จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เดือน ธ.ค. 2021 ปรากฎข้อความว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed บางท่านมองว่า เวลานี้เหมาะสมที่ใช้นโยบายที่เรียกว่า Quantitative Tightening (QT)
QT คืออะไร มีกลไกอย่างไร ที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นหรือไม่ และจะส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร ?
อย่างที่เรารู้กันดี การระบาดของ COVID ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และครอบคลุมที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินยุคใหม่ ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบผ่านนโยบาย Quantitative Easing (QE) จำนวนมหาศาลกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์
และวันนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวจนแข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการนโยบายการเงินบางท่านมองว่า เวลานี้เหมาะสมที่จะลดสภาพคล่องออกจากระบบ หรือที่เรียกว่า Quantitative Tightening (QT) ส่งให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาดตั้งแต่เปิดปีใหม่ 2022 เป็นต้นมา
รู้จัก Quantitative Easing (QE) สาเหตุหนึ่งที่ต้องทำ Quantitative Tightening (QT)
Quantitative Easing (QE) คือ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ธนาคารกลางจะเข้าซื้อสินทรัพย์เพื่อฉีดสภาพคล่อง (เงิน) เข้าระบบการเงิน โดยหวังผลให้มีการนำสภาพคล่องไปปล่อยกู้ยืม
ธนาคารกลางจะพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่แล้วนำไปซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์เพื่อลดอัตราผลตอบแทนระยะยาว (อัตราดอกเบี้ย) นับเป็นการเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบการเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ และหวังว่าธนาคารพาณิชย์จะนำเงินที่ได้มาไปปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตัวอย่าง เมื่อปี 2001 ธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้แนวคิดการพิมพ์เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากมิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล หลังปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนแตะ 0%
แต่ที่ผ่านก็มีอีกหลายประเทศที่ใช้นโยบาย QE เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เเต่ผลปรากฏว่า เงินที่พิมพ์เข้าระบบซึ่งหวังจะถูกใช้เพื่อปล่อยกู้ กลับถูกนำไปซื้อสินทรัพย์การเงินอย่างหุ้น จึงเห็นได้ว่าตลาดหุ้นกลับปรับตัวขึ้นทั้งที่บางครั้งเศรษฐกิจไม่ดีซะด้วยซ้ำ กำไรที่ได้จากตลาดหุ้นที่เฟิ่องฟูก็ส่งผลต่อเนื่อง (ไหล) ไปยังภาคส่วนอื่น เช่น ตราสารหนี้ อสังหาฯ และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
นโยบาย QT คืออะไร มีกลไกอย่างไร
Quantitative Tightening (QT) คือ นโยบายการเงินแบบตึงตัวที่ธนาคารกลางจะดึงเงินที่เคยอัดฉีดไปก่อนหน้านั้นออกจากระบบการเงิน ด้วยการปล่อยให้พันธบัตรที่เคยซื้อมาผ่านการใช้นโยบาย QE ครบอายุ รัฐบาลที่เปรียบเสมือนลูกหนี้ของธนาคารกลางก็ต้องจ่ายคืนเงินต้น จากนั้นธนาคารกลางก็จะไม่นำเงินจำนวนนี้ไปซื้อพันธบัตรเข้ามาใหม่ แต่จะทำให้เงินจำนวนนั้นหายไป ด้วยการลบออกจากระบบบัญชีไปเฉย ๆ เหมือนตอนพิมพ์เงินใหม่ขึ้นมาก็เสกขึ้นมาเฉย ๆ เหมือนกัน
การพิมพ์เงินขึ้นมาอย่างมี “คุณค่า” ต้องมีสินทรัพย์อย่างทุนสำรองทองคำมาค้ำประกัน เพราะถ้าพิมพ์ขึ้นมาตามใช้ชอบเงินเหล่านั้นก็จะไม่มีค่า (ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่) กลายเป็นเหมือนกระดาษธรรมดา จนเกิดเป็นวิกฤตการเงินได้เลย
อ่านเพิ่ม
…เท่ากับว่าการทำ QT ส่งผลให้เงินในระบบลดลงไป
พี่ทุยขออธิบายว่า พันธบัตรเปรียบเสมือนสัญญาการกู้ยืมเงิน การกู้ยืมเงินก็ต้องมีกำหนดวันเวลาใช้คืนหนี้สิน ดังนั้น เมื่อครบอายุของพันธบัตรก็คือการถึงเวลาที่ลูกหนี้ (รัฐบาล) ต้องจ่ายหนี้คืนเจ้าหนี้ (ธนาคารกลาง) ประมาณว่าปริมาณเงินที่ไหลเวียนในระบบก็จะลดลง
ในอดีตเคยมีการใช้นโยบาย QT หรือไม่
นโยบาย QE ใช้ครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อ 20 ปีก่อนเท่านั้นเอง ดังนั้นการใช้นโยบาย QT จึงเกิดขึ้นไม่มากนัก ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้นโยบาย QT ระหว่างปี 2006-2007 เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่ใช้ระหว่างปี 2013-2014 ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังเพิ่มสภาพคล่องสู้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ก็เริ่มลดสภาพคล่องด้วยนโยบาย QT ระหว่างปี 2018-2019 และด้วยอิทธิพลของเงินดอลลาร์ การดำเนินนโยบายดังกล่าวจึงส่งผลต่อระบบการเงินทั่วโลก และแทบจะเป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่อธิบายผลของนโยบาย QT ต่อระบบการเงินได้อย่างชัดเจน
ผลกระทบต่อระบบการเงินและตลาดหุ้น
ปลายปี 2015 ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2019 จึงเริ่มปรับลดอีกครั้ง ดังนั้นระหว่างที่ใช้นโยบาย QT ช่วงปี 2018-2019 ระบบเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจึงอาจได้รับผลกระทบจากทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการทำ QT
นโยบาย QT คือ การนำเงินที่เคยพิมพ์เพิ่มขึ้นออกจากระบบ ดังนั้นอัตราผลตอบแทนระยะยาว (อัตราดอกเบี้ย) หรือต้นทุนการเงินจึงปรับตัวขึ้น ตลอดทั้งปี 2018 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดึงสภาพคล่องออกจากระบบไปราว 400,000 ล้านดอลลาร์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นจาก 2.438% ไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.24% แน่นอนว่าเป็นผลจากทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการใช้นโยบาย QT
อัตราผลตอบแทนระยะยาวหรือต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นกดดันตลาดตราสารหนี้อย่างหนักโดยเฉพาะหุ้นกู้ที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (High Yield) ที่ราคาร่วงไม่หยุดตลอดปี การที่สภาพคล่องลดลงและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นดึงดูดให้นักลงทุนแห่ถือครองเงินสดที่เป็นสกุลดอลลาร์ เงินจึงถูกดึงออกจากตลาดทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในหลายประเทศ เช่น อาร์เจนติน่า ตุรกี ด้านตลาดหุ้นก็รับผลกระทบไม่แพ้กันในปี 2018 ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 6.24% ส่วน Set Index ปรับตัวลง 10.82%
แรงกดดันมาถึงจุดสูงสุดเมื่อดัชนี S&P 500 ร่วงถึง 9.18% ในเดือน ธ.ค. 2018 จน Fed ต้องเปลี่ยนท่าทีโดยการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ม.ค. 2019 ขณะที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องในระบบก็กดดันจนในที่สุดต้องยกเลิกการใช้นโยบาย QT เมื่อเดือน มี.ค. 2019
ผลกระทบก็ยังดำเนินต่อไป แต่เป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องที่สะท้อนผ่านการพุ่งอย่างรุนแรงของอัตราดอกเบี้ยตลาดกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน (Repo Market) จนธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน (กลับมาใช้นโยบาย QE แบบเงียบ ๆ)
เรียกได้ว่า เงินจากนโยบาย QE ซึ่งถูกนำไปซื้อสินทรัพย์การเงินแทนที่จะปล่อยกู้ได้ถูกดึงออก ดังนั้น จึงส่งผลกระทบอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตราสารหนี้ และเศรษฐกิจโลก
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะใช้นโยบาย QT เมื่อไร?
ณ ปัจจุบันเรายังอยู่ภายใต้นโยบาย QE ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังทยอยลดปริมาณการเพิ่มสภาพคล่อง เรียกกระบวนการนี้ว่า QE tapering และมีกำหนดการจะเสร็จสิ้นจนไม่มีการเพิ่มสภาพคล่องแล้วในเดือน มี.ค. 2022
ก่อนจะมีการใช้ QT ในปี 2018 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจคงสภาพคล่องไว้ในระบบนานกว่า 3 ปี ด้วยการนำเงินซึ่งได้จากพันธบัตรที่ครบอายุไปซื้อพันธบัตรด้วยปริมาณเท่ากันจากธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งการใช้นโยบาย QT เริ่มขึ้นภายหลังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึง 4 ครั้ง ระหว่างปี 2016-2017
ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเลยแม้แต่ครั้งเดียว จะมีก็เพียงแต่คาดการณ์ของตลาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ถึง 3 ครั้ง ดังนั้นมีโอกาสน้อยมากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำ QT ในเร็ววันนี้
อ่านเพิ่ม
นักวิเคราะห์ก็ยังมองว่า หากจะมีการทำ QT ก็คงเกิดขึ้นหลังดอกเบี้ยถูกปรับเพิ่มขึ้นแล้ว โดย Goldman Sachs คาดว่าจะเริ่มในช่วงไตรมาส 4 ปี 2022
มีปัจจัยอะไรที่จะหยุดยั้ง Fed ไม่ให้ใช้นโยบาย QT ได้บ้าง?
ต้นตอที่ก่อกำเนิดแนวคิดการใช้ QT รอบนี้ คือเงินเฟ้อ ดังนั้นหากอัตราเงินเฟ้อเริ่มคงที่หรือลดลง ไม่ว่าจะเป็นผลจากกำลังซื้อที่ลดลง การหยุดใช้นโยบาย QE หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็อาจมีผลให้มุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนไป ซึ่งย่อมลดความกังวลของตลาดการเงินการลงทุนไปด้วยเช่นกัน
ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะใช้นโยบาย QT คงยังไม่มีใครตอบได้ 100% และแม้จะส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นแต่ถ้าสามารถหาบริษัทที่มีผลประกอบการเติบโตโดดเด่น พี่ทุยก็คาดว่า ราคาหุ้นบริษัทเหล่านั้นจะปรับตัวขึ้นสวนแนวโน้มตลาดหุ้นโดยรวมได้อย่างแน่นอน