"วิกฤตเศรษฐกิจ" ที่รุนแรงที่สุดในเยอรมนี

“วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่รุนแรงที่สุดในเยอรมนี

 

ฉบับย่อ

  • แม้แต่ในไวมาร์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจดีที่สุด ก็ยังเคยพบเจอกับวิกฤตเงินเฟ้อรุนแรงมาก่อนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทุกอย่างถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กัน ทั้งการแพ้สงคราม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และ เศรษฐกิจที่บอบช้ำจากสงคราม
  • สนธิสัญญาแวร์ซาย เป็นสนธิสัญญาที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจของเยอรมนีย่ำแย่ลงไปอีก เพราะชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามด้วยทองคำ ที่แม้แต่ฝ่ายสหรัฐฯก็ยังมองว่าไม่ยุติธรรม
  • ในช่วงจุดที่เลวร้ายที่สุด ขนมปังก้อนนึง ราคา 3 พันล้านมาร์ก ราคาสินค้าต่างๆ ถูกปรับขึ้นทุกวันหรือ 2 วัน ร้านอาหารบางร้านถึงขนาดต้องมีคนทำหน้าที่บอกราคาอาหารใหม่ทุกๆ 30 นาที มีบางคนขนเงินจะมากินข้าว แต่ต้องย้อนกลับบ้านไปเอาเงินมาเพิ่มอีกตะกร้า เพราะราคาไม่เหมือนเมื่อวานแล้ว

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เงินเฟ้อ

หลายคนคงเข้าใจคำว่า “เงินเฟ้อ” กันอยู่แล้ว มันคือสถานการณ์ที่ เงินจำนวนเท่าเดิม แต่ซื้อของต่างๆได้น้อยลง เพราะมูลค่าของเงินลดลง สาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลงคือ “จำนวนเงิน” ทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจที่ถูกผลิตออกมามากเกินไป

ประเทศอย่างเยอรมนี ก็เคยเจอกับ “วิกฤตเศรษฐกิจ” รุนแรง

สำหรับ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ของเยอรมนี เรามาเริ่มต้นกันในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เหล่ามหาอำนาจยุโรป แข่งขันกันล่าอาณานิคมขยายดินแดนไปทั่วโลก มีมหาอำนาจนำคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และตอนนั้นเยอรมนีเองก็ต้องการช่วงชิงดินแดนเพื่อเทียบเคียงบารมีกับ อังกฤษและฝรั่งเศส จึงเกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่ตลอด

จนกระทั่งปี 1914 สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น โดยคู่สงครามหลักคือ ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายมหาอำนาจกลาง ระหว่างช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อตอนกำลังเริ่มต้น เยอรมนียกเลิก “มาตรฐานทองคำ” เพื่อพิมพ์เงินออกมาใช้จ่ายในการทำสงครามเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่มูลค่าของเงินสกุลมาร์กเริ่มค่อยๆอ่อนค่าลง

เมื่อเข้าสู่สภาวะสงครามอย่างเต็มตัว ทำให้ทรัพยากรทุกอย่างขาดแคลน ผลผลิตมวลรวมลดลง ข้าวของแพงขึ้น จนชาวเยอรมันทุกคนต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด และเก็บเงินไว้ เพื่อวันข้างหน้าที่สงบสุข เมื่อเงินไม่ถูกใช้ เศรษฐกิจฐานรากก็ฝืดเคือง เงินหมุนเวียนในระบบมีจำนวนน้อยลงมาก จนรัฐบาลต้องตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการพิมพ์เงินออกสู่ระบบอีก เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินต่อไปได้

การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด มีคนต้องตายไปเกือบ 40,000,000 ล้านคน และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลางในปี 1918 พวกสัมพันธมิตรจัดปาร์ตี้ฉลองชัยชนะกันที่ปารีส และร่วมกันร่างสนธิสัญญาสันติภาพขึ้น โดยไม่เชิญฝ่ายเยอรมันเข้าร่วม ที่พระราชวังแวร์ซาย จนเป็นที่มาของชื่อสนธิสัญญา นั่นคือ “สนธิสัญญาแวร์ซาย” (อ่านบทความ : ย้อนรอยสงครามโลก แต่ละประเทศต้องสูญเสียเงินเท่าไหร่ คลิกที่นี่) 

หลังจากสภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอด 4 ปี และค่าเงินมาร์กที่อ่อนตัวลงอย่างมาก ถูกซ้ำเติมเข้าไปอีกด้วยข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซายที่มีใจความสำคัญว่า

“เยอรมนีจะต้องถูกปลดอาวุธ ถูกริบเขตแดน รวมไปถึงต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่กลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นทองคำเป็นมูลค่า 226,000 ล้านมาร์ก”

ภายหลังในปี 1921 ถูกลดลงเหลือ 132,000 ล้านมาร์ก หรือ ราว 31,400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แม้จะถูกลดหนี้ลงแล้วกึ่งนึงแต่เงินจำนวนนี้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อนนั้น นับเป็นเงินที่มีมูลค่ามหาศาล จนสหรัฐฯที่อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรเอง ก็คัดค้าน และถอนตัวออกจากสัญญาดังกล่าว เพราะมองว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดสันติภาพขึ้น แต่กลับกันมันจะก่อให้เกิดสงครามโลกอีกครั้งต่างหาก

ความเห็นของชาวเยอรมันต่อสัญญานี้ คือ “ยอมรับไม่ได้” เป็นฝันร้ายและความอัปยศอดสูของพวกเค้า

แต่สุดท้าย ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน ทำให้จักรวรรดิเก่าต้องล่มสลายไป และสาธารณรัฐไวมาร์ถูกก่อตั้งขึ้น ทำให้รัฐบาลที่เพิ่งก่อตั้งใหม่จากการเลือกตั้ง ต้องจำยอม ลงนามเซ็นสัญญา ในสนธิสัญญาฉบับนี้ในที่สุด

พร้อมๆกับที่ความสงบกลับคืน เงินทั้งหมดที่ประชาชนชาวเยอรมันอดออมไว้ในช่วงสงคราม ก็เริ่มถูกนำออกมาใช้หมุนเวียนเงินในระบบมากขึ้นอีกครั้ง

ถึงจุดนึงเมื่อเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากสงคราม มาผนวกรวมเข้ากับหนี้สินฉับพลันจำนวนมหาศาลจากการเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ทำให้รัฐบาลไวมาร์ต้องตัดสินใจ พิมพ์เงินออกมาเพิ่มอีก เพื่อพยุงเศรษฐกิจ และเพื่อชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม

  • ปี 1919 เงิน 48 มาร์ก = 1 ดอลล่าร์
  • ต้นปี 1921 เงิน 90 มาร์ก = 1 ดอลล่าร์
  • ปลายปี 1921 เงิน 330 มาร์ก = 1 ดอลล่าร์
  • ปลายปี 1922 7,400 มาร์ก = 1 ดอลล่าร์

แม้สาธารณรัฐไวมาร์จะพิมพ์เงินออกมามากมาย แต่ก็สามารถจ่ายคืนค่าปฏิกรรมสงครามได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น ซึ่งน้อยนิดที่ว่านั่น ก็เป็นภาระหนักของเศรษฐกิจเยอรมนีแล้ว จนกระทั่งสกุลเงินมาร์กเริ่มไม่มีใครเชื่อถือ รัฐบาลต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นทรัพยากรอื่นๆ อย่าง ถ่านหิน เหล็กกล้า ทรัพย์สินทางปัญญา และผลผลิตทางการเกษตร

แถมในปี 1922 รัฐบาลไวมาร์ผิดนัดจ่ายหนี้ ฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงโกรธ และเข้ายึดเขตอุตสาหกรรมรัวร์ (Ruhr) ที่อยู่ทางตะวันตกของเยอรมัน ซึ่งนับเป็นหัวใจของแหล่งอุตสาหกรรมที่ใหญ่สุดที่สามารถสร้างงาน สร้างผลผลิตให้แก่ประเทศได้

รัฐบาลไวมาร์หลังชนฝา หมดทางเลือก จึงแก้ปัญหา ด้วยการเดินหน้าพิมพ์เงินออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของชาวเยอรมันโดยรวมนั้นย่ำแย่อย่างหนัก ไม่สามารถผลิตอะไรออกได้มาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นเหตุให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศมีปริมาณไม่สมดุลกับปริมาณเงินอันมหาศาลที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ จนเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyper Inflation)

"วิกฤตเศรษฐกิจ" ที่รุนแรงที่สุดในเยอรมนี

ที่เห็นเค้าตัดเล่นกันอยู่ นั่นคือ “เงินมาร์ก” ในปี 1922

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1923 ต้องใช้เงินถึง 4,210,500,000,000 มาร์ก จึงจะสามารถแลกได้ 1 ดอลล่าร์ มันคือ จุดที่ชาวเยอรมันต้องขนเงินไปเป็นคันรถเพื่อกินข้าวสักมื้อ

ผลกระทบของวิกฤตครั้งนี้ ชาวเยอรมันทุกคนได้รับผลกระทบ เงินมาร์กกลายเป็นของร้อนที่ไม่มีใครอยากถือไว้นาน เมื่อทุกคนได้รับเงินมา พวกเค้าจะต้องรีบนำเงินนั้นไปใช้จ่ายให้เร็วที่สุด เพราะต้องแข่งกับความเร็วของมูลค่าที่ลดลงทุกขณะ

มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า “มีเด็กคนนึง เข็นรถเข็นที่มีเงินเป็นกระตักเต็มคันรถ เพื่อมาซื้อขนมปัง เด็กคนนั้นเผลอเดินไปดูของโดยทิ้งเงินไว้กับรถเข็น กลับมาอีกที เงินยังอยู่ แต่รถเข็นได้หายไปแล้ว…”

พี่ทุยก็ไม่มั่นใจว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้จริงมั้ย แต่ที่มั่นใจได้เลย คือ ในจังหวะนั้น ของทุกอย่างมีค่ามากกว่าเงินมาร์กตอนนั้นที่หมดมูลค่า หมดความเชื่อมั่น กลายเป็นเศษกระดาษไปแล้ว เมื่อ “เงิน” ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ดีในการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆได้อีกต่อไป ชาวเยอรมันจึงต้องหันไปพึ่งหนทางอื่น เช่น สกุลเงินต่างประเทศ, การแลกเปลี่ยนกันโดยตรง และ ทองคำ เป็นต้น

"วิกฤตเศรษฐกิจ" ที่รุนแรงที่สุดในเยอรมนี

ธนบัตร 1 ดอลล่าร์ที่เด็กคนนั้นถือ ที่มีค่าเท่ากับหอคอย “เงิน 100,000 มาร์ก” ในปี 1923

ในช่วงจุดที่เลวร้ายที่สุด ขนมปังก้อนนึง ราคา 3 พันล้านมาร์ก ราคาสินค้าต่างๆ ถูกปรับขึ้นทุกวันหรือ 2 วัน ร้านอาหารบางร้านถึงขนาดต้องมีคนทำหน้าที่บอกราคาอาหารใหม่ทุกๆ 30 นาที มีบางคนขนเงินจะมากินข้าว แต่ต้องย้อนกลับบ้านไปเอาเงินมาเพิ่มอีกตะกร้า เพราะราคาไม่เหมือนเมื่อวานแล้ว

แต่รัฐบาลไวมาร์และธนาคารกลางก็ยังไม่หยุดพิมพ์เงิน แต่พิมพ์เท่าไหร่ ก็ไม่ทันมูลค่าที่ตกลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งพิมพ์ เงินมาร์กยิ่งสูญเสียมูลค่า พิมพ์จนธนบัตรในช่วงปี 1923 จะมีหน้าเดียว เพราะต้องรีบพิมพ์ออกมาให้ทัน ก่อนที่มันจะหมดมูลค่า…

"วิกฤตเศรษฐกิจ" ที่รุนแรงที่สุดในเยอรมนี

ธนบัตรราคา 50,000,000,000,000 มาร์ก ปี 1923

ความวิปโยคในไวมาร์บรรเทาลงในวันที่ Dr. Rudolf Havenstein ประธานของธนาคารกลางแห่งไวมาร์เสียชีวิต วันที่ 20 พฤศจิกายน 1923 และถูกแทนที่ด้วย Hjalmar Schacht ที่มาพร้อมกับวิธีแก้ปัญหาด้วยการสร้างเงินสกุลใหม่ “เรนเทนมาร์ก”

ในตอนนั้นพวกเค้ามีทองคำไม่มากพอให้กลับมาใช้มาตรทองคำในทันที พวกเค้าจึงผูกเรนเทนมาร์กนี้ไว้กับ “ที่ดิน” ภายในประเทศก่อน เพื่อควบคุมปริมาณเงินให้ไม่สามารถพิมพ์ออกมามากเกินไปได้อีก และให้ประชาชนนำ 1 ล้านล้านมาร์ก มาแลก 1 เรนเทนมาร์ก

และในที่สุด ฝันร้ายก็จบลงตรงนั้น มันทำให้ประชาธิปไตย และระบบสาธารณรัฐหมดราคาในสายตาชาวเยอรมัน เปิดช่องโหว่ให้พรรคนาซีฉกฉวยโอกาส เข้ามายึดอำนาจทางการเมืองไว้ได้ในที่สุด โดยอ้างว่าจะพาเยอรมันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่สุดท้ายพาชาวเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือได้ว่าเป็นฝันที่เลวร้ายยิ่งกว่าของมวลมนุษยชาติ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย