สถานการณ์ "เงินเฟ้อ" ของ "ไทย" เป็นอย่างไร ?

สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ของ “ไทย” เป็นอย่างไร ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • เงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น แต่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น หรือการที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงปรับราคาขายสูงขึ้น 
  • เงินเฟ้อในไทยเพิ่มขึ้นในบางกลุ่มของสินค้า แต่อัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนกลับอยู่ในระดับติดลบ
  • ถ้าประเทศมหาอำนาจขึ้นดอกเบี้ย จะเป็นปัญหาถาโถมที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยย่ำแย่จากพิษเศรษฐกิจเข้าไปอีก ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากการเทขายเงินบาทเพื่อกลับไปถือเงินดอลลาร์ และกลายเป็นผลเสียกับธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

“เงินเฟ้อ” เป็นคำที่คน “ไทย” ได้ยินกันบ่อยมาก ๆ ในช่วงต้นปี 2565 นี้ ยิ่งมองไปทางไหน คนยิ่งพูดกันว่า “ของแพง” ข่าวก็ออกกันไม่ขาดสายว่า หมู ไก่ ผัก น้ำมันเชื้อเพลิง หรือสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ก็พากันขึ้นราคาไม่เว้นแต่ละวัน แล้วเมื่อราคาสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นมาแล้วจะเป็นยังไงต่อ วันนี้พี่ทุยพาไปไขปริศนาของการเกิด “เงินเฟ้อ” แล้วผลกระทบที่จะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ไปฟังกัน… 

คำนิยามของ “เงินเฟ้อ”

เงินเฟ้อ คือ สภาวะที่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เราจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง หรือที่เราพูดกันบ่อย ๆ ว่า ของแพงขึ้นนั่นเองไม่ว่าจะเป็นราคาหมู ราคาไก่ ราคาน้ำมัน ราคาผัก เป็นต้น

สามารถอ่านความหมายของเงินเฟ้อและผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่นี่

เงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากอะไร ?

1. ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation)

แต่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น เช่น ในช่วงปี 2564 ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นมากหลังเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว แต่สินค้าและบริการผลิตมาได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้จ่ายที่อัดอั้นมานาน (Revenge Spending) จากช่วงล็อกดาวน์

2. ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation) ผู้ผลิตจึงปรับราคาสูงขึ้น

เช่น ช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตแพงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นมาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ, น้ำมันดิบ, ถ่านหิน, เหล็ก และทองแดง เพราะการผลิตหยุดชะงักหรือชะลอลงไปในช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง 

ฟากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเจ้าใหญ่ของโลกก็รวมตัวกันจำกัดปริมาณการผลิตไว้ ราคาน้ำมันดิบจึงเปลี่ยนจากทำสถิติราคาต่ำสุด ช่วงปี 2563 ที่ล็อกดาวน์มาเป็นทำสถิติราคาสูงสุดในช่วงปี 2564 หลังประเทศต่าง ๆ ทยอยเปิดเมือง 

นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นยังมาจากปัญหาอุปทานไม่เพียงพอในการผลิต (Supply Chain Disruption) โดยเฉพาะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ในการขนส่งสินค้าทำให้ราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้า และค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น เป็นเหตุให้ราคาสินค้าเพิ่มตาม ในช่วงปี 2564 

หรือจะเป็นปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ความต้องการเยอะขึ้นมากในช่วง Work From Home ก็ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่างขาดตลาด เช่น คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟนบางรุ่น เป็นต้น 

3. เงินเฟ้อจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม (Greenflation)

ที่อาจซ้ำเติมปัญหาราคาพลังงานโลกสูง เพราะ หลายประเทศตื่นตัวมากขึ้นในการปรับโครงสร้างพลังงาน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น รัฐบาลมีนโยบายให้ภาคธุรกิจลดเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าและส่งเสริมให้ใช้พลังงานสะอาด, ลดการอุดหนุนการใช้พลังงานถ่านหิน, จัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Rax), ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด หรือมีบทลงโทษธุรกิจที่ไม่ปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว 

นอกจากนี้ ธุรกิจที่หันมาลงทุนเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนา เพื่อปรับรูปแบบสู่ธุรกิจให้เป็นธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ก็จะมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ต่าง ๆ อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้ในที่สุด

Energy Transition อาจเป็นปัจจัยกระทบเงินเฟ้อในระยะยาวได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Initiatives) ภายในปี 2593 ตามที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ตกลงร่วมกันจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 เพื่อลดผลกระทบโลกร้อน ลดและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

อ่านเพิ่ม

ระบบ “เงินเฟ้อ” ใน “ไทย” เป็นอย่างไร ?

เมื่อรู้จักสาเหตุของเงินเฟ้อแล้ว พี่ทุยจะพาไปดูว่า แล้วเงินเฟ้อแบบไหนที่น่ากลัว 

หลายคนอาจจะเคยได้ยิน Inflation Targeting หรือ การกำหนดนโยบายการเงินโดยใช้กรอบของเงินเฟ้อ ซึ่งกรอบของเงินเฟ้อของไทยจะกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) อยู่ในช่วง 1-3% ต่อปี เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาในระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2565 

ซึ่งหากผู้กำหนดนโยบายสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้สามารถอยู่ในกรอบที่กำหนดได้ เงินเฟ้อก็ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะระบบเศรษฐกิจที่มี “เงินเฟ้อต่ำ ๆ” นั้นดีกว่าระบบเศรษฐกิจที่เจอปัญหาเงินฝืด เพราะว่าการที่ระบบเศรษฐกิจเกิดเงินเฟ้อ หมายความว่า “ราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น” เมื่อคนรู้ว่าสินค้ามีแนวโน้มแพงขึ้นในอนาคต เขาก็จะซื้อสินค้าทันที แทนที่จะรอเพื่อซื้อในอนาคต ทำให้ในระบบเศรษฐกิจยังเกิดการจับจ่ายใช้สอยนั่นเอง 

อีกทั้งยังทำให้ฝั่งผู้ผลิต “กล้าที่จะลงทุนเพิ่ม” ทั้งการซื้อเครื่องจักรและจ้างแรงงาน เพราะในระบบเศรษฐกิจมีความต้องการสินค้า เมื่อผลิตออกสู่ตลาด สินค้าก็ขายได้ ธุรกิจก็มีกำไร นำไปจ้างแรงงานเพิ่ม แรงงานก็จะมีรายได้ไปจับจ่ายใช้สอย เงินก็หมุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจสู่กิจการที่รับกำไรจากการค้าขายวนไป แต่ตอนนี้สถานการณ์ในไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น

สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ใน “ไทย” เป็นอย่างไร ?

ล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศของเดือน ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 2.17% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย แต่ถ้าถามว่าการเปลี่ยนแปลงราคาที่เราเจอในชีวิตประจำวันจริง ๆ เงินเฟ้อจะมากกว่าตัวเลข 2.17% ที่ประกาศออกมาซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่ากรอบเงินเฟ้อที่กำหนด 

การหาเงินเฟ้อหรือ CPI นั้น จะประมาณปริมาณสินค้าและบริการที่คน ๆ หนึ่งจะบริโภค แต่จริง ๆ แล้วคนเรามีรายได้ที่ต่างกัน ตระกร้าของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน ดังนั้น การใช้เลขเงินเฟ้อจากส่วนกลาง ก็อาจจะไม่ได้สะท้อนตัวเลขเงินเฟ้อที่แท้จริงของคนในสังคมทั้งหมดนั่นเอง 

พี่ทุยจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพใกล้ ๆ ตัว ดังนี้

  • เงินเฟ้อจากปัจจัยราคาน้ำมัน

อย่างราคาน้ำมัน ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. เพิ่มมาแล้ว 6 ครั้ง เช่น แก๊ซโซฮอล 95 ราคาเมื่อ 5 ม.ค. 65 อยู่ที่ 31.75 บาท และราคา 25 ม.ค. 65 อยู่ที่ 33.55 บาท เพิ่มมาแล้วจากต้นเดือน คิดเป็น 5.7% ซึ่งนี่เป็นการเปลี่ยนแปลงราคาภายในเดือน ม.ค. 2565 เท่านั้น 

ซึ่งราคาน้ำมันค้าปลีกอิงตามราคาน้ำมันดิบโลกอยู่แล้วที่ OPEC+ ยังคงการผลิตในปริมาณคงที่อยู่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวแพงขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ อีกทั้งน้ำมันก็เป็นทั้งปัจจัยการผลิตหลัก และปัจจัยการขนส่งหลักอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ราคาสินค้าและบริการขยับขึ้นได้ไม่มากก็น้อย 

  • เงินเฟ้อจากเนื้อหมูขาดตลาด

ช่วงเดือน ม.ค. 2565 ไทยเผชิญกับปัญหาโรคระบาดในหมูที่ควบคุมได้ยากทำให้ปริมาณเนื้อหมูขาดตลาด เนื้อหมูจึงขึ้นราคา ประกอบกับเมื่อเนื้อหมูขึ้นราคา แล้วผู้บริโภคจึงหันไปบริโภคอย่างอื่นแทน ก็ไปผลักให้สินค้าที่สามารถทดแทนเนื้อหมูได้แพงขึ้นตามไปด้วย 

และผลกระทบจากปัญหานี้ที่อาจจะคงอยู่ในระยะยาว คือ เมื่อราคาหมูหน้าเขียงลดลงแล้ว แต่ร้านค้าที่ขึ้นราคาอาหารไปก่อนหน้านี้ไม่ปรับราคาลง ภาระจะตกไปยังผู้บริโภคที่มีค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ ค่าแรงไม่ได้ปรับขึ้นเท่าค่ากินอยู่ที่แพงขึ้นทุก ๆ ปี เกิดการเรียกร้องให้ผู้ผลิตขึ้นค่าจ้าง ผู้ผลิตก็ยังต้องการรักษากำไรไว้จึงขึ้นราคาสินค้าขึ้นอีก (Wage-Price Spiral)

นี่คือหนึ่งในหลายปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญ ซึ่งนี่อาจจะเป็นต้นตอของการเกิดเงินเฟ้อจากสาเหตุของ “ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น” (Cost-Push Inflation) ผู้ผลิตจึงปรับราคาสูงขึ้น 

ผู้บริโภคสภาพคล่องต่ำจากการเกิดโรคระบาด

เมื่อมองกลับมาที่ฝั่งความต้องการผู้บริโภคในสภาวะโรคระบาดโควิด-19 ที่โลกเผชิญมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ธุรกิจบางธุรกิจชะงัก “แรงงานไม่อยู่ในสภาวะที่มีรายได้ปกติ” กำลังการบริโภคลดลง หรือ รายได้ที่มีซื้อของได้น้อยลง หรือไปเบียดเบียนการใช้จ่ายส่วนอื่น ทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้าและบริการปกติที่เคยซื้อได้ หรือซื้อได้ลดลงจากเดิม 

อีกทั้งการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในภาพรวม และต่อเนื่องมาถึงด้านการจ้างงาน รายได้ และการดำเนินชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังคงมีความกังวลต่อรายได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ส่งผลให้ประชาชนยังคงต้อง “ระมัดระวังการใช้จ่าย” จะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน 

อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากไตรมาส 3 ปี 2564 ยังคงอยู่ในระดับที่ติดลบ และถ้าให้พี่ทุยคาดเดาไตรมาส 4 ปี 2564 ก็คงซบเซาไม่แพ้กันเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะไปเป็นปัจจัยที่ทำให้ช่วงปลายปี แทนที่คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอย กลับจะซบเซาลงไม่มากก็น้อย

สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ใน “ไทย” เป็นอย่างไร

“เงินเฟ้อ” ใน “ไทย” อาจจะเกิดขึ้นไม่ถูกเวลา

จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะสรุปได้ว่าในช่วงโรคระบาดโควิด-19 “มีการจับจ่ายใช้สอยลดลงอย่างเห็นได้ชัด” ใครหลาย ๆ คนรัดเข็มขัด คุมค่าใช้จ่ายของตัวเอง 

แต่ “ราคาสินค้ากลับเพิ่มขึ้น” ซึ่งเป็นปัญหาจากฝั่งผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น, ความยืดเยื้อของปัญหา Supply Shock จากทั่วโลก, วัตถุดิบทั้งหายากและแพงขึ้นต่าง ๆ เป็นต้น 

เมื่อนำปัจจัยต่าง ๆ ในไทยมารวมเข้าด้วยกันแล้ว เราอาจจะมองว่าค่อนข้างสวนทางกันเอง เนื่องจาก เงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากฝั่งผู้บริโภค เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของความต้องการบริโภคอยู่ในระดับติดลบ แต่ข้าวของแพงขึ้นจากต้นทุนจากฝั่งผู้ผลิตเอง ดูแล้วขัดกันไปหมด จนดูเหมือนว่า เงินเฟ้อเกิดขึ้นไม่ถูกเวลาเอาเสียเลย 

แทนที่เงินเฟ้อจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว แต่กลับมาในขณะที่ภาคครัวเรือน และภาคเอกชนฟื้นตัวไม่ทันกับเงินเฟ้อที่เกิด นี่แหละความน่ากลัวที่พี่ทุยอยากชี้ให้เห็น

เพราะหากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวได้ดีเริ่มกลับมาตั้งตัวได้จากการชะงักของโอมิครอน อัตราการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างดี เงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังจะขึ้นดอกเบี้ย จะเปลี่ยนแนวโน้มดอกเบี้ยภาพรวมของโลกเป็นขาขึ้นทันที ส่งผลให้ประเทศที่กำลังพัฒนาที่เพิ่งฟื้นตัวไล่ตามไม่ทัน 

สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเกี่ยวอะไรกับเรา ? 

ถ้าหากไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะทำให้เงินลงทุนที่เคยไหลเข้าไปประเทศเกิดใหม่ จากที่สหรัฐฯ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงโควิด-19 ก่อนหน้านี้ เกิดการไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ที่ผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ นั่นคือ ไทย ไปยังประเทศที่ผลตอบแทนสูงอย่างสหรัฐฯ

เนื่องจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากการเทขายเงินบาทเพื่อกลับไปถือเงินดอลลาร์ และกลายเป็นผลเสียกับธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศได้

รวมไปถึงหากไทยขึ้นดอกเบี้ยตาม ต้นทุนทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินของธุรกิจในประเทศจะเพิ่มขึ้น เงินในระบบเศรษฐกิจที่เราต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจจะถูกดูดซับออกมา ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร  และนี่อาจจะเป็นปัญหาถาโถมทั้งขึ้นทั้งร่อง ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยย่ำแย่จากพิษทางเศรษฐกิจเข้าไปอีก 

นี่แหละคือ “ความน่ากลัวของเงินเฟ้อ” หากผู้ดำเนินนโยบายไม่สามารถควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อ หรือควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับปกติได้ เพราะไทยที่กำลังฟื้นฟูประเทศจากโรคระบาด และยังไม่กลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้สมบูรณ์เหมือนเดิม จึงทำให้สภาวะสินค้าแพงที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นน่ากลัว และอาจจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดเงินเฟ้อที่อาจจะยืดเยื้อกลายเป็นปัญหาระยะยาวได้นั่นเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย