Odd Lot

Odd Lot คือ อะไร ? ซื้อขายเศษหุ้น ทำยังไง

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • Odd Lot คือ การซื้อขายหุ้นที่มีจำนวนตั้งแต่ 1 หุ้น ถึง 99 หุ้น 
  • การซื้อขาย Odd Lot มีโอกาสเกิดขึ้นจากการที่ผู้ลงทุนได้รับเศษหุ้นเข้ามาในพอร์ตลงทุนจากหลายทาง เช่น หุ้นปันผล หุ้นเพิ่มทุน หรือการออมหุ้นแบบ DCA
  • ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายเศษหุ้นบนกระดาน Odd Lot ผ่านโปรแกรม Streaming
  • ข้อเสียของ Odd Lot คือ ราคา Bid – Offer มีโอกาสสูงและต่ำกว่ากระดานใหญ่เล็กน้อย และมีสภาพคล่องต่ำกว่า

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Odd lot คือ ระบบที่มีไว้ให้กับใครที่ต้องการซื้อหุ้น แต่ไม่สามารถซื้อหุ้นนั้นที่ขั้นต่ำ 100 หุ้นได้ เพราะ ราคาที่สูงเกินไป เช่น BH หรือ หุ้นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ราคาประมาณ 240 บาท นั่นทำให้ หากซื้อที่ 100 หุ้นก็จะต้องจ่ายเงิน 24,000 บาท หรือ 1,000 หุ้น ต้องจ่ายถึง 240,000 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมากสำหรับรายย่อย ดังนั้น Odd lot หรือ การซื้อขายเศษหุ้นจะมีประโยชน์มากสำหรับการนำไปใช้ซื้อขายเพื่อเก็บสะสมทีละน้อย ไปฟังกันว่า Odd Lot คืออะไร นอกจากข้อดี มีข้อเสียรึเปล่า 

Odd Lot คือ อะไร ?

Odd Lot คือ จำนวนหลักทรัพย์ซึ่งต่ำกว่า 1 หน่วยการซื้อขาย หรือ ต่ำกว่า 1 Board Lot เช่น ในกรณีที่หน่วยการซื้อขายเท่ากับ 100 หุ้น หน่วยย่อยในที่นี้หมายถึง หุ้นที่มีจำนวนตั้งแต่ 1 หุ้น ถึง 99 หุ้น 

ดังนั้น การซื้อขายหุ้นในจำนวนที่ไม่เต็ม 1 หน่วยการซื้อขาย จะต้องซื้อขายบนกระดานหน่วยย่อย หรือ Odd Lot Board นั่นเอง เพราะ การซื้อขายในแต่ละครั้ง ต้องระบุจำนวนซื้อขายเต็มหน่วย และเพิ่มทีละ 1 หน่วยการซื้อขาย หรือ 100 หุ้นนั่นเอง

ยกเว้นสำหรับหุ้นที่มีราคาปิดตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปเป็นระยะเวลา 6 เดือนต่อเนื่องกัน 1 หน่วยการซื้อขาย หรือ 1 Board Lot ของหุ้นนั้นจะเท่ากับ 50 หุ้น

โดยส่วนมาก การซื้อขาย Odd Lot มีโอกาสเกิดขึ้นจากการที่ผู้ลงทุนได้รับเศษหุ้นเข้ามาในพอร์ตลงทุนจากหลายทาง เช่น หุ้นปันผล หุ้นเพิ่มทุน หรือการออมหุ้นแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) ซึ่งเป็นการซื้อหุ้นโดยอัตโนมัติทุกเดือนตามจำนวนเงินที่กำหนด เป็นต้น

ซื้อขายเศษหุ้น ทำยังไง ? 

  1. ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายเศษหุ้นบนกระดาน Odd Lot ผ่านโปรแกรม  Streaming เหมือนกับกับการซื้อขายแบบ Board Lot บนกระดานหลัก โดยระบุจำนวนหุ้น 1 – 99 หุ้น 
  2. ราคาซื้อขายเศษหุ้นบนกระดาน Odd Lot แบบ Real Time สามารถดูได้จากเมนู Odd Lot ใน Streaming ซึ่งอาจแตกต่างจากราคาซื้อขายหุ้นบนกระดานหลักเล็กน้อย โดยหาได้จาก My Menu ด้านล่างขวามือของจอ จากนั้นไปที่ Standard Menu กด View More คำสั่งจะอยู่ที่ด้านล่างนั่นเอง

Odd Lot

ขั้นตอนการทำ Odd Lot 

ผู้ลงทุนทยอยซื้อหุ้น B แบบ DCA ทุกเดือน เมื่อครบ 1 ปี มีหุ้น B สะสมจากการลงทุนแบบ DCA ทั้งหมด 8,896 หุ้น ในราคาต้นทุนเฉลี่ยหุ้นละ 8 บาท สมมติว่าปัจจุบันราคาของหุ้น B อยู่ที่ 10 บาท ถ้าต้องการจะขายหุ้น B ทั้งหมดที่ราคาปัจจุบัน ผู้ลงทุนจะต้องส่งคำสั่งขายหุ้นบนโปรแกรม Streaming แยกเป็น 2 คำสั่ง คือ 

  1. ส่งคำสั่งขายหุ้นจำนวน 8,800 หุ้น ที่ราคา 10 บาท บนกระดานหลัก 
  2. ส่งคำสั่งขายเศษหุ้นจำนวน 96 หุ้น (Odd Lot) ที่ราคา 10 บาท บนกระดาน Odd Lot 

ข้อเสีย Odd Lot

  1. ราคา Bid มีโอกาสสูงกว่ากระดานใหญ่เล็กน้อย ราคา Offer มีโอกาสต่ำกว่ากระดานใหญ่เล็กน้อยเช่นกัน
  2. สภาพคล่องต่ำกว่ากระดานหลักมาก ๆ  เพราะ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้ามาซื้อขายในกระดานนี้ ฉะนั้น เวลาตั้งซื้อราคาต่ำกว่าราคากระดาน Odd Lot ในตอนนั้น หรือ ตั้งขายสูงกว่ากระดาน Odd Lot ตอนนั้น ก็มีโอกาสที่ออเดอร์นั้นสำเร็จได้ยาก 
  3. Broker บางเจ้าจะเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายบนกระดาน Odd Lot ด้วย ต้องดูเงื่อนไขให้ดีก่อนทำธุรกรรม
  4. ตั้งแต่ 8 พ.ค. 2566 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงระบบการซื้อขายใหม่ ก็ได้มีการยกเลิกการซื้อขายหน่วยย่อย (Odd Lot) ของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ Derivatives Warrant (DW)ซึ่งเป็นการซื้อขาย DW ที่ต่ำกว่า 100 หน่วย เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการซื้อขาย DW ที่เป็นหน่วยย่อยมีจำนวนน้อยมากนั้นเอง

จริง ๆ แล้วการซื้อขาย Odd Lot ก็มีประโยชน์มาก ๆ เวลาที่นักลงทุนอยากซื้อหุ้นในปริมาณน้อย แต่ต้องคำณวนต้นทุนและราคาดี ๆ ว่า ระหว่างการซื้อบนกระดานใหญ่ทีเดียว หรือ การซื้อบนกระดานเศษหุ้นแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน เพราะ บางทีหากซื้อที่ราคาเดียวกัน กระดานใหญ่ก็จะถูกกว่าในแง่ของค่าธรรมเนียมและราคาเฉลี่ย แต่ว่าหากเห็นว่าหุ้นนั้นกำลังมีทิศทางเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน การค่อย ๆ เก็บที่ราคาต่ำ และเพิ่มไปเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วราคาเฉลี่ยก็จะถูกกว่านั่นเอง 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile