คลองสุเอซ เรือแล่นผ่าน

[สรุปโพสต์เดียวจบ] เมื่อเรือแล่นผ่าน “คลองสุเอซ” ได้อีกครั้ง ยังกระทบส่งออกไทยอยู่หรือไม่ ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • คลองสุเอซบริหารโดย Suez Canal Authority (SCA) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอียิปต์ ปี 2019 เป็นปีที่ SCA มีรายได้สูงที่สุดอยู่ที่ 5,800 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2020 SCA มีรายได้ที่ 5,610 ล้านดอลลาร์
  • หากส่งสินค้าจากประเทศไต้หวันไปประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยเส้นทางที่ใกล้ที่สุดซึ่งผ่านคลองสุเอซ ใช้เวลา 25 วัน แต่ถ้าไม่ใช้เส้นทางที่ผ่านคลองสุเอซ จะต้องไปอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮป (Good Hope)  ซึ่งจะใช้เวลา 34 วัน
  • ผลกระทบจากการเกยฝั่งของเรือเอเวอร์ กิฟเวน ต่อผู้ส่งออกไทย เป็นผลจากค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีปัญหามามากพอสมควร

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เป็นข่าวที่ไม่ว่าใครก็ต้องหันมาติดตามกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเรือขนส่งสินค้าชื่อว่า เอเวอร์ กิฟเวน เกยฝั่งใน “คลองสุเอซ” ทำให้เส้นทางเดินเรือสำคัญที่เชื่อมต่อเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรปต้องปิดลง

และหลังจากทีมงานกู้ภัยทำงานอย่างหนักมาตลอดหลายวันเพื่อลากเรือเอเวอร์ กิฟเวน ออกจากตะกอนดิน ล่าสุดมีรายงานว่าทีมกู้ภัยสามารถนำเรือลำนี้ออกมาได้แล้ว

วันนี้พี่ทุยขอพามารู้จักกับคลองสุเอซ ความสำคัญต่อการค้าโลก และผลกระทบจากการปิดคลองต่อการส่งออกของไทย

“คลองสุเอซ” คืออะไร ?

คลองสุเอซเป็นคลองที่ขุดด้วยฝีมือมนุษย์อยู่ที่ประเทศอียิปต์ มีจุดประสงค์เพื่อลดเวลาขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรป โดยเชื่อมระหว่างท่าเรือซาอิด ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมืองสุเอซ ฝั่งทะเลแดง

ความเป็นมาของ “คลองสุเอซ”

เริ่มจากนักการทูตชาวฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งบริษัทคลองสุเอซ ในสมัยที่ประเทศอียิปต์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน จากนั้นคลองสุเอซก็เริ่มสร้างเมื่อปี 1859 ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศอียิปต์และฝรั่งเศส ใช้เวลา 10 ปี แรงงาน 1.5 ล้านคน ใช้เงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ หากคิดเป็นค่าเงินในปัจจุบันก็อยู่ที่ประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์

คลองสุเอซมีความยาว 193 กิโลเมตร เป็นคลองที่ไม่มีประตูกั้นน้ำมารบกวนการเดินทาง เพราะระดับน้ำของทะเลทั้งสองฝั่งอยู่ในระดับเดียวกัน

เมื่อปี 1956  รัฐบาลอียิปต์ในสมัยประธานาธิบดี กามาล อับเดล นัสเซอร์ เข้ายึดบริษัทคลองสุเอซ ซึ่งมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นเจ้าของร่วมมาเป็นของประเทศอียิปต์ ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนเกิดเป็นวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) เกิดเป็นสงครามระหว่างฝั่งของประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ อิสราเอล กับประเทศอียิปต์ เป็นเหตุให้คลองสุเอซถูกปิดก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งในปี 1957

จากนั้นระหว่างปี 1967-1975 ก็ถูกปิดอีกครั้งในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งคลองสุเอซกลายเป็นสนามรบระหว่างอียิปต์และอิสราเอล

ครั้งสุดท้ายที่คลองสุเอซถูกปิดต้องย้อนไปในปี 2004 เมื่อเรือบรรทุกน้ำมันของรัสเซียเกยฝั่ง และต้องใช้เวลา 3 วัน เพื่อแก้กู้เรือกลับมาแล่นได้อีกครั้ง

ปัจจุบันคลองสุเอซบริหารโดย Suez Canal Authority (SCA) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลอียิปต์ที่ตั้งขึ้นแทนบริษัทคลองสุเอซ สำหรับปี 2020 SCA มีรายได้ 5,610 ล้านดอลลาร์ โดยปี 2019 ซึ่งเป็นปีที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ที่ 5,800 ล้านดอลลาร์

ความสำคัญต่อการค้าโลก

เส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศไต้หวันกับประเทศเนเธอร์แลนด์ เส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศไต้หวันกับประเทศเนเธอร์แลนด์, Source: https://www.bbc.com/news

หากแล่นเรือจากท่าเรือเมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน ไปยังท่าเรือเมืองร็อตเธอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยเส้นทางที่ใกล้ที่สุดซึ่งผ่านคลองสุเอซ คิดเป็นระยะทาง 18,520 กิโลเมตร ใช้เวลา 25 วัน แต่ถ้าไม่ใช้เส้นทางที่ผ่านคลองสุเอซ เรือขนส่งจะต้องแล่นลงใต้ไปอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮป (Good Hope) เพิ่มระยะทางรวมเป็น 25,002 กิโลเมตร ใช้เวลา 34 วัน นอกจากระยะทางและเวลาขนส่งที่เพิ่มขึ้นแล้ว ต้นทุนค่าน้ำมันก็เพิ่มขึ้นอีก 300,000 ดอลลาร์

กว่า 12% ของการค้าโลกถูกขนส่งผ่านคลองสุเอซในทุกปี เมื่อปี 2011 ปริมาณสินค้าที่ถูกขนส่งผ่านคลองสุเอซอยู่ที่ 700 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปี 2020 มีสินค้าถูกขนส่งผ่านคลองสุเอซที่ 1,200 ล้านตัน

สินค้าที่ขนส่งผ่านมีหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นสารเคมี ถ่านหิน แร่เหล็ก สินค้าการเกษตร โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ซึ่งคลองสุเอซเป็นเส้นทางหลักที่ชาติผู้ผลิตน้ำมันในแถบอาหรับใช้ขนส่งไปยังภูมิภาคอื่นทั่วโลก โดยจากน้ำมันดิบกว่า 39.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ถูกขนส่งทางเรือทั่วโลก มีน้ำมันดิบประมาณ 1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ถูกขนส่งด้วยเส้นทางที่ต้องผ่านคลองสุเอซ คิดเป็น 4.43% ของการขนส่งน้ำมันดิบทางเรีอทั่วโลก 

โดยเมื่อมีข่าวการเกยฝั่งของเรือเอเวอร์ กิฟเวน ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทันที 4% สะท้อนความสำคัญของคลองสุเอซต่อห่วงโซ่อุปทานน้ำมันดิบโลก

เรือบรรทุกสินค้าที่ลอยลำรอผ่านคลองสุเอซ เรือบรรทุกสินค้าที่ลอยลำรอผ่านคลองสุเอซ, Source: https://cnn.com/

เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา มีเรือบรรทุกสินค้า 237 ลำ ที่รอใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ ในจำนวนนี้มีเรือบรรทุกน้ำมันดิบ 33 ลำ เรือขนส่งแก๊ส LPG 9 ลำ เรือขนส่งแก๊ส LNG 4 ลำ เรือเทกอง 64 ลำ และเรือขนส่งสารเคมี 16 ลำ ขณะที่บริษัท Caterpillar ผู้ผลิตเครื่องจักรรายใหญ่ของโลกก็กำลังเผชิญปัญหาการส่งสินค้าล่าช้า และกำลังพิจารณาขนส่งสินค้าทางอากาศหากมีความจำเป็น

การจอดเรือรอเส้นทางเช่นนี้ ย่อมสร้างความเสียหายซึ่งผู้เชี่ยวชาญประมาณไว้ 9,600 ล้านดอลลาร์ต่อวัน หรือ 400 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง ส่วนค่าขนส่งจากประเทศจีนไปยังยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปีก่อน

รายงานข่าวชี้ว่าสถานการณ์ในคลองสุเอซครั้งนี้ไม่หนักเท่าโควิด-19 เพียงแต่ต้องเสียเวลาเดินทางมากขึ้น และเสียค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าไปส่งปลายทางล่าช้าหรือขาดสต๊อก 

ด้านสินค้าของไทยที่ส่งออกไปยุโรปมีสัดส่วนเพียง 8.9% ส่วนใหญ่เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบ ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ยางพารา แอร์ อัญมณี เครื่องประดับ

แน่นอนจะกระทบต่อค่าระวางเรือจะเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับเส้นทางในการเดินเรือ และอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนอื่นอีก หากยังไม่สามารถกู้เรือได้หรือหากแก้ปัญหาได้ แต่ยังคงมีเรือจอดรอเป็นจำนวนมาก ทำให้เส้นทางเดินเรือหนาแน่น ก็จะส่งผลกระทบต่อไทยบ้าง

ผลกระทบต่อการส่งออกไทย

ด้วยบทบาทที่สำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานน้ำมันดิบทั่วโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า 4% ทันทีหลังมีข่าวเรือเอเวอร์ กิฟเวน เกยฝั่ง แต่ก็ปรับตัวลงในวันถัดมา เนื่องจากความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกครั้งในยุโรป จนต้องมีการล็อกดาวน์ จะทำให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลง ดังนั้นผลของการเกยฝั่งจึงหักล้างกับความกังวลการแพร่ระบาด ราคาน้ำมันดิบจังยังไม่ปรับตัวขึ้นมากนัก

แต่ผลกระทบหลักจะเกิดขึ้นกับผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกไปยุโรป ซึ่งการส่งออกระหว่างไทยและยุโรป ผลกระทบเกิดขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้วยผลของค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ 700-800 ดอลลาร์ มาในตอนนี้อยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์ และมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก ซึ่งผลส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอีกส่วนก็มาจากประเทศจีนยอมจ่ายค่าระวางเรือในระดับสูง เพื่อส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ดังนั้นหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ ค่าใช้จ่ายที่มากอยู่แล้วก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีก

ถ้ามองเรื่องสัดส่วนการส่งออกสินค้าจากไทยไปยุโรป ก็ยังไม่ได้อยู่ในระดับสูงมาก เลยต้องติดตามผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดกับกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าที่มีสัดส่วนหลักไปยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแช่แข็ง และกลุ่มสินค้าอุปโภค เช่น พอลิเมอร์ ยางพารา

และอีกปัญหาที่จะตามมาต่อจากนี้ ก็คือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีปัญหามามากพอสมควร การปิดคลองสุเอซยิ่งทำให้เวลาในการนำตู้คอนเทนเนอร์กลับมายังประเทศต้นทางมากขึ้นไปอีก

จะเห็นว่าสิ่งที่น่ากังวลจากการปิดคลองสุเอซกลับไม่ได้อยู่ที่ราคาน้ำมัน เพราะยังมีความกังวลจากการล็อกดาวน์อยู่ แต่อยู่ที่ต้นทุนการส่งออกสินค้าและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า

และหลังจากทีมงานกู้ภัยทำงานอย่างหนักมาตลอดหลายวันเพื่อลากเรือเอเวอร์ กิฟเวน ออกจากตะกอนดิน ล่าสุดมีรายงานว่าทีมกู้ภัยสามารถนำเรือลำนี้ให้ลอยลำได้แล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเส้นทางเรือจะถูกเปิดใช้เมื่อไหร่ และตอนนี้มีเรือกว่า 450 ลำที่ลอยลำรอเดินทางผ่านคลองสุเอซ

พี่ทุยคิดว่าราคาน้ำมันดิบ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้า แต่ว่าจะเพิ่มต่อไปถึงไหน ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อของสถานการณ์ ด้วยจำนวนเรือที่รอการผ่านทางมีมาก ประกอบกับการเดินเรือในคลองสุเอซใช้เวลาประมาณ 11-16 ชั่วโมง อีกทั้งการเดินเรือในคลองสุเอซเป็นการเดินเรือทางเดียว

ดังนั้นแม้จะสามารถกู้เรือกลับมาลอยลำได้แล้ว แต่อาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าที่การเดินเรือจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ส่วนการขนส่งสินค้าใดที่มีความเร่งด่วนก็ต้องหันไปใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปแทนก่อน..

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย