“ศรีลังกา” เงินเฟ้อพุ่ง 17.5% เกิดวิกฤตอะไร แล้วกระทบอะไรกับไทยบ้าง ?

“ศรีลังกา” เงินเฟ้อพุ่ง 17.5% เกิดวิกฤตอะไร แล้วกระทบอะไรกับไทยบ้าง ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • มีรากฐานมาจากการใช้เงินมือเติบมาต่อเนื่องหลายสิบปี แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระตุ้นปฏิกิริยาให้เกิดวิกฤตเร็วขึ้น โดยทำให้รายได้หลักหดหายไป จึงไม่มีเงินใช้จ่ายเท่าเดิมและต้องไปดึงเงินทุนสำรองของประเทศมาใช้จนร่อยหรอ
  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำจนต้องห้ามคนในประเทศซื้อของจากนอกประเทศ แต่ยิ่งทำกลับยิ่งแย่ เพราะนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนสินค้าในประเทศ ซ้ำร้ายมาเจอภาวะน้ำมันโลกแพงก็ยิ่งทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นที่ต้องไปขอเงินกู้จาก IMF
  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศศรีลังกาอยู่ในระดับต่ำมากเป็นประวัติการ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูง ขณะที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบทางการค้า เพราะศรีลังกาต้องลดการซื้อสินค้าต่างชาติลงเพื่อลดการรั่วไหลเงินตราต่างประเทศ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เปิดปี 2565 เป็นต้นมา หลายประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาคล้าย ๆ กันนั่นคือ ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่า “ศรีลังกา” จะอาการหนักกว่าใครเพื่อน เพราะกำลังเผชิญกับ “เงินเฟ้อ” อย่างรุนแรงโดยพุ่งขึ้นไปถึง 17.5% ในเดือน ก.พ. 2022 จากเดิม 4.2 % ในเดือน ก.พ. 2021 ซึ่งมีปัจจัยมาจากปัญหาการขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างหนัก รวมไปถึงราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ความเดือดร้อนที่แผ่ซ่านไปทั่วทั้งแผ่นดินศรีลังกาได้กลายเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่การลุกขึ้นมาประท้วงและก่อจราจลของประชาชนนับล้านจากทั่วประเทศเพื่อขับไล่รัฐบาลจากการบริหารงานเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและล้มเหลว 

ซึ่งล่าสุดผู้นำรัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวาย รวมทั้งห้ามการใช้สังคมออนไลน์ 

ถึงตรงนี้พี่ทุยเชื่อว่าหลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วไหมว่า อะไรคือที่มาของวิกฤตในครั้งนี้ พี่ทุยหาคำตอบมาให้แล้ว

“ศรีลังกา” เงินเฟ้อ 17.5 % เกิดวิกฤตอะไร

“ศรีลังกา” เงินเฟ้อพุ่ง 17.5% เกิดวิกฤตอะไร แล้วกระทบอะไรกับไทยบ้าง ?

ที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐบาลหลายชุดในอดีตต่างพากันละเลยการวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเอาไว้ 

เนื่องจากศรีลังกาประสบปัญหาการใช้เงินเกินตัวมาหลายสิบปีแล้วทั้งการขาดดุลงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งหมายรวมถึงการค้าและบริการที่เป็นฝ่ายเสียดุลเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่อยู่รอดมาได้เรื่อยมา ก็เพราะด้วยการอาศัยเครดิตเงินกู้จากต่างชาติ ผนวกกับรายได้การท่องเที่ยวที่เข้ามาที่ยังพอทำให้มีสภาพคล่องพอเอาตัวรอดไปได้

การขาดดุลงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

โควิด-19 กระทบรายได้หลัก  

แม้การก้าวขึ้นมามามีอำนาจของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชภักษา ในปลายปี 2019 จะช่วยสร้างความหวังใหม่ให้กับเศรษฐกิจศรีลังกาด้วยแนวนโยบายการลดภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน ทว่าความหวังนั้นก็พังทลายลงไม่เป็นท่าหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักในช่วงต้นปี 2020

โรคระบาดดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อรายรับของศรีลังกาเต็ม ๆ เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพาแหล่งรายได้เข้ามาไม่กี่อย่าง อาทิ การส่งออกชา สิ่งทอ ท่องเที่ยว และการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานที่ทำงานอยู่นอกประเทศ 

โดยเฉพาะการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งขุมทรัพย์สำคัญเลยทีเดียว โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาศรีลังกาสูญเสียเม็ดเงินไปมากถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.48 แสนล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19

มรสุมหลายลูกโหมกระหน่ำ

หากจะว่าไปก็คงเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดก็ว่าได้  

เพราะนอกจากศรีลังกาจะขาดแคลนรายได้หลักที่เข้ามาหล่อเลี้ยงประเทศแล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดการหารายได้ที่ลดลงโดยผลพวงจากนโยบายการลดภาษีที่เคยหาเสียงเอาไว้ 

อีกทั้ง การลดเครดิตความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลศรีลังกาลงโดยบริษัทจัดอันดับเครดิตต่างชาติก็ยิ่งทำให้รัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถระดมเงินกู้จากตลาดได้ 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีภาระหนี้สินเดิมที่เคยกู้ยืมไว้จากต่างชาติรวมกันกว่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.44 ล้านล้านบาท) ต้องเดินหน้าจ่ายคืนตามกำหนด

จึงทำให้รัฐบาลศรีลังกาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องไปควักเอาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้หนี้แทน

ผลจากความไม่สมดุลระหว่างรายจ่ายที่มาก แต่สามารถเก็บรายได้ได้น้อยนิด ทำให้ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลศรีลังกาได้ผลาญเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปแล้วมากถึง 70% โดยลดลงจาก 6.9 พันล้านดอลลาร์ (ราว 2.22 แสนล้านบาท) ในปี 2018 เหลืออยู่เพียง 2.2 พันล้านดอลลาร์ (ราว 7 หมื่นล้านบาท) ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติกาลของประเทศ 

ยิ่งแก้ ยิ่งวุ่น

แม้รัฐบาลพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เงินตราต่างประเทศที่มีอยู่รั่วไหลออกไป ทั้งการประกาศงดนำเข้าสินค้าไม่จำเป็นจากต่างประเทศ อาทิ ปุ๋ยเคมี เครื่องยนต์ และเซรามิก แต่ดูเหมือนยิ่งทำจะยิ่งแย่ลง 

เพราะยังนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นในประเทศ ซ้ำร้ายการงดนำเข้าปุ๋ยเคมีดังกล่าวยังทำให้ผลผลิตข้าวสู่ตลาดลดน้อยลงอย่างมาก

สุดท้ายก็ต้องจำยอมยกเลิกมาตรการงดนำเข้าสินค้าต่างประเทศบางส่วน โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีดังกล่าว ลดค่าเงินลง และเตรียมแบกหน้าไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทั้งที่ก่อนหน้าที่พยายามปฏิเสธมาโดยตลอด

จุดเปลี่ยนที่ทำให้รัฐบาลศรีลังกายอมขอความช่วยเหลือจาก IMF เกิดจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจากผลพวงของสงครามระว่างรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้รัฐบาลศรีลังกาแบกปัญหาไม่ไหวอีกต่อไป 

มีใครเข้าไปให้ความช่วยเหลือแล้วบ้าง

นอกจาก IMF แล้ว ศรีลังกาได้พยายามขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่น ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน  

อาทิ การทำสัญญาขอซื้อน้ำมันดีเซลด้วยเครดิตมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.6 หมื่นล้านบาท) และการนำเข้าสินค้าข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นและยารักษาโรคที่ด้วยเครดิตอีกกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) จากรัฐบาลอินเดีย รวมไปถึงการยื่นขอกู้เงินจากรัฐบาลจีนกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท) 

ผลกระทบจากวิกฤต “เงินเฟ้อ” ใน “ศรีลังกา” ต่อโลกและไทย

ผลกระทบแรกที่ทั่วโลกจะได้รับจากวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาคือ การผิดนัดชำระหนี้ ซึ่ง IMF ประเมินแล้วว่ามีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก เพราะระดับหนี้ของศรีลังกาอยู่ในระดับที่ไม่มั่นคง 

ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาที่มีอยู่ในมือกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์ (ราว 7 หมื่นล้านบาท) ก็ไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้กว่า 4 พันล้านดอลลาร์ และในจำนวนนั้นคือหนี้ที่จะต้องชำระคืนมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) ที่จะครบกำหนดชำระในเดือน ก.ค. นี้ โดยผู้ที่เป็นเจ้าหนี้คือกองทุน International sovereign bond ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย รัฐบาลญี่ปุ่น และรัฐบาลจีน    

ในส่วนของไทยนั้น แม้ว่าจะมียังไม่มีข้อมูลบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าถือครองหนี้ของรัฐบาลศรีลังกามูลค่าเท่าใด แต่ผลพวงจากวิกฤตดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าระหว่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากศรีลังกายังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือก็คงไม่มีเงินมากพอมาซื้อสินค้าจากต่างประเทศ

ปัจจุบันศรีลังกาถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 60 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้าต่อกันที่ 13,517 ล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า

สินค้าที่ไทยส่งออกไปได้แก่ ยางพารา ผ้าผืน และเครื่องจักรและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี และทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเครื่องจักรไฟฟ้า

แม้ในขณะนี้ไทยจะยังไม่ได้เป็นผู้ได้รับผลกระทบหลัก แต่การเตรียมพร้อมรับมือและเรียนรู้บทเรียนความผิดพลาดจากต่างประเทศก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเราไม่น้อยเลยทีเดียว

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย