หลังจากที่เราเริ่มทำ “บัญชีรายรับ-รายจ่าย” พร้อมลองทำ “ประมาณการณ์ล่วงหน้า 6-12 เดือน” กันเรียบร้อยแล้ว พี่ทุยเชื่อว่าทุกคนน่าจะต้องเริ่มเห็นรอยรั่ว หรือเห็นปัญหาอย่างชัดเจนมากขึ้น ว่ามี “รายจ่าย” รายการไหนบ้างที่หนัก เยอะ จนทำให้เราชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำให้เงินเราตึงมือ ซึ่งรายจ่ายพวกนั้นแหละที่เราจะมาจัดการ ก่อนที่เราจะมาทำ บัญชีหนี้สิน-สินทรัพย์ กันใน EP6 นี้
จุดประสงค์หลักก็เพื่อช่วยทำให้รายได้กลับมามากกว่ารายจ่าย ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กลับมาเป็นบวก แก้สถานการณ์ให้กลับมาปกติได้ หรืออย่างน้อยก็ควรทำให้สภาพคล่องของเราติดลบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากบัญชีรายรับรายจ่ายที่เราจำเป็นต้องเร่งจัดการแล้ว ก็ยังมีอีก 2 บัญชีที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการหนี้ได้เป็นระบบมากขึ้น นั่นก็คือ “บัญชีหนี้สิน” และ “บัญชีสินทรัพย์”
เริ่มต้นจัดทำ “บัญชีหนี้สิน” เพื่อให้รู้สถานการณ์ปัจจุบันของหนี้ว่าเป็นอย่างไร
สำหรับการทำ “บัญชีหนี้สิน” ก็เพื่อทำให้รู้ก่อนว่า ณ เวลานี้ เรามีหนี้สินที่ตรงไหน มูลค่าเท่าไหร่ แล้ว ณ ปัจจุบันถูกคิดดอกเบี้ยอยู่ที่เท่าไหร่ มีภาระการผ่อนชำระในแต่ละงวดเป็นอย่างไร เพราะหลายครั้งปัญหาของหนี้ก็เกิดจากที่เราไม่รู้สถานะปัจจุบันของตัวเราเอง ไม่รู้ว่าตัวเองมีหนี้อยู่เท่าไหร่บ้าง ซึ่งการทำบัญชีหนี้จะช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี
โดยเวลาที่เราทำบัญชีหนี้สิน แนะนำให้บันทึกทุกอย่างแบบละเอียด โดยในแต่ละรายการต้องมีรายละเอียดดังนี้
- “ใครเป็นเจ้าหนี้” เวลาที่เราต้องเจรจา ต้องไปคุยกับใคร
- “มูลค่าเท่าไหร่” เพื่อให้รวมมูลค่าหนี้ทั้งหมดจะได้ประเมินความหนักเบาได้
- “ดอกเบี้ยเท่าไหร่” ถ้าหากต้องแก้หนี้ ต้องแก้ที่ตัวไหนก่อน ยิ่งมีดอกเบี้ยสูง ยิ่งต้องรีบจัดการ
- “ภาระการผ่อนชำระเท่าไหร่ต่อเดือน” เพื่อให้สามารถประเมินสภาพคล่องได้
จุดประสงค์ก็เพื่อให้เรารู้ว่าหนี้สินก้อนใดที่เราควรโฟกัสและเร่งจัดการให้เรียบร้อยก่อน โดยแนะนำว่าให้เริ่มจัดการกับ “หนี้ที่มีดอกเบี้ยที่สูง” ก่อนเสมอ
จัดทำ “บัญชีสินทรัพย์” เพื่อดูว่าสินทรัพย์ไหนสามารถนำมาบริหารจัดการหนี้ได้บ้าง
ส่วนการทำ “บัญชีสินทรัพย์” เพื่อให้เรารู้ว่าเรามีสินทรัพย์อยู่ที่ไหน เท่าไหร่ มีอะไรที่สามารถหมุนเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อลดภาระหนี้สินได้บ้าง เพราะต้องยอมรับว่าสินทรัพย์บางรายการไม่ได้ผลตอบแทนหรือสร้างกระแสเงินสดให้กับเรา แถมมูลค่าแต่กลับมีค่าเสื่อมลดลงทุกวัน ซึ่งสวนทางกับหนี้สินที่เติบโตผ่านดอกเบี้ยทุกวัน
ดังนั้น ถ้าหากสินทรัพย์ไหนที่ดูมีแนวโน้มไม่สร้างผลตอบแทน แถมมีมูลค่าลดลง แล้วตัวเราเองยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์นั้นในช่วงเวลานี้ การตัดสินใจ “ขาย” และนำเงินไปจัดการหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ๆ ก่อนก็จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่านั่นเอง
ยิ่งเราจัดการหนี้ เคลียร์หนี้ออกไปได้ ก็จะทำให้รายจ่ายเรื่องดอกเบี้ยลดลง ก็จะยิ่งช่วยทำให้สภาพคล่องในแต่ละเดือนเรากลับมาบวกได้ง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้การทำบัญชีสินทรัพย์ก็ยังมีข้อดีที่ทำให้เราทบทวนว่า ณ ปัจจุบัน เรามีสินทรัพย์อยู่ที่ไหนบ้าง บางครั้งเราอาจจะหลงลืมบางรายการก็เป็นได้ หรือสินทรัพย์บางรายการที่มี ราคาอาจปรับเพิ่มขึ้นจากในอดีตมาพอสมควร ในช่วงเวลานี้ก็สามารถขายเพื่อเคลียร์หนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน นั่นก็เลยเป็นเหตุว่าทำไมถึงพี่ทุยแนะนำให้ทำ บัญชีหนี้สิน-สินทรัพย์ ใน EP นี้นั่นเอง
ใน EP7 พี่ทุยจะพาไปดูกันว่า นอกจากการหา “สภาพคล่อง” ไปปิดหนี้แล้ว จริง ๆ การเข้าไปขอเจรจากับเจ้าหนี้โดยตรงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายคนไม่รู้ แล้วก็ถือว่ามีประสิทธิภาพในการบริหารหนี้อย่างมากเลยด้วย