน พี่ทุยขอบอกว่าอาจต้องใช้เวลาสักพัก ถ้าได้เริ่มทำแล้วก็ไม่มีอะไรยากเกินไปสำหรับทุกคน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile