เคลียร์ชัด ๆ กองทุนตราสารหนี้เสี่ยงต่ำ จริงไหม?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • การลงทุนในตราสารหนี้มี ความเสี่ยง เช่นเดียวกับการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ นะ โดยความเสี่ยงหลักที่ต้องระวังเลยก็ คือ (1) ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk)
  • อีกหนึ่งความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องดูให้ดีก่อนตัดสินใจ คือ (2) ความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)
  • ขณะเดียวกันกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ย (Duration) ยาวกว่า จะมีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ยมากกว่า ก็จะทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

วันนี้พี่ทุยมีอีกหนึ่งรายการ ที่อยากให้ทุกคนไปติดตามมาแนะนำ นั่นก็คือรายการ Krungsri The COACH ที่เขาจะนำคำถามเกี่ยวกับปัญหาเรื่องของการเงินในแง่มุมต่าง ๆ มาเล่าให้ฟังกันแบบเข้าใจง่าย ๆ พร้อมพูดคุยกับโค้ชการเงินตัวจริงเสียงจริง ! พี่ทุยไปฟังตอนล่าสุดมา EP. 50 เรื่อง เคลียร์ชัดๆ กองทุนตราสารหนี้เสี่ยงต่ำ จริงไหม?

พี่ทุยคิดว่าดีเหมือนกันนะ เพราะ หนึ่งในการลงทุนที่ได้รับความนิยมและมีความเข้าใจผิดมากตัวหนึ่งเลยก็คือ “ตราสารหนี้” นี่แหละ 

บางคนคิดว่าลงทุน ‘ตราสารหนี้’ ผ่านกองทุนรวมนั้นไม่มีความเสี่ยง ลง ๆ ไปเถอะ ยังไงก็ได้เงินคืน แล้วก็เลยไปลงทุนโดยมองข้ามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมไป เพราะคิดว่ายังไงก็ไม่ติดลบ

ซึ่งจริง ๆ แล้วกองทุนตราสารหนี้ก็มีหลากหลายระดับความเสี่ยงให้เลือกลงทุนตามความเหมาะสม ยิ่งผลตอบแทนมาก ความเสี่ยงก็จะมากตามไปด้วย

ตราสารหนี้คืออะไรกันแน่ ? มีความเสี่ยงอะไรที่เราต้องระวัง ? แล้วถ้าอยากลงทุนกองทุนตราสารหนี้สักกองจะเลือกแบบไหน ? พี่ทุยสรุปจาก Krungsri The COACH EP.50 มาให้เรียบร้อยแล้ว

เคลียร์ชัด ๆ กองทุนตราสารหนี้เสี่ยงต่ำ จริงไหม?

เริ่มแรกต้องบอกก่อนว่าการลงทุนในตราสารหนี้มี ความเสี่ยง เช่นเดียวกับการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ นะ โดยความเสี่ยงหลักที่ต้องระวังเลยก็ คือ (1) ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk)

เพราะถ้าพูดแบบง่าย ๆ การลงทุนตราสารหนี้ คือ การที่เราปล่อยกู้ให้ใครสักคน โดยผู้ให้เงินกู้ (ผู้ลงทุน) ก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ส่วนผู้กู้ (ผู้ออกตราสาร) ก็จะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยให้ ซึ่งส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ก็จะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป

ความเสี่ยงก็คือ ถ้าหากคนที่กู้ยืมเราไม่คืนเงินให้ เราก็มีโอกาสที่จะสูญเสียเงินต้น และดอกเบี้ยได้ ซึ่งเราสามารถดูความเสี่ยงนี้ได้ตั้งแต่ก่อนตัดสินใจลงทุน โดยดูจากความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ หรือ ผู้กู้

(1) ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk)

ซึ่งเราสามารถดูระดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ได้จากข้อมูล Credit Rating ซึ่งจะจัดทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยเขาจะแบ่งเกรดของตราสารหนี้แต่ละประเภทไว้ 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่สามารถลงทุนได้ตั้งแต่เกรด AAA ไปจนถึง BBB- จะเรียกตราสารหนี้กลุ่มนี้ว่าระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade)

และกลุ่มที่อยู่ในระดับ BB+ ลงไปจนถึง  C จะเรียกว่า ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) โดยตราสารหนี้กลุ่มนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพราะผู้ออกตราสาร มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้มากกว่า จึงต้องให้ผลตอบแทนมาเพิ่มเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่มากกว่านั่นเอง

โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น มักจะจัดอันดับในตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยดูจากหลายปัจจัย เช่น ความมั่นคงของบริษัท โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง ก็ย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่าบริษัทเล็ก ๆ ที่งบการเงินอาจจะยังไม่ได้ดีมากนัก นอกจากนี้ประเทศของบริษัทที่ออกตราสารหนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้ความเสี่ยงต่างกันด้วยเช่นกัน เพราะแต่ละประเทศ ก็มีความมั่นคงไม่เหมือนกัน 

ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond)

กองทุนรวมตราสารหนี้มีระดับความเสี่ยงไล่ไปตั้งแต่ความเสี่ยงระดับ 4 ไปจนถึงระดับ 6 โดย

ความเสี่ยงระดับที่ 4 : มีสัดส่วนการลงทุนในของตราสารหนี้กลุ่ม High Yield Bond น้อยกว่า 20%
ความเสี่ยงระดับที่ 5 : มีสัดส่วนของตราสารหนี้กลุ่ม High Yield Bond ตั้งแต่ 20% ไปจนถึง 60%
และความเสี่ยงระดับที่ 6 : มีสัดส่วนของตราสารหนี้กลุ่ม High Yield Bond มากกว่า 60% ขึ้นไป

ความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ระดับความเสี่ยงกองทุนตราสารหนี้มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น และมาพร้อมกับโอกาสของผลตอบแทนที่ไม่เท่ากันด้วย ดังนั้น เราต้องเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ของตนเองเสมอ

เคลียร์ชัด ๆ กองทุนตราสารหนี้เสี่ยงต่ำ จริงไหม?

ซึ่งนอกจากความเสี่ยงเรื่องของความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ก็ยังมีอีกหนึ่งความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องดูให้ดีก่อนตัดสินใจ คือ (2) ความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)

ยิ่งในช่วงนี้ ที่กระแสเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กองทุนตราสารหนี้หลีกเลี่ยงที่จะได้รับผลกระทบไปด้วยไม่ได้ ซึ่งพี่ทุยอาจจะขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเรื่องความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ย (Interest rate Risk) กันมากขึ้น

อย่างเช่น พี่ทุยสมมติให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3 % โดยมีตราสารหนี้ตัวหนึ่งราคา 100 บาท แล้วให้ดอกเบี้ย 3 บาททุกปี

แปลว่าตราสารหนี้ตัวนี้ให้ดอกเบี้ยที่ 3% ต่อปีเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป๊ะเลย 

แล้วสมมติดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับขึ้นจากเดิม 3% เป็น 5% สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ตราสารหนี้ที่จะออกตัวใหม่ ๆ แทนจะให้ 3% ก็จะให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หรืออาจจะที่ 5% แทน ซึ่งก็แปลว่าความต้องการของตราสารหนี้ตัวเดิมที่ให้ดอกเบี้ยที่ 3% ก็จะลดลง หรือแปลว่านักลงทุนก็จะขายตราสารหนี้ตัวเดิมในราคาที่ลดลงจากราคาตั้งต้น (น้อยกว่า 100 บาท) เพื่อให้ผู้ที่มาซื้อสนใจซื้อตราสารหนี้ตัวเดิม โดยได้ทั้งส่วนลดราคา

และดอกเบี้ย 3% โดยรวมก็ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตราสารหนี้ตัวใหม่นั่นเอง และราคาที่ลดลงก็คือ “ความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ย (Interest rate Risk)” ที่ทำให้นักลงทุนขาดทุนด้านราคานั่นเอง

เคลียร์ชัด ๆ กองทุนตราสารหนี้เสี่ยงต่ำ จริงไหม?

ขณะเดียวกันกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ย (Duration) ยาวกว่า จะมีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ยมากกว่า ก็จะทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า

ดังนั้นถ้าในช่วงที่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้น ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ลดลง ราคาของตราสารที่มี Duration ยาวก็จะปรับลดลงได้มากกว่าตราสารที่มี Duration สั้นกว่า

ซึ่งถ้ายกตัวอย่างให้เห็นชัดยิ่งขึ้นจากความเสี่ยงเรื่องนี้ก็คือ ถ้าเรามีตราสารหนี้ 2 ตัวที่ให้ดอกเบี้ยที่ 3% เท่ากัน แต่มีอายุเฉลี่ยต่างกัน เช่น 1 ปี และ 5 ปี ก็จะสรุปได้ว่าตราสารหนี้ที่มีอายุ 5 ปี ก็จะมีความผันผวนของราคากองทุนที่มากกว่า (ราคาตราสารหนี้ตัวนี้ จะเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงได้แรงกว่า) กองทุนที่มีอายุเฉลี่ย 1 ปีนั่นเอง

2) ความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)

สามารถสรุปได้ว่า ในช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น เราควรจะเลือกลงทุนกองทุนตราสารหนี้ที่อายุสั้น ๆ (อายุ <1ปี) เข้าไว้จะดีกว่า เพื่อที่เราจะได้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่จะมีการปรับตัวของราคาลงที่ไม่แรงมาก

ในทางกลับกัน ถ้าหากดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาลง ก็ควรจะเลือกลงทุนกองทุนตราสารหนี้ที่อายุที่ยาว (>1ปี) มากขึ้น เพื่อที่เราจะได้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีการปรับตัวของราคาที่เพิ่มขึ้นได้มากขึ้น

ตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ย (Duration) ยาวกว่า

โดยราคาของตราสารหนี้จะสะท้อนออกมาที่ NAV ของกองทุนรวมตราสารหนี้ทุกวันนั่นเอง 

และในกรณีของการลงทุนกับกองทุนรวมตราสารหนี้ เราสามารถดูอายุเฉลี่ยของกองทุนได้จากเอกสาร Fund Fact Sheet แล้วดูที่อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ (Duration)

การเลือกกองทุนที่มี Duration ที่เหมาะกับสถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรเข้าใจก่อนลงทุนกองทุนตราสารหนี้เช่นกัน

แต่ถ้าจะให้ง่ายกว่า เราสามารถลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคากองทุนตราสารหนี้ได้นะ จากการลงทุนได้นานขึ้น ยกตัวอย่างเช่นกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยสั้น ก็ควรลงทุนได้นาน 3 เดือนขึ้นไป ส่วนกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยกลาง-ยาว ก็ควรลงทุนนาน 1-2 ปีขึ้นไป

Krungsri The COACH

สุดท้ายแล้วไม่มีการลงทุนใด ไม่มีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงนั้น เราจะสามารถลดหรือจำกัดได้ด้วย “ความรู้” และการลงทุนอย่างถูกต้อง

สำหรับใครที่ชื่นชอบการฟังข้อมูลดี ๆ แบบนี้ พี่ทุยแนะนำรายการ Krungsri The COACH ที่ช่อง YouTube “Krungsri Simple” อีกหนึ่งช่องความรู้ที่ฟังเพลิน ๆ ทั้งสนุกและได้สาระไปปรับใช้กับการเงินตัวเองได้แน่นอน

ติดตาม Krungsri Simple บน YouTube ได้ที่ https://bit.ly/Moneybuffalo 

*ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
บทความนี้เป็นบทความ Advertorial