ราคาน้ำมันขึ้น

“ราคาน้ำมัน” ขึ้น ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จริงหรือ ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นทะลุ 60 ดอลลาร์สหรัฐ หรืออยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 
  • ราคาน้ำมันที่ตกลงไปก่อนหน้านี้ เป็นผลพวงมาจากการระบาดที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ความต้องการน้ำมันจึงลดน้อยลงไปด้วย แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ
  • ถึงจะมีวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดกว่าการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคหลักในการบริโภคน้ำมัน จะกลับมาฟื้นตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ และกระแสพลังงานทดแทนก็ทำให้ผู้ผลิตน้ำมัน ไม่เร่งรีบที่จะเพิ่มกำลังการผลิต 
  • ราคาที่ปรับขึ้นเป็นผลพวงมาจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกหรือ OPEC

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “ราคาน้ำมัน” ปรับขึ้นแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และตอนนี้ราคาทะลุบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว (น้ำมันดิบ Brent ณ วันที่ 9 ก.พ. 64 เวลา 14.30 น.) โดยน้ำมันดิบ Brent ซื้อขายล่วงหน้า ปรับขึ้นราว 6% ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่ 20 ก.พ.ปีก่อน

ตลอดปีที่ผ่านมา ในระหว่างการระบาดของโควิด-19 สินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่สินค้าเกษตรจนถึงโลหะต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกที่ลดน้อยลงไปตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 

พลังงาน ซึ่งรวมไปถึงน้ำมัน นับเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยระบุว่าความต้องการน้ำมันจะยังไม่ฟื้นจนกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา และคาดว่าราคาจะอยู่ที่เฉลี่ย 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น

ถ้าอย่างนั้นแล้ว การที่ราคาน้ำมันกลับมาฟื้นตัวและทะลุ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กำลังสะท้อนสภาพเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นคืนหรือไม่ พี่ทุยว่าเราต้องมองให้รอบด้านเสียก่อนที่จะด่วนมุ่งไปข้อสรุปนั้น

“ราคาน้ำมัน” ขึ้น คือ สัญญาณบวกเศรษฐกิจ ?

มีสัญญาณบวกมาจากจีน ประเทศเศรษฐกิจมหาอำนาจแห่งเอเชีย โดยเศรษฐกิจจีนเมื่อปีที่ผ่านมา เติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับฐานของปี 2562 ซึ่งแม้จะเป็นขยายตัวที่น้อยมาก ๆ ในรอบหลายสิบปีของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย แต่ก็นับเป็นการขยายตัวที่ไปได้สวยเมื่อต้องประสบกับโรคระบาด

การค้าของจีนยังขยายตัวเสียด้วย แม้จะประสบกับการระบาดของโควิด-19 การค้าของจีนยังส่งออกมากกว่านำเข้าทำสถิติใหม่อีกด้วย โดยแตะระดับ 5.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งสินค้าขายดีคงหนีไม่พ้นอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่น หน้ากากและชุดป้องกัน รวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่างขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจากการที่ต้อง Work From Home 

นอกจากนี้ สัญญาณดีทางเศรษฐกิจจีน ยังสะท้อนจากความต้องการน้ำมันที่ฟื้นขึ้น โดยจากข้อมูลของสำนักข่าว Bloomberg พบว่า ช่วงนี้จีนนำเข้าน้ำมันเป็นปริมาณมากจนแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนด้วย

ในฝากตะวันตก ผู้บริโภคยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐเองก็ส่งสัญญาณบวกจากการได้ผู้นำคนใหม่อย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้สัญญาจะออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อีกด้วย ประกอบการที่วัคซีนเริ่มฉีดให้ประชากรบางส่วนแล้ว ทำให้หลายคนมองว่า การท่องเที่ยวจะกลับฟื้นขึ้นมาในไม่ช้า

ส่วนฝั่งคริสเตียน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวในปีนี้ ซึ่ง ECB คาดการณ์ว่า ยุโรปจะฟื้นตัวได้ถึง 4% ในปีนี้ หลังจากหดตัวไปถึง 7% เมื่อปีที่ผ่านมา 

แต่พี่ทุยมองว่า ประเด็นความต้องการน้ำมันที่ฟื้นขึ้น ก็คงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในตอนนี้ และอาจจะยังสรุปไม่ได้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ทำไมตอนนี้ปริมาณน้ำมันถึงขาดตลาด ?

ด้วยความเร็วในการฉีดวัคซีนในตอนนี้ ถ้าจะรอให้การท่องเที่ยวจะฟื้นตัว ก็ต้องใช้เวลานาน โดยหลายคนอาจเห็นจากรายงานของ Bloomberg ที่วิเคราะห์ว่า กว่าวัคซีนจะครอบคลุมประชากร 75% ของโลกได้ ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 7 ปี 

พี่ทุยว่า เราก็ต้องดูกันต่อไป ว่ามันจะเป็นไปได้มั้ยที่ “ราคาน้ำมัน” ปรับขึ้น ไม่ได้มาจากความต้องการ แต่มาจากกำลังผลิตที่น้อยลง จนมีแนวโน้มว่าจะมีน้อยกว่าความต้องการ

ประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง OPEC และประเทศพันธมิตรน้ำมัน ต่างก็ตกลงกันว่าจะลดกำลังการผลิตลง เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมัน และยังป้องกันไม่ให้น้ำมันล้นคลังอีกด้วย โดยกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตรต่างตกลงกันจะปรับลดการผลิตให้ได้ราวๆ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของกลุ่ม ตกลงจะปรับลดเองเพิ่มอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงเดือนมี.ค. 64 นี้ เนื่องจากไม่ต้องการให้น้ำมันล้นคลัง

นอกจากนี้ กลุ่ม OPEC ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปริมาณความต้องการซื้อน้ำมันจะยังไม่กลับมาสู่ระดับ “ปกติ” ก่อนการระบาดของโควิด-19 จนถึงปี 2565 เลยทีเดียว

อีกด้านหนึ่ง บรรดา Hedge Fund ต่างชาติที่ต่างเข้าไปเก็งกำไรน้ำมันจนทำให้ตอนนี้ “ราคาน้ำมัน” ปรับขึ้น มองว่าแม้จะมีวัคซีนโควิด-19 แล้ว และมีที่ท่าว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว แต่การเพิ่มกำลังการผลิตจะยังคงน้อยอยู่ เนื่องจากความไม่แน่นอนในด้านความต้องการพลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมัน หลังทั่วโลกให้ความสนใจในด้านพลังงานทดแทน

กระแสพลังงานทดแทนที่จะมาแทนพลังงานฟอสซิลในอนาคต ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันลังเลที่จะรีบร้อนเพิ่มกำลังการผลิตแม้ราคาจะปรับขึ้นแล้วนั่นเอง ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ก็สนับสนุนพลังงานทดแทนมากกว่าพลังงานฟอสซิลด้วยเช่นกัน 

“ราคาน้ำมัน” ขึ้น เอื้อหุ้นบริษัทน้ำมัน

ถึงแม้ “ราคาน้ำมัน” ที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ จะไม่ได้มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งหมด 100% แต่ก็ช่วยให้หุ้นของบริษัทน้ำมันได้ปรับขึ้นบ้าง

หุ้นของบริษัท Exxon ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 3% ในวันปิดตลาดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอยู่ที่เกือบ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ซึ่งนับเป็นระดับที่ฟื้นตัวขึ้นมากจากช่วงที่เกิดการระบาดหนัก ๆ ในปี 2563 ซึ่งราคาหุ้นของ Exxon ตกลงไปอยู่เหลือ 31.45 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 21 มี.ค. 64

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน แม้ราคาหุ้นของ Chevron จะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ราคาหุ้น Chevron ก็นับว่าฟื้นตัวอย่างมากจากระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงเดือนมี.ค. 63 มาอยู่ที่เกือบ 90 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

อีกด้านหนึ่ง บรรดา Hedge Fund ต่างชาติที่ต่างเข้าไปเก็งกำไรน้ำมันจนทำให้ราคาปรับขึ้นในตอนนี้ มองว่า แม้จะมีวัคซีนโควิด-19 แล้ว และมีที่ท่าว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว แต่การเพิ่มกำลังการผลิตจะยังคงน้อยอยู่ เนื่องจากความไม่แน่นอนในด้านความต้องการน้ำมัน.. 

ติดตามราคาน้ำมันแบบ Realtime และราคาน้ำมันย้อนหลังได้ที่นี่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย