ทุนสำรองระหว่างประเทศ นั่นมีความสำคัญเป็นตัวบ่งบอกความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของประเทศนั้น ๆ มีผลต่อค่าเงินของสกุลต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งในช่วงปี 2023 ตัวเลขที่น่าสนใจหนึ่งคือ หลายประเทศทั่วโลกถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยลง เกิดอะไรกับเงินดอลาร์ เศรษฐกิจและการเมืองโลก วันนี้พี่ทุยจะมาสรุปสถานการณ์ให้ฟัง
ทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือก็คือ สินทรัพย์ต่างประเทศที่ธนาคารกลางควบคุมหรือถือครองเอาไว้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีที่จำเป็น ซึ่งก็จะมีทั้งสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ทองคำ และสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) โดยเป็นเครื่องมือที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สร้างขึ้น เป็นตะกร้าเงินตราต่างประเทศ ประกอบด้วย 5 สกุลเงินหลักของโลก คือ ดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร เยน หยวน และปอนด์
หากเปรียบกับสิ่งที่คนทั่วไปต้องมี ทุนสำรองระหว่างประเทศก็เหมือนเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ที่ต้องเตรียมให้พร้อมใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งคนทั่วไปควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน
ถ้าเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กำหนดไว้ ควรมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ที่ต้องจ่ายคืนเจ้าหนี้ต่างประเทศในไม่เกิน 1 ปีข้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 1 เท่า และควรจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศพอสำหรับจ่ายมูลค่าสินค้านำเข้าได้ ไม่น้อยกว่า 3 เดือน
สรุปสถานการณ์ ทุนสำรองระหว่างประเทศ สิ้นปี 2022
จากข้อมูลในเว็บไซต์ IMF พบว่า สิ้นปี 2022 ที่ผ่านมา โลกของเรามีสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศในทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด 11.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 9.56 แสนล้านดอลลาร์ หรือ -7.40% เทียบสิ้นปี 2021 แต่ถ้าเทียบสิ้นไตรมาสที่ 3/2022 เพิ่มขึ้น 3.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ +2.96%
พบว่า มี 149 ประเทศที่เปิดเผยรายละเอียดสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศในทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 11.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนที่เหลือเป็นข้อมูลของประเทศอื่นที่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดทุนสำรองในรายงานอีก 8.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สัดส่วนสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศของ 149 ประเทศทั่วโลก
เมื่อดูสัดส่วนของสกุลเงินต่าง ๆ ที่มีในทุนสำรองระหว่างประเทศ 149 ประเทศทั่วโลก
พี่ทุย พบว่า สกุลเงินหลัก ๆ ของโลกที่อยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ล้วนปรับลดลงสอดคล้องกับปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงไปเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2021
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นเงินสกุลหลักของโลกที่มีสัดส่วนในทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดเทียบทุกสกุล โดยอยู่ที่ 58.36% อย่างไรก็ตาม เงินสกุลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ที่ไม่ใช่เงินสกุลหลัก ก็มีแนวโน้มที่สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นในทุนสำรองระหว่างประเทศ
พี่ทุย ขอเล่าเพิ่มเติมว่า ประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มลดสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศมาพักใหญ่แล้ว
โดยถ้าเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้า เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีสัดส่วนในทุนสำรองระหว่างประเทศของโลก ประมาณ 70% แต่ตัดภาพมาตอนนี้เหลืออยู่ในระดับ 60% ก็ถือว่าลดลงไปมากทีเดียว
ถ้าไปค้นหาว่า ใครกันที่ลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศลง ก็จะพบว่า
- จีน มวยคู่เอกของสหรัฐฯ พยายามลดสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยลดการเข้าถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลง ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด เมื่อเดือน ก.พ. 2023 จีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ในสัดส่วนต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี
- ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาและตะวันออกกลาง ที่พยายามจะลดเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาพักใหญ่แล้วอย่างชิลี ที่พยายามลดสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทสมาตั้งแต่ยุคปี 1970
- เวเนซุเอล่า ที่พยายามซื้อน้ำมันด้วยเงินหยวนแทนดอลลาร์
- อิรักและลิเบีย ก็พยายามหาทางเลือกด้วยการถือเงินยูโรมากขึ้น
- ประเทศในอาเซียนเองก็เช่นกัน เมื่อเดือน มี.ค. 2023 ก็เคยมีการประชุมร่วมกันของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของอาเซียน เกี่ยวกับแนวทางลดการเชื่อมโยงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เยน และยูโร และมีความพยายามจะส่งเสริมการทำธุรกรรมระหว่างกันด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น
สำหรับปี 2022 นั้น พี่ทุย ต้องบอกว่า ตัวแปรที่มีผลกับการถือครองเงินตราต่างประเทศในทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นแตกต่างไปจากสถานการณ์ปกติพอสมควร จากที่รัสเซียโจมตียูเครน ทำให้นานาชาตินำโดยประเทศมหาอำนาจฝั่งตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย
ซึ่งก็รวมถึงการคว่ำบาตรสินทรัพย์สกุลเงินรูเบิลไปด้วย นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022 เป็นต้นมา ธนาคารกลางทั่วโลกจึงต้องทบทวนกันใหม่ว่า “ตกลงแล้วถือครองสกุลเงินไหน ถึงจะเป็นหลุมหลบภัยที่ดีได้”
ประเด็นรัสเซีย-ยูเครนนี้ไปกระทบสกุลเงินหยวนเต็ม ๆ เพราะพอประเทศต่าง ๆ เห็นว่า ฝั่งตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียได้ ก็เลยกังวลว่า “จีนจะโดนสหรัฐฯ แกงในอนาคตรึเปล่า?” จากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ของโลกนี้ ก็ไม่ได้ชื่นมื่นเท่าไหร่
ดังนั้น ก่อนหน้านี้ หลายประเทศที่ทำการค้าขายกับจีนมาโดยตลอด เล็งเห็นว่าจีนมีความสำคัญ จึงได้มีสกุลเงินหยวนอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่แล้วมุมมองนี้ก็ถูกสั่นคลอนจากเหตุการณ์รัสเซีย – ยูเครนเมื่อปี 2022
ประเทศที่ค้าขายกับจีน ก็เลยเริ่มลังเลว่า “จะถือหยวนจำนวนมากต่อไปดีหรือไม่ ?” แม้เศรษฐกิจจีนจะใหญ่ แต่ถ้าเงินหยวนโดนสหรัฐฯ แบนแบบที่รัสเซียโดน ก็อาจทำให้มูลค่าเงินหยวนในทุนสำรอง ไม่มีมูลค่าไปเลยก็ได้ ทั่วโลกจึงต่างพากันเริ่มคิดหนักกับสัดส่วนเงินหยวนที่อยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
ทั่วโลกพร้อมใจตุนทองคำเป็น ทุนสำรองระหว่างประเทศ เพิ่ม รับเงินเฟ้อ-ความเสี่ยงทางการเมือง
นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดในปี 2022 คือ สินทรัพย์สกุลเงินต่าง ๆ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ ลดลง แต่กลับพบว่า ธนาคารกลางทั่วโลก ให้ความสนใจซื้อทองคำเข้ามาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จนมีทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในรอบ 50 ปี
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะปี 2022 มีประเด็นเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ ทำให้ธนาคารกลางเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติม โดยประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน กับพันธมิตรในกลุ่มสหรัฐฯ เป็นกลุ่มที่สะสมทองคำเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ ที่ซื้อทองคำเข้าไปในทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็คือ รัสเซีย และจีน
ก็แปลว่า การเพิ่มทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศรอบปี 2022 นี้ มีเหตุผลหลักมาจาก เงินเฟ้อและการเมืองนั่นเอง
10 อันดับประเทศและเขตเศรษฐกิจที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก ณ สิ้นปี 2022
ประเทศที่มีสัดส่วนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุด
- เวเนซูเอล่า 82.96%
- โปรตุเกส 69.18%
- สหรัฐฯ 67.08%
- เยอรมนี 66.53%
- โบลิเวีย 66.04%
- อุซเบกิซสถาน 64.51%
- อิตาลี 63.63%
- ฝรั่งเศส 58.59%
- คาซัคสถาน 58.44%
- เนเธอร์แลนด์ 56.35%
เหตุผลที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีสัดส่วนสูงในทุนสำรองระหว่างประเทศ
มาถึงตรงนี้ พี่ทุยจะชวนมาคิดกันว่า แม้หลายประเทศจะมีสัดส่วนทองคำสูงขึ้นในทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมถึงพยายามเพิ่มสกุลเงินอื่นเข้ามาอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศแล้ว แต่เงินดอลลาร์สหรัฐ ก็ยังครองส่วนแบ่งสูงสุดได้
คุณสมบัติสำคัญที่ใช้พิจารณาสกุลเงินมาอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
- ระบบการเมืองของประเทศผู้ออกสกุลเงินมีความมั่นคง
- ขนาดและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศผู้ออกสกุลเงิน
- การมีส่วนร่วมในตลาดและเศรษฐกิจทั่วโลก
- ระบบมีความโปร่งใสและเปิดกว้าง
- ระบบกฎหมายมีความน่าเชื่อถือ
- คุณภาพหนี้ในประเทศ
- ความสามารถในการแบกรับต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงิน
- ขนาด ความลึก และสภาพคล่องของตลาดการเงินในประเทศผู้ออกสกุลเงิน
ถ้าดูจากคุณสมบัติทั้งหมดนี้แล้ว ก็พบว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีภาษีที่ดีในการเป็นสกุลเงินในทุนสำรองประเทศอยู่ครบถ้วน แต่ความท้าทายที่น่าจับตาก็คือ เรื่องคุณภาพหนี้ในสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มคิดทบทวนลดสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น
เนื่องจากสหรัฐฯ มีปัญหาการก่อหนี้สาธารณะชนเพดานมายาวนาน ต้องเลื่อนระยะเวลา หรืออาจจะขยายเพิ่มเพดานหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2023 นี้ เวลาที่หนี้สาธารณะจะชนเพดานก็ใกล้เข้ามาทุกที
หากสหรัฐฯ ปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็จะมีผลต่อคุณสมบัติเรื่องคุณภาพหนี้ในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งพี่ทุย มองว่า ในอนาคต ถ้าประเทศต่าง ๆ จะลดสัดส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศ เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญของการตัดสินใจ
อ่านเพิ่ม