หลังจากที่เราเริ่มต้นทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีหนี้สิน รวมถึงบัญชีทรัพย์สินกันไปแล้ว พี่ทุยจะพามาดูการปลดหนี้ในขั้นตอนต่อไป นั่นก็คือการ เจรจาลดดอกเบี้ย
สิ่งที่หลายคนไม่รู้ คือ “ลูกหนี้” ก็อยู่ในสถานะ “ลูกค้า” มีอำนาจต่อรอง เจรจาลดดอกเบี้ย ได้
สำหรับใครที่เป็นหนี้อยู่ คงคิดว่าเรานั้นเป็นแค่ลูกหนี้ตัวเล็ก ๆ เจ้าหนี้พูดมาแบบไหนเราก็ต้องว่าตามนั้น ซึ่งเรื่องนี้พี่ทุยบอกเลยได้ว่า เป็นหนึ่งในความเข้าใจผิดสำหรับคนที่เป็นหนี้อย่างมาก ในความเป็นจริงแล้วเวลาที่เรา “กู้เงิน” ตัวเราเองก็อยู่ในสถานะ “ลูกค้า” เช่นกัน แล้วถ้ามองมุมของเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินที่เรากู้ยืมมา เขาก็ไม่ได้อยากมีปัญหากับลูกค้า รวมถึงเหล่าสถาบันการเงินเองก็อยากได้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเช่นเดียวกัน
ดังนั้น พี่ทุยเลยอยากให้ทุกคนลองจินตนาการและใส่หมวกว่าถ้าเราเป็น “เจ้าหนี้” หรือมีความเป็น “เจ้าของเงิน” ที่ให้คนยืมเงิน กู้เงินดู แล้วเปรียบเทียบลูกหนี้ 2 คนระหว่าง
นาย A มีปัญหาแล้วหนีหายไปเลย ติดต่อไม่ได้ ดอกเบี้ยก็ไม่จ่าย เงินต้นก็ไม่คืน เข้าอารมณ์ว่า ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ไม่สนใจใด ๆ
เปรียบเทียบกับนาย B มีปัญหาเหมือนกัน แต่สุดท้ายตัดสินใจเดินหน้าเข้ามาคุยเจรจาต่อรอง บอกปัญหาว่าตอนนี้เป็นยังไง พร้อมมาขอเจรจาหาทางออกร่วมกัน ไม่ได้คิดจะหนี มีความรับผิดชอบ แต่แค่ตอนนี้ไม่ไหวเท่านั้นเอง
เชื่อว่าทุกคนก็คงอยากจะเจอลูกหนี้แบบนาย B ซึ่งพี่ทุยก็อยากได้ลูกหนี้แบบนาย B เหมือนกัน เพราะอย่างน้อยเขาก็ไม่ได้หนีไปไหน และรู้ว่าเขาก็กำลังพยายามหาทางออก แค่ช่วงนี้สิ่งที่วางแผนไว้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิดเท่านั้นเอง
การ เจรจาลดดอกเบี้ย จะช่วยทำให้ความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นน้อยลงได้ สิ่งที่พี่ทุยอยากบอกก็คือ เวลามีปัญหาใด ๆ เราทุกคนสามารถเข้าไปเจรจากับทางเจ้าหนี้ได้
โดยปกติแล้วธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมีฝ่ายสำหรับการเจรจาต่อรองโดยเฉพาะ เตรียมไว้ให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งแน่นอนว่าผลของการเจรจาจะช่วยทำให้สามารถบริหารเงินได้คล่องตัวมากขึ้น ถึงแม้ว่าผลของการเจรจาอาจจะออกมาได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงิน เศรษฐกิจในภาพรวม และนโยบายของสถาบันการเงิน ณ เวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น..
1. ลดดอกเบี้ย
ถ้าเราผ่อนเท่าเดิม เงินที่ผ่อนก็สามารถเอาไปโปะเงินต้นได้เร็วขึ้น ก็จะช่วยทำให้หมดหนี้เร็วขึ้น
2. ขยายระยะเวลา
อย่างเช่น จากเดิมผ่อนอยู่ 10 เดือน อาจจะขอเจรจาได้เป็นผ่อน 24-36 เดือน ก็ช่วยทำให้รายจ่ายการผ่อนต่อเดือนน้อยลง เท่ากับว่าจะเป็นภาระทางการเงินที่น้อยลงด้วย
3. หยุดชำระเงินต้นชั่วคราว
จ่ายแค่ดอกเบี้ย เป็นอีกหนึ่งทางออกที่พบเจอได้บ่อยมาก ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้สภาพคล่องกลับมาดีขึ้นเช่นกัน
4. หยุดจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราว
ในช่วงโควิด–19 ที่ผ่านมาก็ใช้วิธีการนี้เยอะเหมือนกัน แต่พี่ทุยต้องบอกกับทุกคนก่อนว่า กรณีนี้ดอกเบี้ยก็ยังถูกคิดอยู่ทุกวัน อันนี้ต้องระวังด้วย ถ้าหากสภาพคล่องกลับมาปกติเมื่อไหร่ก็ควรรีบกลับไปจ่ายเพื่อไม่ให้ก้อนหนี้พอกพูนขึ้นในระยะยาว
สุดท้ายแล้วผลของการ เจรจาลดดอกเบี้ย จะออกมาเป็นแบบไหน พี่ทุยก็ยังเชื่อว่ายังไงก็ดีกว่าปล่อยเบลอ ไม่สนใจมันแน่นอน และอย่างน้อย ๆ ก็น่าจะได้สภาพคล่องกลับคืนมาสัก 3-6 เดือน เพียงเท่านี้ก็ช่วยทำให้เราหายใจหายคอได้คล่องขึ้นแล้ว พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง เราก็จะสามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างแน่นอน