ทำไม พีระมิดทางการเงิน ถึงเป็นหลักวางแผนการเงินระดับสากล

พีระมิดทางการเงิน ทำไมถึงเป็นหลักวางแผนการเงินระดับสากล

4 min read  

ฉบับย่อ

  • พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เป็นสิ่งที่ช่วยตอบคำถามให้กับเราได้ว่า เราควรจะซื้อสินค้าการเงินอะไรก่อนดี เริ่มต้นวางแผนจากด้านล่างขึ้นด้านบน ส่วนการวางแผนภาษี จะดูประกอบไปตลอดการวางแผนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
  • ฐานรากของสามเหลี่ยมการเงินประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs) และ การจัดการความเสี่ยง (Risk Management)
  • ต่อกันที่ส่วนถัดไป คือ Wealth Accumulation คือ ส่วนการลงทุนสำหรับเป้าหมายที่จำเป็น (Need) ของเรานั่นเอง เช่น เป้าหมายเกษียณอายุ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ตราสารทุน ตราสารหนี้ ประกันชีวิต เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ กองทุนรวมประเภทต่าง ๆ ทั้งกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม และอีกหลากหลายประเภทกองทุนรวมที่มีมากมายไปหมด รายชื่อเหล่าสินค้าการเงินแต่ละประเภทที่ยังคงมีแนวโน้มออกมาอีกเรื่อย ๆ และนับวันก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ยิ่งงงและสับสนหนักขึ้นทุกวัน จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วเราควรจะเลือกซื้ออะไรเท่าไร หรือว่าควรจะลงทุนอะไรก่อนหลัง  คำถามนี้สามารถตอบได้ทันที ถ้ารู้จักสิ่งที่เรียกว่า พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) ที่ถือเป็นหลักการการวางแผนการเงินระดับโลก

พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) คืออะไร ?

ทำไม พีระมิดทางการเงิน ถึงเป็นหลักวางแผนการเงินระดับสากล

รูปด้านบนคือ พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เป็นสิ่งที่ช่วยตอบคำถามให้กับเราได้ว่า เราควรจะซื้อสินค้าการเงินอะไรก่อนดี

การวางแผนอย่างถูกต้องนั้น เราจะเริ่มต้นวางแผนจากด้านล่างขึ้นด้านบน ส่วนการวางแผนภาษี (Tax Planning) นั้นเป็นเรืองที่เราจะดูประกอบไปตลอดการวางแผนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

เรามาเริ่มดูที่ฐานรากของสามเหลี่ยมการเงินก่อนเลย จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ก็คือ ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs) และ การจัดการความเสี่ยง (Risk Management) หรือการมีประกันที่เพียงพอนั่นเอง

ทำไม พีระมิดทางการเงิน ถึงเป็นหลักวางแผนการเงินระดับสากล

เงินก้อนแรกที่เราควรมีก็คือ ความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Needs) เราจะต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือนของรายจ่ายในแต่ละเดือนเสมอ หน้าที่ของมันก็เพื่อเอาไว้ในกรณีที่ ‘รายได้เราหยุดลง’ ไม่ว่าจะมาจากการที่เราโดนไล่ออก เศรษฐกิจไม่ดี งานไม่เข้า ออเดอร์ไม่มา หรืออะไรก็ตามที่เป็นเหตุทำให้รายได้เราไม่เข้าอย่างที่เคยเป็น การที่เรามีเงินเตรียมไว้เพื่อสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่ขาดสภาพคล่องถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก​ โดยทั่วไปแล้วก็ควรจะมีอยู่ที่ 3-6 เดือนก็เพียงพอต่อการปรับตัวของเรา

ลักษณะของเงินฉุกเฉินนั้นต้องการความคล่องตัวในการเบิกถอน ทำให้แหล่งการลงทุนหรือเก็บเงินที่แนะนำหนีไม่พ้นกองทุนรวมตลาดเงิน บัญชีออมทรัพย์ทั่วไป หรือออมทรัพย์แบบพิเศษก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ

ส่วนเรื่องเจ็บป่วย อุบัติเหตุนั้นก็เป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงหรือการมีประกันอย่างพอเพียง ตรงนี้เราจะเน้นหนักๆ กับคำว่า ‘อย่างพอเพียง’ ไม่ใช่แต่ ‘พอมี’ เพราะการป่วยหรืออุบัติเหตุในแต่ละครั้ง เราแทบจะกำหนดไม่ได้ว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไร แล้วถ้าดวงไม่ดี เกิดต้องรักษาตัวขึ้นมาจริงๆ นอกจากจะเจ็บตัวแล้วก็อย่าให้มาเจ็บถึงเงินในกระเป๋าเราเลยดีที่สุด

สำหรับการเริ่มต้นแนะนำว่าให้จัดการ 2 ส่วนนี้ให้เรียบร้อยก่อนเสมอ

ทำไม พิระมิดทางการเงิน ถึงเป็นหลักวางแผนการเงินระดับสากล

หลังจากที่เราจัดการพื้นฐานเสร็จแล้ว เราก็มาดูต่อกันที่ส่วนถัดไป คือส่วน Wealth Accumulation หรือการเก็บสะสมความมั่งคั่ง ส่วนตรงนี้เราจะเรียกแบบง่ายๆ ก็คือ ส่วนการลงทุนสำหรับเป้าหมายที่จำเป็น (Need) ของเรานั่นเอง

โดยหลักการแล้วเป้าหมายที่จำเป็นสำหรับทุกคนเลยก็คือ เป้าหมายเกษียณอายุ เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีใครสามารถทำงานไปตลอดชีวิตได้ ต้องมีช่วงที่เราวางมือจากการทำงาน แล้วก็กลับมาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ แต่ช่วงจังหวะชีวิตนั้น แม้เราไม่มีรายได้ รายจ่ายก็ยังเกิดขึ้นในทุกๆวัน

การมีแผนเกษียณก็จะสามารถช่วยให้เราเตรียมพร้อมสำหรับการไปถึงเป้าหมายเกษียณได้อย่างสมบูรณ์ แต่สำหรับใครที่มีครอบครัวและลูก การวางแผนเรื่องการศึกษาของลูกนั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เพราะปัจจุบัน ค่าเทอมก็ไม่ใช่ถูกๆ แถมยังปรับขึ้นในอัตราที่เร็วมากกว่าสินค้าอื่นๆ โดยเฉลี่ยอีกด้วย

สำหรับสินค้าการเงินที่เหมาะสำหรับการใช้เพื่อวางแผนเกษียณและแผนการศึกษาของลูก จริงๆแล้วก็มีหลากหลายตัวพอสมควร เพราะถือว่าเป็นแผนที่มีระยะค่อนข้างยาว ถ้าใครมีความรู้ในหุ้นรายตัว ก็สามารถซื้อเองได้เลย หรือถ้าไม่มีเวลาศึกษาก็ลองเริ่มต้นที่กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงระดับ 5 ขึ้นไป ตั้งแต่กองทุนรวมผสม ไปจนกองทุนรวมหุ้น หรือสามารถใช้ SSF หรือ RMF ที่เป็นสุดยอดเครื่องมือเพื่อการเกษียณโดยแท้จริงก็ได้เช่นกัน

investment

เมื่อเราจัดการฐานล่างและส่วนกลางเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถมาจัดการในส่วนต่อไป คือ Investment เพื่อลงทุนตามความต้องการ (Want) ของแต่ละคนได้แล้ว โดยเราสามารถดูที่ความถนัดของเราก่อนเลยว่าเรามีความถนัดอะไร ลงทุนอะไรเก่งก็สามารถจัดการได้ เพราะเป็นส่วนที่รับความเสี่ยงได้อย่างเต็มที่แล้ว

แต่แนะนำว่าให้ลองแบ่งเป้าหมายตรงนี้ออกเป็น 3 ส่วน ก็คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อจะได้เลือกสินค้าการเงินได้อย่างเหมาะสม

ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

จากรูปเราสามารถใช้ ‘ระยะเวลา’ เป็นตัวแบ่งคร่าวๆได้เหมือนกันว่าเราจะเอาเงินไปลงทุนที่ไหนอย่างไร โดยทั่วไปแล้วเราจะแบ่งเป้าหมายระยะสั้นตั้งแต่ 0 ถึง 3 ปี ระยะกลางเท่ากับ 3 ถึง 7 ปี และระยะยาวเท่ากับ 7 ปีขึ้นไป

เราจะเริ่มเห็นภาพมากขึ้นแล้วว่าเราควรซื้อสินค้าการเงินอะไรก่อนดี ส่วนจะซื้อเท่าไรนั้น เราสามารถไปวางแผนเพิ่มเติมตามความต้องการของตัวเองได้เลย คนที่จะรู้ดีที่สุดก็คือตัวเราเองเท่านั้น บางทีการไปไล่ถามคนอื่นว่าซื้ออะไรดี ลงทุนอะไรดี อาจจะไม่ได้เหมาะสมกับตัวเราเสมอไปก็เป็นได้

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply