“The Great Depression” เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

“The Great Depression” เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

4 min read  

ฉบับย่อ

  • “The Great Depression” หรือเศรษฐกิจ​ตกต่ำครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1929 ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป
  • “The Great Depression”​ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ ดาวโจนส์​ปรับตัวลดลง 89.2% ภายในระยะเวลา 3 ปี และไม่สามารถกลับไปยังจุดสูงสุดเดิมได้เลยจนกระทั่ง​ปี 1954
  • สาเหตุหลัก ๆ ในการเกิด “The Great Depression” สืบเนื่องมาจากการที่เพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ทหารปลดประจำการหลั่งไหลไปเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม​จนทำให้ค่าแรงตก ผลผลิตทางการเกษตรราคาต่ำและมีการปล่อยกู้มาก สุดท้ายจึงเกิดฟองสบู่แตกในทั้งระบบเศรษฐกิจ​และตลาดหุ้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกลงมาเยอะ ๆ อย่างช่วงนี้ สิ่งหนึ่งที่เหล่าเทรดเดอร์และนักลงทุน​พูดถึงกันตลอดก็คือ “The Great Depression” หรือเศรษฐกิจ​ตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นการพังทลายของระบบเศรษฐกิจ​และตลาดหุ้นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในหน้าประวัติศาสตร์​ คนรุ่นนี้คงจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับวิกฤตร้ายแรงครั้งนี้ ​เพราะเกิดขึ้นมาราวร้อยปีแล้ว ส่วนมากถ้าพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจ​ คนยุคนี้จะนึกถึงวิกฤตซับไพรม์ (Hamburger crisis) ที่เกิดขึ้น​เมื่อช่วงปลายปี 2008 แต่จากที่ได้รู้มา ขอบอกเลยว่าวิกฤตในครั้งนั้นยังรุนเเรงเทียบไม่ได้กับ The Great Depression​ เลย

ว่ากันว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตนี้นั้น ถ้าเดินสวนกับคนอเมริกัน 5 คนบนท้องถนน เราจะเจอคนตกงาน 1 คนจากใน 5 คนนั้น ​มีเรื่องเล่าว่ามีคนที่หมดตัวค่อนข้างเยอะทั้งจากตลาดหุ้นและธุรกิจจนคิดสั้นจำนวนมาก วันนี้พี่ทุยขอชวนมาทำความรู้​จักกับ The Great Depression​ กัน

วิกฤตนี้เศรษฐกิจครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 1929 ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ก่อนหน้าที่จะเกิดนั้น คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1914-1918 และหลังเกิดสงครามเราก็พอจะเดากันได้ว่าแต่ละประเทศจะอ่วมกันขนาดไหน

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิด The Great Depression

1. ค่าเเรงต่ำลง

ในตอนนั้นทหารที่ปลดประจำการจากการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีมหาศาลและหลั่งไหลเข้ามาเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม​ เป็นไปตามกฏของ อุปสงค์​-อุปทาน ที่เมื่อมีอุปทาน ซึ่งในที่นี้คือแรงงานเยอะ ค่าแรงจึงต่ำลง ซึ่งการที่ค่าเเรงต่ำนี้ถือเป็น​ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฟองสบู่แตก รายได้ของประชาชนในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ. 1925-1928 ลดลงถึง 32% ในปี ค.ศ. 1931

2. ผลผลิตทางการเกษตรราคาต่ำ

ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลีและข้าวไรน์ มีราคาตกลงมากเพราะมีการผลิตได้มากเกินความต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อุปสงค์​ที่มีต่อแรงงานลดลง และทำให้แรงงานล้นตลาดจนค่าเเรงต่ำลง หรืออาจจะเป็นเพราะการที่มีแรงงานเยอะมากเกินไป จนทำให้ได้ผลิตผลทางการเกษตรออกมามากเกินไป ราคาของผลผลิต​เหล่านั้นจึงตกลงก็เป็นได้ และทั้ง 2 ปัจจัยที่พันกันเป็นห่วงโซ่นี้ก็ทำให้เกิดปัญหาที่ 3 ตามมา

3. หนี้เสียที่เกิดจากเงินกู้

อย่างที่พี่ทุยเกริ่นไว้ในตอนแรกว่าช่วงนี้เป็นช่วงหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 ระบบเศรษฐกิจ​ของประเทศ​ต่าง ๆ ก็เลยไม่สู้ดีนัก รัฐบาลก็เลยพยายามอัดฉีดเงินเข้าระบบ​เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหว​ทางเศรษฐกิจ ​โดยการปล่อยให้กู้เงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแม้กระทั่งการกู้เงินไปซื้อเครื่องจักรทางการเกษตร ซึ่งเมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นการทำกำไรก็ยิ่งลำบากขึ้น พอผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ค่าแรงถูก แต่กู้เงินไปซื้อนู่นซื้อนี่หมด พูดง่าย ๆ ว่า รายได้ไม่สัมพันธ์​กับรายจ่าย (ดอกเบี้ยและเงินกู้)​ สุดท้ายก็เลยพังและก่อให้เกิดหนี้เสียในระบบมากมาย จนธนาคารต้องเจ๊งกันไปเป็นแถบ ๆ ตลาดหุ้นเองก็ฟองสบู่แตก และเหล่านักลงทุน​ก็โดน Force Sell กันไปมากมาย

ก่อนหน้านั้นตลาดหุ้นที่วอลล์สตรีทเฟื่องฟูมากจาก 63 จุด ในปี 1921 ก็พุ่งทะยานขึ้นเป็น 381 จุดในปี 1929 หรือ​ประมาณ​ 6 เท่าใน 8 ปี จนกระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 1929 (เรารู้จักกันในฐานะ Black Thursday)​ ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลง 11% และต่อมาไม่กี่วัน ในวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 1929 ก็ถูกเรียกว่าเป็น Black Monday เพราะตลาดปรับตัวลงอีก 12.7%

ใน 3 ปีนั้นตลาดหุ้นอเมริกาเข้าสู่สภาวะหมีเต็มตัวโดยที่มีการเด้งขึ้นมาหายใจเป็นพัก ๆ แต่โดยรวมแล้วตลาดปรับตัวลงถึง 89.2% และไม่สามารถกลับไปยืน ณ จุดสูงสุดได้เลย จนถึงปี 1954 ซึ่งในช่วง The Great Depression ระดับอัตราว่างงานอยู่ที่ 16%

นอกจากอเมริกาแล้ว ในช่วงเวลานี้เยอรมันก็อาการหนักไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ (ตอนนั้นคือสาธารณรัฐ​ Weimar หรือ ไรซ์เยอรมัน) ​เพราะเยอรมันเป็นประเทศผู้แพ้สงครามให้กับฝ่ายพันธมิตร​จึงต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์​สงครามให้แก่อังกฤษ​และฝรั่งเศสตามพันธสัญญาแวร์ซายน์ ​เป็นจำนวนเงิน 6,000 ล้านปอนด์ โดยกำหนดจ่ายเป็นรายปี ปีละ 100 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มหาศาลมาก สมัยนั้นเยอรมันจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการ “พิมพ์เงิน” ออกมา และเมื่อมีเงินหมุนเวียนในระบบมากเกินไป จึงตามมาด้วยภาวะเงินเฟ้อครั้งยิ่งใหญ่ (Hyperinflation) ถ้านึกไม่ออกว่าร้ายแรงขนาดไหนให้นึกถึงวิกฤตเวเนซุเอลา​เลย จากที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 4.2 มาร์กต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็กลายเป็น 4,210,500,000,000 มาร์กต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ในปี 1923 รัฐบาล​ถึงขนาดออกค่าเงินใหม่ที่ชื่อว่า Rentenmark ออกมา เนื่องจากสกุลเงินเดิมมีค่าไม่ต่างไปจากกระดาษ เพราะแค่จะซื้อขนมปังก้อนเดียวก็ปาไป 200,000 ล้านมาร์กแล้ว (ต้องหอบเงินเป็นถัง ๆ ไปซื้อขนมปังก้อนเดียว ฮือ)​ สุดท้ายเรื่องนี้ก็ลุกลามไปจนทำให้เกิด The Great Depression ในอเมริกา และเรื่องนี้เปิดช่องว่างให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์​ เข้ามามีบทบาทในเยอรมันและก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 ในที่สุด

“The Great Depression” เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น พี่ทุยเลยหาภาพเปรียบเทียบ (ได้มาจาก Twitter ของ John Bollinger) ​ตลาดดาวโจนส์​ตอนปี 1929 และปี 2020 จากเส้นกราฟราคาแบบเส้น (Line chart) เราจะเห็นลักษณะการเคลื่อนที่ของราคาที่คล้ายกัน แต่ในปี 1929 ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นอย่างมาก และสาเหตุการเกิดวิกฤตทั้ง 2 นี้ก็มีความแตกต่างกันมาก อัตราการว่างงานที่เรามองว่าสูงลิ่วก็ยังคงต่ำกว่าในปี 1929 แต่สิ่งที่น่ากังวลอยู่ก็คือเรื่องของ GDP ที่ยังไงปีนี้ก็คงปรับตัวลดลงทั้งโลก ตอนนี้เราคงต้องมานั่งลุ้นกันว่าวิกฤตครั้งนี้จะได้ชื่อว่าทำให้เกิด Recession (เศรษฐกิจ​ถดถอย) ​หรือ Depression ​(เศรษฐกิจ​ตกต่ำ)​ อย่าง The Great Depression หรือไม่

Recession จะเป็นภาวะเศรษฐกิจ​ถดถอย ซึ่งนักลงทุน​บางคนถึงขนาดเคยบอกว่า Recession ก็คือการปรับฐาน (Correction)​ในเศรษฐ​กิจ​ปกติ ​ส่วน Depression จะเป็นอะไรที่ร้ายเเรงกว่ามากอย่าง The Great Depression

นักลงทุน​ระดับโลกอย่าง Ray dalio และ Paul Tudor Jones ได้ออกมาให้ความเห็นว่าวิกฤตในครั้งนี้มีความคล้ายคลึงกับ The Great Depression หลายอย่างทีเดียว เช่น มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจของโลก ไม่มีนโยบายทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ​ เป็นต้น

IHS​ Market บอกว่าจะถือว่าเกิด Global Recession เมื่อ GDP ทั้งโลกมีการเติบโตต่ำกว่า 0.2% และได้คาดการณ์​ว่าในปี 2020 GDP ทั้งโลกจะอยู่ที่ 0.7% ส่วน Goldman Sachs มองโลกในแง่ดี​โดยประเมินว่าในปี 2020 นี้ GDP โลกจะอยู่ที่ 1.25% และมองว่าวิกฤตในครั้งนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ​น้อยกว่าในปี 1981-1982 และในปี 2008-2009 เสียอีก

มาลุ้นกันว่าหวยจะออกทางไหน เศรษฐกิจ​จะเป็นยังไง ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเป็นอย่างไร ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง แต่ยังไงก็ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น​ในตอนนี้ก็คงจะบันทึกอยู่ในประวัติศาสต​ร์แน่นอน ตอนนี้​เราเป็นคนในช่วงเวลาประวัติศาสตร์​กันแล้ว ดีใจกันมั้ย ? พี่ทุยคนนึงแหละไม่ดีใจเลย ฮือ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply