Fed เตรียมขึ้น “ดอกเบี้ย” ปี 2022 เเล้วเราควรลงทุนอะไรดี ?

Fed เตรียมขึ้น “ดอกเบี้ย” ปี 2022 เเล้วเราควรลงทุนอะไรดี ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% ปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรและ MBS ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ไปที่เดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์
  • ประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อสำหรับปี 2022 ถูกปรับเพิ่ม เช่นเดียวกับมุมมองอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการที่มองว่าปี 2022 ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง โดยรวมแล้วการประชุมครั้งนี้ Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) อย่างมาก
  • หุ้นเติบโต ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาและ REITs ได้รับผลกระทบจาการขึ้นดอกเบี้ย ส่วนหุ้นการเงิน หุ้นบริษัทสินค้าฟุ่มเฟือย ค่าเงินดอลลาร์กลับได้ผลดีจากการขึ้นดอกเบี้ย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ปัญหากำลังผลิตไม่เพียงพอในปี 2021 ยืดเยื้อจนในที่สุดนักลงทุนก็คาดว่าธนาคารกลางต้องใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อชะลอเงินเฟ้อ เช่น ลดการเพิ่มสภาพคล่อง, ปรับขึ้นอัตรา “ดอกเบี้ย” นักลงทุนทั่วโลกจึงจับตาท่าทีจากการประชุมประจำเดือน ธ.ค. 2021 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งมีอิทธิพลต่อโลกการเงินมากที่สุด

ในที่สุดการประชุมก็เสร็จสิ้น บทความนี้พี่ทุยจะมาสรุปผลการประชุมและวิเคราะห์ผลต่อสินทรัพย์ต่าง ๆ

ผลการประชุม

คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% พร้อมปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรและ MBS ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ไปที่เดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อหยุดยั้งอัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นมาอย่างร้อนแรง

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2022 ร้อนแรงต่อเนื่อง

การปรับลดวงเงินครั้งนี้เพิ่มขึ้นจากกำหนดการเดิมที่ 15,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน มาที่เดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้การทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นี้เสร็จสิ้นในเดือน มี.ค. ปี 2022 หรือพูดง่าย ๆ หลังจากเดือน มี.ค. ปี 2022 จะไม่มีการพิมพ์เงินเข้าตลาดอีกแล้ว

การประชุมครั้งนี้ Fed เปิดเผยประมาณการด้านเศรษฐกิจของปี 2022 พบว่ามีการเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) จาก 3.8% มาที่ 4.0% เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานที่ถูกคาดการณ์ไว้ที่ 3.5% ลดลงจากประมาณการเมื่อเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 3.8% สะท้อนชัดว่า Fed มองเศรษฐกิจปี 2022 เติบโตดีกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด

ด้านประมาณการอัตราเงินเฟ้อ (PCE) ของปี 2022 ถูกปรับเพิ่มจาก 2.2% มาที่ 2.6% เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งเป็นการคิดเงินเฟ้อแบบไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร ก็เพิ่มจาก 2.3% มาที่ 2.7% สะท้อนชัดว่าปี 2022 เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงและสอดคล้องกับการนำประโยคที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ออกจากแถลงการณ์ และแทนที่ด้วยการบอกว่าอัตราเงินเฟ้อสูงเกินเป้าหมายที่ 2% เป็นบางครั้ง

ปี 2022 อาจขึ้น “ดอกเบี้ย” ถึง 3 ครั้ง

นอกจากประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจแล้วยังมีการเปิดเผยมุมมองอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการซึ่งนำเสนอในรูปแบบ Dot plot พบว่าคณะกรรมการต่างมองว่าปี 2022 จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง เพื่อเป็นอีกเครื่องมือชะลออัตราเงินเฟ้อ

Fed เตรียมขึ้น “ดอกเบี้ย” ปี 2022 เเล้วเราควรลงทุนอะไรดี ?

การปรับลดวงเงิน QE และมุมมองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งภายในปีเดียว นับว่า Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) อย่างมาก ซึ่งโดยปกติแล้วตลาดหุ้นต้องกังวลจนปรับตัวอย่างหนัก แต่กลับกลายเป็นว่าตลาดหุ้นพลิกกลับปิดตลาดในแดนบวกโดยเฉพาะหุ้น Growth ที่ไม่ชอบการขึ้นดอกเบี้ย

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ?

เดือน ต.ค. ปี 2021 หลังเริ่มชะลอได้ไม่กี่เดือนอัตราเงินเฟ้อก็กลับมาเพิ่มอีกครั้งจนนักลงทุนต่างกังวลว่าจะเป็นเหตุให้ Fed เดินหน้าปรับลด QE เพิ่มพร้อมขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดการเดิม คือปี 2023 แต่เงินเฟ้อไม่มีท่าทีจะลดลงเลยตั้งแต่เดือน ต.ค. จนถึงต้นเดือน ธ.ค. 2021 ในที่สุดนักลงทุนก็เชื่อว่า Fed จะประกาศลดวงเงินเพิ่มเป็น 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน และยังมีมุมมองว่าปี 2022 Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง ซึ่งสะท้อนผ่านทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และ Fed fund futures

…ดังนั้นพี่ทุยขอตอบว่าการตัดสินใจของ Fed รอบนี้เป็นสิ่งที่ตลาดคิดไว้แล้ว

มากกว่านั้นนักลงทุนกลับมองว่าการปรับเพิ่มอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2022 จาก 3.8% มาที่ 4.0% พร้อมอัตราการว่างงานที่ถูกปรับลดมาที่ 3.5% ก็เป็นการยืนยันว่าปีหน้าแม้จะมีเงินเฟ้อแต่เศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่ง

เรียกได้ว่าเงินเฟ้อก็มา QE ต้องลด ดอกเบี้ยอาจต้องขึ้น อย่างน้อยก็เกิดขึ้นตอนที่เศรษฐกิจเติบโต

ในที่สุดตลาดก็หันมาสนใจสิ่งที่ควรสนใจ

การไม่มีนโยบายการเงินอันแสนผ่อนคลายมาคอยสนับสนุน หลังจากนี้เราจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญกับผลประกอบการ การเติบโตของรายได้และกำไร รวมไปถึงมูลค่าที่เหมาะสมกับราคาที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้น

ท่าทีแข็งกร้าวแต่เป็นมิตร

แม้ Fed จะส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) แต่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวในการให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่าคณะกรรมการต้องการใช้นโยบายตึงตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และย้ำอีกครั้งว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นหลังลด QE เรียบร้อยแล้ว ไม่เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างที่ตลาดเริ่มกังวล

พี่ทุยมองว่าหลังต้องเผชิญความไม่แน่นอนมาตลอดในที่สุด Fed ก็เผยท่าทีแข็งกร้าวเพื่อหยุดยั้งเงินเฟ้อมากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วและเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ จึงไม่น่ามีอะไรที่น่ากังวลไปมากกว่านี้แล้ว

ทีนี้พี่ทุยขอพาไปดูผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อแต่ละสินทรัพย์กันหน่อยว่าเป็นอย่างไร?

กลุ่มที่ถูกกดดันจากการขึ้น “ดอกเบี้ย”

  • หุ้นเติบโต (Growth Stock)

มีความอ่อนไหวต่อดอกเบี้ยมากที่สุด การขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลเสีย แต่การเติบโตที่โดดเด่นทำให้ได้รับผลเสียไม่มากเนื่องจากหลังจากนี้ตลาดหันมาสนใจผลประกอบการมากขึ้น

  • ตราสารหนี้

การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลเสียต่อตราสารหนี้ แต่ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นรับ (ข่าว) มุมมองการขึ้นดอกเบี้ยมาตลอด หากมีการขึ้นจริงอาจส่งผลเสียไม่มาก

  • กองทุนอสังหาฯ และ REITs

การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลกระทบเชิงลบเพราะตลาดจะเทียบอัตราการปันผลกับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ตราสารหนี้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า

กลุ่มที่รับผลดีจากการขึ้น “ดอกเบี้ย”

  • หุ้นการเงิน (Financial Stock)

กลุ่มธนาคารได้ผลดีโดยตรงจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่มากขึ้น ส่วนกลุ่มประกันรับผลตอบแทนในตลาดมากขึ้นแต่จ่ายผลตอบแทนตามกรมธรรม์เท่าเดิม

  • หุ้นสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary Stock)

การขึ้นดอกเบี้ยมามักเกิดขึ้นช่วงเศรษฐกิจขยายตัว ผู้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นจึงซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น ดอกเบี้ยจึงไม่ได้มีผลโดยตรงแต่เป็นสัญญาณล่วงหน้า

  • ค่าเงินดอลลาร์

การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะดึงเม็ดเงินเข้าสู่สินทรัพย์สกุลดอลลาร์ เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้น, ตั๋วเงินคลัง เป็นผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่า

ในระยะสั้นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสินทรัพย์การเงินทุกชนิด แต่ในระยะยาวก็จะมีสินทรัพย์บางชนิดที่ได้รับผลดี อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจที่แกร่งจะช่วยลดผลกระทบ อีกทั้งการไม่มีนโยบายการเงินสนับสนุนทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจผลประกอบการมากขึ้น ดังนั้นแม้บางบริษัทจะอยู่ในกลุ่มที่รับผลเชิงลบ แต่หากผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องก็ช่วยหักล้างผลเสียจากดอกเบี้ยได้เช่นกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย