เงินเฟ้อ สหรัฐฯ vs ไทย ทำไมของไทยถึงน่ากลัวกว่า

เงินเฟ้อ สหรัฐฯ vs ไทย ทำไมของไทยถึงน่ากลัวกว่า ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดเงินเฟ้อ โดยกลไกการเกิดเงินเฟ้อแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ความต้องการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) และต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation)
  • มาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วง lockdown แต่ขนาดที่ต่างกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อที่ต่างกัน นี่เป็นเหตุหลักให้เกิดเงินเฟ้อทั้ง 2 แบบ อยู่บนโลก ณ ขณะนี้
  • ทองคำและกองทุนอสังหาฯ และ REITs ต่างเป็นสินทรัพย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการป้องกันเงินเฟ้อ แต่ต่างก็ได้รับผลกระทบเมื่อธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยดึงดูดเม็ดเงินไปหาตราสารหนี้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ตั้งแต่ปลายปี 2021 หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาหนึ่งเหมือนกัน นั่นก็คืออัตรา “เงินเฟ้อ” พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก อย่างเช่น “สหรัฐฯ” ที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค. 2021 พุ่งถึง 7% สูงสุดในรอบ 40 ปี รวมถึง “ไทย” ที่ตั้งแต่เปิดปี 2022 ก็เจอวิกฤตราคาเนื้อหมูแพงจนดันราคาสินค้าอุปโภคอื่น ๆ แพงตามไปด้วย

ฟังเผิน ๆ ดูแล้ว วิกฤต “เงินเฟ้อ” ของ “ไทย” และ “สหรัฐฯ” ก็เหมือนจะเป็นเรื่อง “สิ่งของราคาแพงขึ้น” เช่นเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้ว สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ของไทยกับสหรัฐฯ นั้นมีความแตกต่างกันอยู่ วันนี้พี่ทุยจะแจกแจงให้ฟัง

เงินเฟ้อคืออะไร ?

คือช่วงที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับตัวสูงขึ้น มองอีกมุมหนึ่งเงินเฟ้อทำให้อำนาจซื้อของเงินลดลง อัตราเงินเฟ้อถูกวัดในหน่วยเปอร์เซ็นต์ โดยเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว (Year-over-Year, YoY) และเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-over-Month, MoM)

เช่น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 2021 อยู่ที่ 2% (YoY) และ 0.8% (MoM) หมายความว่าราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2020 และเพิ่มขึ้น 0.8% เทียบกับเดือน ธ.ค. 2019

สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อ

ปริมาณเงินในระบบ (Money supply) เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากการพิมพ์เงินแล้วส่งเข้ากระเป๋าประชาชนโดยตรงหรือเข้าระบบธนาคารพาณิชย์ให้นำไปปล่อยกู้ ผลลัพธ์ก็คือ เงินเฟ้อ ซึ่งกลไกการเกิดเงินเฟ้อแบ่งเป็น 2 แบบ

  • ความต้องการเพิ่มขึ้น (Demand-pull): ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมากกว่ากำลังการผลิต เพราะผู้บริโภคมีเงินเพิ่มขึ้นส่งให้มีความมั่นใจมากขึ้นจึงซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น
  • ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (Cost-push): ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าแรงหรือวัตถุดิบทุกชนิดในขั้นตอนการผลิต บางครั้งเงินที่เข้าระบบนั้นถูกใช้ไปเพื่อเก็งกำไรสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ เช่น น้ำมัน ส่งให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยปริยาย

ทั่วโลกกำลังเจอเงินเฟ้อที่ต่างกัน

โควิด-19 ระบาดระลอกแรก มีการ lockdown อย่างเข้มข้น ประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใช้มาตรการช่วยเหลือประชาชนด้วยการแจกเงินช่วยเหลือ ส่งผลให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นต่างมีเงินออมมากขึ้น (มากกว่าที่คาดไว้)

ในเวลาเดียวกันกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลับไม่สามารถใช้มาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วทำได้ ประชาชนจึงไม่มีเงินเก็บมากขึ้นอีกทั้งกลับกลายเป็นว่าเงินออมที่เคยมีอยู่น้อยลงไปอีก

นี่เป็นเหตุหลักให้เกิดเงินเฟ้อทั้ง 2 แบบ อยู่บนโลก ณ ขณะนี้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาต่างกันสิ้นเชิง

ความต้องการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) : สหรัฐฯ

เริ่มจากภาพรวมเศรษฐกิจก่อน เพราะถ้าเศรษฐกิจดีประชาชนก็จะมีเงินใช้ ตัวเลข GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 3 ปี 2021 ขยายตัว 2.3% ไตรมาส 2 ปี 2021 ขยายตัว 6.7% และไตรมาส 1 ปี 2021 ขยายตัว 6.4% ฟื้นจากปี 2020 ซึ่ง GDP ติดลบจาก COVID ระบาด

เงินเฟ้อ สหรัฐฯ vs ไทย ทำไมของไทยถึงน่ากลัวกว่า ?

ความมั่นใจผู้บริโภค (Consumer Confidence) เป็นสิ่งที่สะท้อนความกล้าใช้จ่าย ช่วงที่ lockdown เดือน เม.ย. และ พ.ค. ปี 2020 ตัวเลขนี้อยู่ที่ 85.7 และ 85.9 จุด ตามลำดับ ส่วนเมื่อเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ปี 2021 ฟื้นมาที่ 111.9 และ 115.8 จุด ตามลำดับ แม้จะต่ำกว่าก่อน COVID ระบาดซึ่งอยู่ที่ระดับ 125-136 จุด

แต่ตัวเลขค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ส.ค. ถึง พ.ย. 2021 ขยายตัว 0.7%, 0.7%, 1.7% และ 0.3% (MoM) ตามลำดับ มีเพียงเดือนธันวาคมที่หดตัว 1.9% (MoM) เนื่องจาก Omicron ระบาด

เงินเฟ้อ สหรัฐฯ vs ไทย ทำไมของไทยถึงน่ากลัวกว่า ?

ปี 2020 มีคนตกงานมากมายแต่ด้วยมาตรการช่วยเหลือทำให้การออมต่อ GDP อยู่ที่ 19.30% ส่วนปี 2019 อยู่ที่ 19.49% ลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID

พี่ทุยเจาะรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 2021 พบว่า ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทุกรายการนำโดยพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เคหสถาน บริการทางการแพทย์ ส่วนราคารถยนต์มือ 2 เพิ่มขึ้นถึง 37.3% (YoY) ต่างจากรถยนต์มือ 1 ที่เพิ่ม 11.8% (YoY) เป็นเพราะรถยนต์มือหนึ่ง ผลิตไม่ทัน จนผู้คนหันไปซื้อรถยนต์มือสองใช้ก่อน

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: Consumer Price Index: 2021 in review)

จะเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ประชาชนมีเงินพร้อมจ่าย เมื่อเปิดเมืองก็ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมากกว่ากำลังการผลิต ส่งให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึงทุกรายการแม้กระทั่งรถยนต์มือสอง จึงเป็นเงินเฟ้อประเภท Demand-pull

ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation) : ไทย

GDP ของไทย ไตรมาส 3 ปี 2021 หดตัว 0.3% ส่วนไตรมาส 2 ปี 2021 ขยายตัว 7.6% และไตรมาส 1 ปี 2021 หดตัว 2.6% สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปี 2020 อย่างชัดเจนเหมือนสหรัฐฯ

GDP ของไทย ไตรมาส 3 ปี 2021

ส่วนเงินออมต่อ GDP ของไทย ปี 2020 อยู่ที่ 27.75% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐฯ แต่เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 31.71% พบว่าการออมลดลงมากกว่าสหรัฐฯ ชัดเจน ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการช่วยเหลือมีขนาดเล็กกว่าสหรัฐฯ

เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี มาตรการช่วยเหลือไม่เพียงพอ ความมั่นใจของผู้บริโภค (Consumer Confidence) ร่วงหนักจาก 64.8 จุด จากเดือน มี.ค. ปี 2020 มาที่ 50.3 จุด เมื่อเดือน เม.ย. ปี 2020 ปัจจุบันความมั่นใจยังไม่เพิ่มขึ้นโดยในเดือน ธ.ค. ปี 2021 อยู่ที่ 46.2 จุด

ส่วนตัวเลขการใช้จ่าย (Private Consumption) เดือน ก.ย. ถึง พ.ย. กลับมาขยายตัว 3.9%, 1.6% และ 0.9% (MoM) ตามลำดับ หลังเปิดเมืองแต่จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ลดลง

มาถึงตรงนี้เห็นชัดเจนว่ากำลังซื้อในประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัว แต่ตลาดสินค้าเชื่อมโยงราคาถึงกันทั่วโลก ความต้องการอันมหาศาลจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ, ยุโรป จึงดันราคาสินค้าทุกชนิดเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นตามไปเช่นกัน

เงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 2021 อยู่ที่ 2.17% (YoY)

เงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 2021 อยู่ที่ 2.17% (YoY) นำโดยราคาพลังงานซึ่งก็ทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มไปด้วย ส่วนราคาผักสดก็เพิ่มแรงเช่นกัน ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในความจริงก็จะเห็นว่าเนื้อไก่และหมูที่คนไทยนิยมบริโภคนั้นขึ้นราคากันรุนแรงมาก 

อย่างไรก็ตามหมวดเคหะสถาน เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แทบไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนการใช้จ่ายที่ไม่ทั่วถึงอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

(ดูเพิ่มเติมได้ที่ : สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือน ธ.ค. 2021 โดย กระทรวงพาณิชย์)

สิ่งที่จะเห็นต่อไปคือ การขึ้นค่าแรง ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและกลับไปเพิ่มต้นทุนค่าครองชีพอีกรอบ นอกจากเงินเฟ้อที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งยังสูญเสียโอกาสแข่งขันให้กับชาติที่ต้นทุนแรงงานต่ำกว่า

จากภาพรวมที่กล่าวมาจะเห็นว่ากำลังซื้อใน “ไทย” ยังไม่ฟื้นตัว แต่เป็นเพราะราคาสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จึงเป็นต้นเหตุให้เกิดอัตรา “เงินเฟ้อ” ดังนั้นจึงเป็นประเภท Cost-Push Inflation อันเกิดจากต้นทุนเพิ่มขึ้น แตกต่างจาก “สหรัฐฯ” ที่เฟ้อเพราะคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

อ่านเพิ่ม

นโยบายแก้ปัญหาและผลที่ตามมา

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสกัดเงินเฟ้อ แต่ผลต่อเศรษฐกิจอาจมีทั้งดีและไม่ดี ถ้าเป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อแบบ Demand-Pull Inflation เศรษฐกิจเติบโตมากพอรองรับดอกเบี้ยอันเป็นต้นทุนของหนี้ที่เพิ่มขึ้นได้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็นสิ่งดีต่อเศรษฐกิจ นั่นก็คือชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่กำลังจะมากเกินไป

ส่วนประเทศที่มีเงินเฟ้อแบบ Cost-Push Inflation การแก้ปัญหาด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก เพราะเศรษฐกิจเติบโตไม่มากพอรองรับต้นทุนของหนี้ที่เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้อาจกลายเป็นเศรษฐกิจหดตัวได้เลย ดังนั้นเงินเฟ้อแบบ Cost-Push Inflation เป็นสิ่งที่ธนาคารกลางของประเทศจัดการยากและต้องใช้ความรอบคอบสูง

การลงทุนเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ

ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการป้องกันเงินเฟ้อ แต่เพราะทองคำไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย การลงทุนในทองคำจึงได้รับผลกระทบ เมื่อธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยทำให้ดึงดูดเม็ดเงินไปหาตราสารหนี้ ส่วนกองทุนอสังหาฯ และ REITs ซึ่งมีการจ่ายปันผลเป็นอีกสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันเงินเฟ้อ และจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน

เงินเฟ้อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต เพียงแต่กลไกที่ต่างกันผลลัพธ์ก็ต่างไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเงินเฟ้อแบบ Cost-Push Inflation เป็นสิ่งที่บริหารจัดการยากและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมาก ทุกคนจึงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจเพื่อรับมือและปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสม

Cost-Push Inflation

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย