ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ เลือกจะถือครองไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศ นอกเหนือจากเงินตราสกุลต่าง ๆ และบางประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากด้วย แล้วทำไมธนาคารกลางต้องถือ ทองคำสำรอง เพิ่มขึ้น และประเทศไหนถือครองเยอะบ้างในปี 2023 วันนี้ พี่ทุยจะชวนทุกคนมาพูดคุยเรื่องนี้กัน
ก่อนอื่นพี่ทุยขอเล่าว่า ถ้าไปดูความต้องการทองคำโดยรวมของตลาดโลกแล้ว มีถึง 1 ใน 5 ทีเดียวที่เป็นความต้องการจากธนาคารกลาง ดังนั้นจะเรียกว่าเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดด้วยก็คงจะได้
ในปี 2022 นั้น ความต้องการทองคำของธนาคารกลางดูเหมือนจะพุ่งขึ้นรวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่ปี 1967 หรือในรอบ 55 ปีนั่นเอง ส่วนในปี 2023 นั้น เปิดมาไตรมาสแรก ความต้องการก็พุ่งแรงทะลุกราฟเช่นกัน
ถ้าดูจากตารางข้อมูล จะเห็นได้ว่า ความต้องการทองคำที่มาจากธนาคารกลางและสถาบันอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ความต้องการทองคำจากบางภาคส่วนลดลงด้วยซ้ำ
คราวนี้ มาดูกันว่า มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ ธนาคารกลางต้องถือครองทองคำ เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
ธนาคารกลางทั่วโลกมี ทองคำสำรอง เพื่ออะไร
พี่ทุยขออธิบายอย่างนี้ว่า ธนาคารกลางของทุกประเทศจะต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ โดยที่ทุนสำรองตัวนี้จะถูกนำมาใช้ในยามจำเป็น เช่น เอามาชดเชยการขาดดุลการชำระเงินหรือใช้เวลาที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน เพื่อดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
ในทุนสำรองนี้ ก็จะมีสินทรัพย์ต่างประเทศอยู่ โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุไว้ว่า เงินสำรองระหว่างประเทศ จะประกอบด้วย ทองคำ สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights : SDR) สินทรัพย์ที่ต้องส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
ทองคำเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยมีเหตุผลที่ธนาคารกลางต่าง ๆ เลือกเก็บทองคำ ดังนี้
1. สร้างสมดุลในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
ธนาคารกลางจะถือครองทองคำ เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการถือครองสกุลเงินต่าง ๆ โดยการถือครองทองคำทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ และทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิตหรือความเสี่ยงจากคู่ค้า จึงเป็นแหล่งทุนสำรองที่ได้รับความเชื่อถือจากประเทศต่าง ๆ
2. ป้องกันความเสี่ยงจากสกุลเงินท้องถิ่น
ทองคำสามารถป้องกันความเสี่ยงจากมูลค่าสกุลเงินท้องถิ่นที่ถืออยู่ลดลงไป จากอำนาจซื้อที่ลดลงในช่วงที่เงินเฟ้อได้
3. ช่วยกระจายพอร์ตการลงทุน
ทองคำมีความสัมพันธ์เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีไว้ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ในช่วงที่เงินดอลลาร์อ่อนค่า ราคาทองคำจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นจึงช่วยปกป้องธนาคารกลาง ในการเผชิญกับความผันผวนของทุนสำรองระหว่างประเทศได้
ช่วงไหนบ้างที่ธนาคารกลางลดหรือเพิ่มการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
ช่วงปี 1990s-2000s ธนาคารกลางลดการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
เหตุผล
- เศรษฐกิจมหภาคไปได้สวย
- ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับลดลง
ช่วงปี 2010 ธนาคารกลางเพิ่มการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง
เหตุผล
- เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 1997 และเกิดวิกฤตการเงินโลกในช่วงปี 2007-2008 ทำให้ธนาคารกลางเปลี่ยนมุมมองต้องการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น โดยกลุ่มตลาดเกิดใหม่เป็นกลุ่มที่ซื้อทองคำเข้าไปอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากที่สุด
- ประเทศที่มีความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ ได้แก่ รัสเซีย และจีน ที่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ
ปี 2022 ธนาคารกลางแห่ซื้อสะสม ทองคำสำรอง มากแค่ไหน
อย่างที่พี่ทุยบอกไปตอนแรกว่า ปี 2022 ความต้องการทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่มาจากธนาคารกลางนั้นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 55 ปี คราวนี้ มาเจาะลึกกันดีกว่าว่า ที่พุ่งสูงนั้น สูงขนาดไหน
เว็บไซต์ World Economic Forum (weforum.org) ให้ข้อมูลว่า ปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางซื้อทองคำถึง 1,136 ตัน มูลค่าประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์ เป็นผลจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแรงในหลายประเทศ เช่น ตุรกี ที่เจอสถานการณ์ เงินเฟ้อพุ่งขึ้น 86% ในเดือน ต.ค. 2022 จึงทำให้ตุรกีตุนทองคำเข้าไปในทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 148 ตัน
ส่วนจีน ก็เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ที่สะสมทองคำเพิ่มถึง 62 ตัน ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2022 จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันยังมียอดการซื้อทองคำของธนาคารกลางที่ยังไม่ได้รายงานในปี 2022 อีกถึง 741 ตัน ซึ่งคาดว่าจะมาจากจีนและรัสเซีย ที่ต้องการลดค่าของเงินดอลลาร์ในการค้าโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฝั่งตะวันตกคว่ำบาตร
10 อันดับประเทศที่ซื้อทองคำเข้าไปอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุด ช่วงปี 1990-2021
10 อันดับประเทศที่ซื้อทองคำเข้าไปอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุด ปี 2022
คราวนี้มาดูของสด ๆ ใหม่ ๆ ปี 2023 ว่า หลังจากที่ซื้อทองเข้ามาในทุนสำรองเพิ่มขึ้นกันขนาดนี้ ใครกันแน่มีทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก
10 อันดับประเทศที่มีทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก ไตรมาสแรกปี 2023
พี่ทุยต้องบอกว่า จากการที่ธนาคารกลางต่าง ๆ ในโลก ถือทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันราคาทองคำให้ขยับขึ้นได้รวดเร็ว นอกเหนือจากปัจจัยด้านความต้องการของส่วนอื่น ๆ และฝั่งอุปทาน
ขณะที่ ข่าวคราวความวุ่นวายของวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น และโอกาสที่จะเกิดวิกฤตหนี้ ซึ่งคุกรุ่นอยู่นับตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. 2023 นี้ ก็เป็นส่วนสำคัญที่หนุนให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น อยู่เหนือ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์
เพราะคนส่วนมากก็ยังมองว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่มีไว้แล้วอุ่นใจดีช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจ แถมยังจัดการความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ดีด้วย เข้าตำรา มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่ ดังนั้น หากความกังวลในประเด็นเหล่านี้ยังมีอยู่ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ราคาทองคำก็มีโอกาสขยับขึ้นได้อีก แต่ในทางกลับกัน ถ้าวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ คลี่คลายได้แล้ว ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยเริ่มเบาบางลง ก็เป็นไปได้ที่ราคาทองคำจะปรับลดลงเช่นกัน
อ่านเพิ่ม