ถ้าใครคิดว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้ สรรพากรไม่มีทางรู้หรอก ขอให้เปลี่ยนความคิดโดยไว สรรพากรบ้านเราเก่งกว่านั้นมาก วันนี้พี่ทุยพาไปดูว่า สรรพากรรู้รายได้เราได้ยังไง ? มีช่องทางไหนที่สรรพากรติดตามรายรับของเราบ้าง
สรรพากรรู้รายได้เราได้ยังไง ? ช่องทางไหนที่สรรพากรใช้ตรวจสอบการเงินของเรา
- มีเงินโอนเข้าบัญชีหลายครั้ง และเป็นเงินจำนวนมาก
- ข้อมูลการรับเงิน (เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ใบกำกับภาษี)
- รับรู้รายได้ผ่านช่องทาง www.rd.go.th
- Web Scraping เทคโนโลยีดึงข้อมูลจากเว็บไซต์
- ใช้ระบบ Big Data & Data Analytics
- เข้าร่วมโครงการของรัฐ
- สุ่มตรวจ
- พนักงานประจำ
1. มีเงินโอนเข้าบัญชีหลายครั้ง และเป็นเงินจำนวนมาก
หากเรามีเงินเข้าบัญชี ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชี ผ่านช่องทางสมาร์ทโฟน บัตรเครดิตต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร
ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่น ๆ อย่าง Payment Gateway, e-Wallet เช่น ทรูมันนี่ เอ็มเพย์ แรบบิทไลน์ เพย์ มีหน้าที่รายงานธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงินนี้ให้กับกรมสรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร ดังนี้
- มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี โดยไม่ดูจำนวนเงินว่าแต่ละครั้งจะมีมูลค่าเท่าไหร่
- มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และ จำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะนับรวมเป็นรายปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้น ๆ โดยข้อมูลที่ส่งให้กับกรมสรรพากร จะทำให้กรมสรรพากรรู้ข้อมูลรายได้ของผู้มีรายได้ แต่ยังไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ด้วย ว่าถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีแล้วหรือไม่
หมายเหตุ : ข้อมูลธุรกรรมเฉพาะที่กำหนดจะนับเฉพาะการฝากหรือรับโอนเงินเฉพาะขารับรวมกันทุกบัญชีใน 1 ปี ไม่รวมการโอนออกหรือถอนออก และไม่นับบัญชีต่างธนาคารกัน เช่น หากเปิดบัญชีธนาคาร A 4 บัญชี และธนาคาร B อีก 2 บัญชี แต่ละธนาคารก็จะนับเฉพาะยอดฝากหรือโอนเงินของธนาคารตัวเอง ไม่ไปนับยอดจากบัญชีอีกธนาคารหนึ่ง
2. ข้อมูลการรับเงิน (เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ใบกำกับภาษี) แม้ว่าเงินจะไม่ผ่านธนาคาร แต่ก็ถูกตรวจสอบได้
ในกรณีที่เรามีรายได้ โดบได้รับเป็นเงินสดไม่ผ่านธนาคาร แต่ผู้จ้างเป็นนิติบุคคลได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ผู้ประกอบการจะต้องนำส่งเงินภาษีที่หักให้แก่กรมสรรพากร รวมถึงแจ้งข้อมูลผู้ได้รับเงิน ทั้งชื่อ เลขบัตรประชาชนไปในแบบนำส่งภาษีที่หักไว้ดังกล่าวด้วย
และถ้าหากบริษัทผู้จ่ายเงินถูกสรรพากรตรวจสอบเอกสาร ผู้ประกอบการจะต้องมีการนำส่งรายการบันทึกค่าใช้จ่ายของบริษัทให้กรมสรรพากร ซึ่งในบันทึกนั้นจะต้องมีการระบุค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้โดยละเอียด ส่งพร้อมเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน
ดังนั้น ต่อให้เรารับเงินสด กรมสรรพากรยังมีโอกาสที่จะเห็นข้อมูลรายได้ของเราอยู่ดี
3. รับรู้รายได้ผ่านช่องทาง www.rd.go.th
วิธีการนี้ทางกรมสรรพากรจะใช้เว็บไซต์ของตนเอง คือ www.rd.go.th เป็นช่องทางการสืบค้นข้อมูลรายได้ โดยเปิดเมนู “การแจ้งเบาะแส/ข้อมูลแหล่งภาษี” ขึ้น เพื่อให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบกิจการหรือธุรกิจที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง
4. Web Scraping เทคโนโลยีดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ แม่ค้าออนไลน์ก็ไม่รอดภาษี
สรรพากรนำเทคโนโลยีดึงข้อมูลจากเว็บเพจต่าง ๆ หรือ Web Scraping เข้ามาช่วยตรวจสอบกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบที่ค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์สดเพื่อขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น สรรพากรจะดึงข้อมูล ราคา และจำนวนสินค้าที่ขายได้ตามเว็บ e-commerce ทั้งหลาย เช่น Shopee, Lazada
หรือรู้ข้อมูลของผู้จ่ายเงินให้เรา อย่างเช่น เราขายของผ่านเว็บ e-commerce เช่น Shopee, Lazada ทางเว็บ e-commerce จะหักค่าบริการในอัตราที่กำหนดจากยอดขายของเรา เช่น 20% หรือ 30% ของยอดขาย พร้อมกันนั้นทางเว็บ e-commerce ก็จะส่งใบกำกับภาษีให้กับเราและส่งให้สรรพากรด้วย
5. ใช้ระบบ Big Data & Data Analytics
สรรพากรใช้ระบบ Big Data & Data Analytics เพื่อคัดกรองว่า ผู้ประกอบการใดบ้างจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลีกเลี่ยงภาษี และกลุ่มใดจัดอยู่ในกลุ่มดี ยกตัวอย่างกรณีดังที่มีผู้ค้าออนไลน์โพสต์ผ่านเฟชบุ๊กของตนเอง ถึงเรื่องราวการถูกกรมสรรพากรส่งจดหมายแจ้งยื่นภาษีย้อนหลังปี 2563 ยอดรวมกว่า 90,000 บาท นั่นก็มาจากระบบนี้นั่นเอง
หรือตัวอย่างของการใช้ระบบ Data Analytic เช่น สรรพากรเชื่อมข้อมูลกับการไฟฟ้า การประปา ซึ่งหากพบว่าการใช้ไฟฟ้ากับการใช้น้ำประปาของเราใกล้เคียงกับคนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับเรา แต่เขาแจ้งรายได้สูงกว่า สรรพากรก็อาจสงสัยว่าเราแจ้งรายได้ไม่ครบถ้วนได้
6. เข้าร่วมโครงการของรัฐ
ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกมาตรการโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้ที่ประกอบอาชีพค้าขายและบริการ หากเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราชนะ ชิมช้อปใช้ รายได้เหล่านี้จะถูกส่งให้กับกรมสรรพากร และเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับการตรวจสอบรายได้ของสรรพากร
7. สุ่มตรวจ
โดยกรมสรรพากรสุ่มจากหน้าเว็บต่าง ๆ เช่น Facebook ที่มีการโพสต์โชว์เงินโอนเข้า รายได้จากการขายสินค้าจำนวนมาก หรือไลฟ์สดขายของ สรรพากรจะสุ่มตรวจบุคคลเหล่านี้ว่ามีรายได้แล้วได้มีการยื่นแบบฯ เสียภาษีบ้างหรือไม่ หากพบว่าไม่มีการยื่นแบบฯ หรือไม่เสียภาษีเลย อาจถูกเรียกพบได้
8. ถ้าเป็นพนักงานประจำ สรรพากรรู้รายได้เราได้ยังไง
กรณีที่เป็นพนักงานประจำที่ทางบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร นอกจากผู้มีรายได้จะต้องเป็นคนนำข้อมูลจากใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรองเงินได้หัก ณ ที่จ่าย) ซึ่งเป็นใบแจ้งรายได้ทั้งปีที่ทางบริษัทออกให้ไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว
ทางบริษัทก็จะมีเอกสารชี้แจงเงินได้ของเราส่งทางกรมสรรพากรด้วยอีกทางหนึ่ง (ภงด.1, ภงด.1ก) จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้ของเราได้
ระวังถูกสรรพากรเรียกพบ โดนภาษีย้อนหลัง
โดยถ้าสรรพากรพบว่า เราไม่จ่ายภาษี หรือจ่ายภาษีไม่ถูกต้อง ไม่ครบตามจำนวนเงินที่ระบุ เราก็จะโดนเรียกภาษีย้อนหลัง
ซึ่งบทลงโทษและค่าปรับจะลดหลั่นกันไปตามความผิด ดังต่อไปนี้
- ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ มีค่าปรับดังนี้
- เสียเบี้ยปรับ 0.5 – 1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
- ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด มีค่าปรับดังนี้
- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท
- เสียเบี้ยปรับ 1 – 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
- เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี มีค่าปรับดังนี้
- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
- หนีภาษี มีค่าปรับดังนี้
- มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี
- เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
โดนภาษีย้อนหลัง กี่ปี
กรมสรรพากร จะมีสิทธิตรวจสอบภาษีย้อนหลังได้ 2 ปี และถ้าพบความผิดปกติ หรือ เข้าข่ายว่าจะเลี่ยงภาษีมีสิทธิตรวจสอบย้อนหลังได้ 5 ปี
สำหรับกรณีที่ผู้เสียภาษีเคยยื่นแบบภาษี หรือง่าย ๆ มนุษย์เงินเดือน สรรพากรสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 10 ปี
นอกจากนี้ กรมสรรพากร มีสิทธิเรียกดู รายการเดินบัญชี (Statement) ได้
รู้ตัวกันแล้ว ก็รีบไปเสียภาษีให้เรียบร้อยกันละ ระวังโดนเรียกตรวจ แล้วโดนเรียกภาษีย้อนหลัง มันจะไม่คุ้มเอานะ พี่ทุยเตือนแล้ว
อ่านเพิ่ม