เงินเฟ้อของ “เยอรมนี” สูงสุดในรอบ 29 ปี พุ่งขึ้นไปแตะที่ 5.2% สาเหตุหลักมาจากนโยบายทางการเงินของ ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0% เหมือนเดิม จากความกังวลของสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศต่าง ๆ ในพื้นที่ Euro Zone ทำให้หลายคนเริ่มออกมากังวลเกี่ยวกับ Hyperinflation ว่าทางเยอรมันจะเกิดเหตุซ้ำรอยกับในอดีตหรือไม่
Hyperinflation คืออะไร?
Hyperinflation คือเหตุการณ์ที่เกิด “ภาวะเงินเฟ้อที่สูงมาก ๆ” (Inflation คือ ภาวะเงินเฟ้อ) สิ่งของที่ใช้ในการดำรงชีพต่างมูลค่าเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จนเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนกันอยู่ทุกวันด้อยค่าและแทบจะไม่เหลือค่าในที่สุด ในอดีตนั้น เยอรมนีเองเคยเกิด Hyperinflation ขึ้นในช่วงปี 1923
ในปี 1922 ธนบัตรที่มูลค่าสูงสุดนั้นมีมูลค่า 50,000 มาร์ค แต่ที่น่าทึ่งคือเพียงหนึ่งปีเท่านั้นได้มีการผลิตธนบัตรใหม่ขึ้นในปี 1923 ที่มีมูลค่าสูงสุดถึง 100,000,000,000,000 มาร์ค (หนึ่งร้อยล้านล้านมาร์ค) ซึ่งในสมัยนั้น 1 ดอลลาร์ สามารถแลกเงินได้สูงถึง 4,200,000,000,000 มาร์ค (สี่ล้านสองล้านมาร์ค)
ซึ่งหากย้อนกลับไปอีก เราจะเห็นได้ว่าในปี 1914 อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับ 4.2 มาร์คเท่านั้น นั่นหมายความว่าเงินมาร์คในเยอรมนีนั้นด้อยค่าถึง 1,000,000,000,000 เท่าในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น
ซึ่งเงินเฟ้อโตอย่างรุนแรงหนัก ๆ ในช่วงปี 1923 ที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงเกือบ 300 เท่าเลยทีเดียว จนถึงขั้นที่คนใช้เงินมาเป็นเชื้อเพลิงแทนการนำไปแลกสิ่งของ เพราะมูลค่าธนบัตรนั้นถูกกว่าราคาถ่านที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเสียด้วยซ้ำ
ทำไม “เยอรมนี” ถึงเกิด Hyperinflation เมื่อปี 1923
ในช่วงปี 1923 จากกราฟจะเห็นได้ว่าราคาทอง 1 ออนซ์มีราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับเงิน “มาร์คเยอรมัน” หลังจากที่เกิด Hyperinflation ขึ้น เนื่องมาจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนี เป็นหนึ่งในผู้แพ้สงครามและจากสนธิสัญญา Treaty of Versailles ที่ระบุให้ เยอรมนีชำระค่าปฏิกรรมสงครามเป็นมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่กลับส่งผลกระทบให้เยอรมนีระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก
เศรษฐกิจและอุตสากรรมของเยอรมนี ถูกกดดันจนทำให้เยอรมนีตัดสินใจพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังให้ทุกอย่างจะสามารถเดินหน้าและฟื้นกลับมาได้ ซึ่งปกติแล้วเวลาประเทศใดจะผลิตหรือพิมพ์เงินออกมานั้น จะต้องนำสินทรัพย์มาค้ำประกัน เพื่อใช้เป็นตัวแทนของเงินที่ผลิตว่า “มีคุณค่าเเละแหล่งที่มา” สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นทองได้
แต่พอสมัยนั้น เยอรมนีดื้อผลิตเงินออกมาบวกกับสถานการณ์ที่รัฐบาลเยอรมนีขาดความน่าเชื่อถือต่อการแก้ปัญหาทั้งสังคม เศรษฐกิจ เเละระหว่างประเทศ การผลิตเงินดังกล่าวจึงกลับส่งผลตรงกันข้าม กลายเป็นว่า “ค่าเงินมาร์คมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง” ถึงขั้นที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก ๆ วัน จนเรียกได้เลยว่า “ค่าเงินมาร์คแทบจะไร้คุณค่า” อีกต่อไป
ซึ่งจุดนี้เองทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ไปอีกหลายปี เป็นจุดเริ่มต้นของการล้มล้างรัฐบาลและนำพาไปสู่จุดเริ่มต้นของชนวนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยชายที่ชื่อ Adolf Hitler
นโยบายการเงินเกี่ยวข้องยังไงกับภาวะเงินเฟ้อ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “ธนาคารกลาง” ที่จะมีหน้าที่ออกนโยบายได้อย่างอิสระไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล โดยมีเป้าหมายหลัก คือการควบคุมนโยบายการเงิน กำหนดอัตราดอกเบี้ย ควบคุมปริมาณเงินของประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเฝ้าระวังการเกิดเงินเฟ้อ
จากที่หน้าที่ของธนาคารกลางที่คอยควบคุมอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น หากธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยต่ำจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต้นทุนการกู้ยืมต่ำคนจะกู้ยืมมากขึ้นเศรษฐกิจจะเติบโต แต่ว่าการที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น อาจส่งผลให้เงินเฟ้อมากขึ้นได้ด้วย
ส่วนนโยบายการเพิ่มดอกเบี้ยจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และจุดนี้เองก็จะทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน ดังนั้น การออกนโยบายของธนาคารกลางคือพยายามช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจไม่ให้มากจนเกินไปจนเกิดเงินเฟ้อ
ภาวะเงินเฟ้อ 2021 กับนโยบายการเงินของ ECB
เยอรมนีเป็นประเทศที่มีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เพราะจากเหตุการณ์ในอดีตที่เยอรมนีเคยประสบกับ Hyperinflation เมื่อปี 1923 ทำให้กลายเป็นประเทศที่กลัวภาวะเงินเฟ้อและ Hyperinflation อย่างมาก แต่ด้วย “นโยบายทางการเงินของเยอรมนีในปัจจุบันขึ้นอยู่กับ ECB” โดยมีสกุลเงินหลัก คือ ยูโร (Euro) ทำให้เวลา ECB จะออกนโยบายทางการเงินแต่ละที ก็ต้องคิดครอบคลุมถึง 19 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยกัน ไม่ได้เจาะจงปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง เเต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น แต่ละประเทศก็มีสถานการทางการเงินและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
โดยนโยบายการเงินของ ECB ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้อยู่ที่ 0% เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศในกลุ่มยุโรป แต่การกระตุ้นแบบนี้นั้นสิ่งที่ต้องระวัง คือ อัตราเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่ง ECB เองมีหน้าที่ควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อนั้นไม่สูงจนเกินไป ขณะเดียวกันนั้นเอง ณ เดือน พ.ย. 2021 ตัวเลขเงินเฟ้อของเยอรมนีเองโดดขึ้นไปสูงถึง 5.2% ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 29 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว
ส่วนทางด้านตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซน (Euro Zone) เองในช่วงเดือน ก.พ. 2021 อยู่ที่ 0.9% ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนอยู่ที่ประมาณ 4.9% ในช่วงเดือน พ.ย. 2021 เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ประเทศเริ่มกังวล โดยเฉพาะเยอรมนีที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ
ทั้งนี้ ECB จะมีการประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2021 นี้ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองเพราะสัญญาเงินเฟ้อในปัจจุบันของยูโรโซนเองก็เริ่มไม่ค่อยดีแล้ว
ความเเตกต่างระหว่างภาวะเงินเฟ้อของ “เยอรมนี” ปี 1923 กับปี 2021
ถึงแม้ในปัจจุบันจะไม่ได้มีการผลิตเงินแล้วแจกจ่ายแบบไม่รอบคอบเหมือนอดีต แต่ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำและตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ECB ไม่ได้ออกนโยบายทางการเงินตามสภาพเศรษฐกิจของเยอรมนีโดยตรง ก็มีเเนวโน้มที่สถานการณ์เงินเฟ้อจะแย่ลงไปเรื่อย ๆ หากไม่มีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นค่าเงินยูโร ที่ได้รับการเชื่อถือจากหลายประเทศ ก็อาจถูกลดความน่าเชื่อถือและด้อยค่าลง จนสะสมปัญหาและกลายเป็นวิกฤตทางการเงินอีกครั้งได้เช่นกันได้