[ฉบับมือใหม่] วิธี ยื่นภาษีออนไลน์ 2567 จากเงินได้ 2566 ด้วยตนเอง

[ฉบับมือใหม่] วิธี ยื่นภาษีออนไลน์ 2567 จากเงินได้ 2566 ด้วยตนเอง

5 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • เตรียมเอกสารสำหรับยื่นภาษีให้พร้อม ได้แก่ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือใบ 50 ทวิ, รายการลดหย่อนตัวเอง, เอกสารและหลักฐานการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ
  • 10 ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ 2567 จากรายได้ 2566 ด้วยตัวเอง มือใหม่ก็ทำได้ 
  • สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ตั้งแต่ “วันนี้ – 9 เม.ย. 2567” ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือขยายวันยื่นแบบภาษี 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หลังจากพ้นเทศกาลฉลองเข้าสู่ปีใหม่ ก็เข้าสู่เทศกาล ยื่นภาษี เงินได้ของทั้งปีที่แล้วหรือปี 2566 ซึ่งจะนำมายื่นแสดงรายได้แก่สรรพากรในปี 2567 โดยปีนี้มีความแตกต่างไปจากทุกปี เพราะว่าระบบ ยื่นภาษีออนไลน์ ด้วยตัวเองได้ปรับปรุงหน้าตา ขั้นตอนต่าง ๆ เป็นรูปแบบใหม่

จากที่พี่ทุยได้ลองใช้บอกได้เลยว่า หน้าตาเว็บไซต์ดูทันสมัยมากขึ้น ที่สำคัญระบบยังง่ายและสะดวกเหมือนเดิม ดังนั้น สำหรับใครที่ยังไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน หรือเคยยื่นมาแล้ว แต่ด้วยระบบที่ปรับปรุงโฉมหน้าตาเว็บไซต์ใหม่ก็ไม่ต้องกังวลกันว่าจะทำไม่ได้ เพราะวันนี้ พี่ทุยมาสรุป วิธียื่นภาษีออนไลน์ ด้วยตนเองแบบใหม่ให้ทุกคนได้ฟังกัน ….   

วิธียื่นภาษียื่นภาษีบุคคลธรรมดา เงินได้ปี 2566 มีขั้นตอนอะไรบ้าง ? 

ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการ ยื่นภาษีออนไลน์ ต้องเริ่มจากเตรียมเอกสารสำหรับยื่นภาษีให้พร้อม ซึ่งหลัก ๆ คือ 

  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือใบ 50 ทวิ จากนายจ้าง โดยส่วนมากเป็นเอกสารที่ได้รับจากฝ่ายบุคคลช่วงต้นปี ซึ่งจะระบุว่า มีรายได้รวมเท่าไหร่ มีหักชำระเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือประกันสังคมรวมแล้วเท่าไรบ้าง 

หากใครทำงานเปลี่ยนที่ทำงานหลายที่ในปี 2566 ต้องได้รับใบ 50 ทวิจากนายจ้างทุกที่ที่ได้ทำงาน 

  • รายการลดหย่อนตัวเอง ได้แก่ ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาที่อายุ 60 ปีขึ้นไปละมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งต้องเตรียม “เลขบัตรประชาชนของบิดามารดา” ให้พร้อม
  • เอกสาร หลักฐานการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เช่น ใบเสร็จเบี้ยประกันชีวิต/ ประกันสะสมทรัพย์/ ประกันสุขภาพทั้งของตนเองและพ่อแม่ หรือที่ซื้อกองทุน RMF SSF และเงินบริจาคต่าง ๆ ทั้งเพื่อการศึกษา กีฬา การพัฒนาสังคม โรงพยาบาลรัฐ รวมถึงบริจาคให้แก่พรรคการเมือง
  • สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ค่าลดหย่อนภาษีปี 2566 มีอะไรบ้าง

เมื่อเอกสารพร้อมแล้วก็เข้าสู่เว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ ได้เลย

ยื่นเเบบเเละชำระภาษีบุคคลธรรมดา

ขั้นตอนที่ 1 เริ่มการ ยื่นภาษีออนไลน์ 

คลิก “ยื่นแบบออนไลน์” แต่หากใครที่เพิ่งยื่นภาษีครั้งแรกต้องคลิก “สมัครสมาชิก” ก่อน โดยขั้นตอนการสมัครไม่ยากเลย แค่กรอกรายละเอียดตามบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และตั้งรหัสผ่าน 1 นาทีก็เรียบร้อยแล้ว 

ยื่นภาษีออนไลน์ 

ขั้นตอนที่ 2 ลงทะเบียน ยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านระบบ 

กรอก “เลขประจำตัวประชาชน” ที่ช่องเลขประตัวผู้เสียภาษีอากรหรือชื่อผู้ใช้งานและ “รหัสผ่าน” ที่เคยตั้งไว้จากนั้นคลิก “ปุ่มเข้าสู่ระบบ”

ส่วนถ้าใครลืมรหัสผ่านก็คลิกที่ลืมรหัสผ่านได้ ใช้เวลากู้รหัสแค่ 1 นาทีเท่านั้นไม่ต้องกังวล 

เข้าสู่ระบบ ยื่นภาษี

ขั้นตอนที่ 3 เข้าสู่ระบบ 

ทางสรรพากรมีเพิ่มขั้นตอนการยื่นยันตัวตนด้วยระบบ OTP โดยรหัส OTP จะส่งมาทางหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เคยลงทะเบียนไว้ 

แต่หากในปัจจุบันได้เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์มือถือก็สามารถระบุหมายเลขโทรศัพท์มือถือใหม่ได้เองเลย ไม่ต้องทำเรื่องเปลี่ยนกับทางสรรพากร

จากนั้นก็คลิก “ขอรหัส OTP” และกรอกรหัส OTP ตามที่ได้รับลงในช่องที่ระบุไว้ จากนั้นคลิกยืนยัน OTP ขั้นตอนนี้ต้องระบุ OTP ภายใน 5 นาที ไม่เช่นนั้นต้องรอรหัสใหม่นะ 

ยื่นภาษี ยันตัวตนด้วยระบบ OTP

ขั้นตอนที่ 4 ยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดา

ระบบจะแสดงหน้าจอผู้มีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้คลิกที่ “ยื่นแบบ” ของช่อง ภ.ง.ด. 90/91 ซึ่งเป็นแบบภาษีเงินได้ประจำปี

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91

ขั้นตอนที่ 5 เข้าสู่ระบบ ยื่นภาษีออนไลน์

เข้าสู่ขั้นตอนการยื่นภาษีหรือชื่อเต็ม ๆ คือ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ด.ง. 90/91 จะมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ 

1. กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี

2. กรอกเงินได้

3. กรอกค่าลดหย่อน

4. ตรวจสอบข้อมูล

5. ยืนยันข้อมูล

ยื่นเเบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91

ขั้นตอนที่ 6 กรอกข้อมูลส่วนบุคคลผู้เสียภาษี

ระบบแสดงข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ทั้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขบัตรประชาชน), ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานที่ติดต่อ (สถานที่ตามบัตรประชาชน), ร้านค้า/กิจการส่วนตัว (ถ้ามี) และให้ระบุสถานะในปัจจุบันด้วยคือโสด หม้าย และสมรส โดยกรณีสมรสจะมีให้เลือกว่าอยู่ร่วมกันตลอดปี ระหว่างปี หย่าหรือคู่สมรสเสียชีวิตระหว่างปี 2566 

หากกรณีที่ผู้มีเงินได้เสียชีวิตระหว่างปี 2566 และญาติเป็นคนยื่นแทนก็มีสถานะให้เลือกด้วย   

เมื่อเรียบร้อยก็คลิกถัดไป

ขั้นตอนกรอกข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้ ยื่นภาษีออนไลน์ 

ขั้นที่ 7.1 ขั้นตอนกรอกเงินได้

ระบบแสดงหน้ารายได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น เงินเดือน, ฟรีแลนซ์-รับจ้างทั่วไป-วิชาชีพอิสระ, ทรัพย์สิน-การทำธุรกิจ, การลงทุน และมรดกหรือได้รับมา 

ส่วนนี้มีที่เป็นรายได้จากการลงทุน มีระบุว่า “…ประโยชน์ใด ๆ จากคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล…” หรือที่เรียกสั้น ๆ ช่วงที่ผ่านมาว่า ภาษีคริปโต ด้วยนะ ซึ่งจะกรอกอย่างไรนั้น พี่ทุยแนะนำว่า รอข้อสรุปจาก ก.ล.ต. ก่อนก็ได้ 

ขั้นตอนกรอกเงินได้

ขั้นที่ 7.2 ขั้นตอนกรอกเงินได้สำหรับมนุษย์เงินเดือน 

หากเป็นพนักงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือน เลือกรายได้จากเงินเดือน >> คลิกที่ “ระบุข้อมูล” แล้วระบบจะพาเราไปอีกหน้าเพื่อกรอกรายละเอียดต่าง ๆ 

  • รายได้ทั้งหมด : ให้รวมรายได้จากทุกนายจ้าง (บริษัทที่เข้าทำงานตลอดปี 2566) กรอกเลขเดียวเลย 
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : ให้รวมภาษีที่นายจ้างแต่ละที่หัก แล้วกรอกเลขเดียวเช่นกัน
  • เลขผู้จ่ายเงินได้ : เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนายจ้าง หากรับเงินจากหลายนายจ้างให้กรอกเลขของนายจ้างที่จ่ายเราเยอะที่สุด 
  • เมื่อเรียบร้อยแล้วก็คลิกบันทึก 

หากมีรายได้อื่น ๆ อีกก็ค่อย ๆ กรอกไปทีละข้อ พี่ทุยแนะนำว่า ให้คำนวณเลขให้พร้อมก่อนเข้าระบบ “ยื่นภาษีออนไลน์” ไม่งั้นพี่ทุยบอกเลยว่า ปวดหัวมาก พี่ทุยผ่านมาแล้ว 

เงินได้ปี 2564 ยื่นภาษีปี 2565

ทุกครั้ง หลังเราบันทึกรายได้แต่ละข้อเสร็จระบบจะพากลับมาที่หน้ารายได้เหมือนเดิม ให้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอย่างละเอียด ว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ อีกครั้งว่าถูกต้องหรือไม่ 

เมื่อเรียบร้อยแล้วก็คลิกถัดไป 

ขั้นที่ 8 ขั้นตอนกรอกค่าลดหย่อน

ระบบแสดงรายการค่าลดหย่อนภาษีของปี 2566 โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 

กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว 

  • ลดหย่อนผู้มีเงินได้ ทุกคนจะได้รับการลดหย่อนส่วนตัวเป็นอัตราเหมาที่ 60,000 บาทโดยรัฐมองว่าใน 1 ปี คน 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวไม่น้อยกว่า 60,000 บาท จึงให้ใช้เลขนี้เป็นค่าลดหย่อนพื้นฐานสำหรับทุกคนที่มีรายได้

(พี่ทุยรู้สึกว่า เลข 60,000 บาทนี้ใช้มาหลายปีแล้ว น่าจะเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อบ้าง แต่ 3 ปีก่อนจ่ายค่าข้าวมื้อละ 30-35 บาท ปัจจุบันแบงก์ 100 ใบหนึ่งยังไม่ค่อยพอเลย)  

  • ลดหย่อนบุตร
  • อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ภายใต้เงื่อนไขคือ อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
  • อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อนกลุ่มออมเงินและลงทุน

  • เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.)
  • เงินสะสมกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
  • เงินค่าชดเชยที่ได้รับตามกฎหมายแรงงาน (กรณีนำมารวมคำนวณภาษี)
  • เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
  • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
  • เบี้ยประกันชีวิต
  • เบี้ยประกันสุขภาพ
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • ค่าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
  • ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
  • เงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม และได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล

  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง
  • ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

กลุ่มที่ 4 ค่าลดหย่อนบริจาค

  • เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/ สถานพยาบาล/ สภากาชาดไทย และอื่นๆ
  • เงินบริจาค

ขั้นตอนกรอกค่าลดหย่อน

ใครมีค่าลดหย่อนภาษีอะไรบ้างก็กรอกให้ครบถ้วน เพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี ส่วนพี่ทุยกรอกเป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ให้ดูตัวอย่างของคนที่ไม่ได้มีลดหย่อนอะไรเยอะก็มักจะเป็นลดหย่อนจากสวัสดิการบริษัทอย่างค่าเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และอาจมีซื้อประกันเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างประกันชีวิตและประกันสุขภาพ  

ขั้นที่ 9 ขั้นตอนตรวจสอบข้อมูล

ระบบจะสรุปข้อมูลเงินได้หักลบด้วยรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมด “เพื่อคำนวณภาษีที่ต้องชำระ” โดยหากใครสงสัยว่าตัวเลขที่โชว์มานั้นเกิดจากอะไรบ้างคลิกที่ “ดูวิธีการคำนวณ” เพื่อตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งได้ด้วย 

ขั้นตอนตรวจสอบข้อมูล

มาถึงตรงนี้อาจจะงงว่า “หักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท” คืออะไร มาจากไหน พี่ทุยขอสรุปสั้น ๆ ให้ฟังว่า ผู้ที่มีเงินได้ประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย (เงินเดือน / โบนัส) จะได้รับการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาสูงสุด 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (เงินส่วนนี้ไม่ถูกนำมาคิดภาษี)

จากตัวอย่างของพี่ทุยลองกรอกรายได้ปี 2566 เป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อหักลบกับค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และลดหย่อนภาษีที่ 95,100 บาท จะเหลือรายได้เพียง 104,900 บาท หรือที่เรียกว่า “เงินได้สุทธิ” จะถูกนำไปคำนวณภาษี แต่ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2566 เงินได้สุทธิ 1 – 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี !!!  เท่ากับว่า “ไม่เสียภาษี” นั่นเอง

แต่ก่อนหน้านี้ทางนายจ้างหักเงินเดือนพี่ทุยจ่ายภาษีไปแล้ว 1,500 บาท ระบบจึงระบุว่า “ยอดภาษีสุทธิ ชำระไว้เกิน” เราก็ขอคืนได้

ในอีกมุมหนึ่ง เกิดคำถามว่า “งั้นที่เราเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทแล้วไม่เสียภาษี ก็ไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้หรือเปล่า หากก่อนหน้านี้นายจ้างไม่ได้หักเงินเราไปจ่ายภาษี ? 

คำตอบคือ ผิด !! ต่อให้มีเงินได้อยู่ใน “ช่วงได้รับการยกเว้นภาษี” พี่ทุยให้อ่านอีกรอบ ประโยคดังกล่าวไม่ได้พูดว่า ได้รับการยกเว้นยื่นภาษี แต่เป็น ยกเว้นภาษี แสดงว่า “ต้องยื่นภาษีเพื่อแสดงรายได้ให้สรรพากร” ถ้าไม่ยื่นแล้วสรรพากรมาตรวจพบที่หลังต้องจ่ายค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บอกเลยว่า หนัก

ดังนั้น หากมีรายได้แม้แค่ 1 บาทก็ต้องยื่นภาษี เพราะตามอัตราภาษีเงินได้ระบุว่า 1 – 150,000 บาท 

พี่ทุยลองทำตัวอย่างใหม่ให้ดู หากพี่ทุยมีรายได้ปี 2566 เป็น 500,000 บาท แต่ส่วนลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เท่าเดิม (คล้ายทำงานไปแล้วเงินเดือนเราเพิ่ม แต่เราไม่ได้หารายการลดหย่อนภาษีเพิ่ม) พี่ทุยต้องเสียภาษีถึง 7,990 บาท ดังนั้น รายได้เพิ่มก็อย่าลืมหารายการลดหย่อนภาษีด้วยนะ 

รายได้เท่าไร เสียภาษี

หากใครที่ทำถึงขั้นนี้แล้ว ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมหลายพันบาท อย่าเพิ่งเครียดหรือหนีไม่ยื่นภาษี (อย่าทำนะ โดนย้อนหลังหนักกว่า) เพราะว่าทางสรรพากรสามารถให้เราผ่อนจ่ายได้ 3 งวดในระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หากยอดชำระภาษีเกิน 3,000 บาท โดยจะให้ชำระงวดแรก 9 เม.ย. 2567 (วันสุดท้ายที่กรมสรรพากรกำหนดให้ยื่นภาษีออนไลน์) ใครสนใจก็เลือกที่ “ต้องการ” แบ่งชำระภาษีเป็น 3 งวด 

นอกจากนี้ ใครต้องการอุดหนุนพรรการเมืองก็เลือกพรรคได้ตามใจเลย หรือหากไม่ต้องการก็เลือก “ไม่ต้องการ”

ขั้นที่ 10 ขั้นตอนยืนยันข้อมูลสำหรับการ ยื่นภาษีออนไลน์

เมื่อกรอกรายละเอียดยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91, ภ.ง.ด. 90 เรียบร้อยแล้ว สามารถเลือกพิมพ์แบบ บันทึกร่าง หรือกดยืนยันเพื่อส่งแบบยื่นภาษี 2566 ได้ทันที

ยื่นภาษีออนไลน์สำเร็จ

กรณี ชำระภาษีเกินและต้องการขอคืนภาษี ก็เลือกช่องทางโอนเข้าพร้อมเพย์ หรือตามวิธีในประกาศแต่ละปีของกรมสรรพากรได้

กรณี ชำระเพิ่มก็อย่าลืมจดรายละเอียดการชำระทั้งยอดเงิน กำหนดโอน และบัญชีของทางสรรพากรให้เรียบร้อย 

เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบยื่นภาษีออนไลน์แบบใหม่ด้วยตนเองแล้ว 

ยื่นภาษี 2567 หมดเขตเมื่อไหร่

จากข้อมูลหน้าเว็บไซต์ของสรรพาหร สามารถยื่นได้ตั้งแต่ “วันนี้ –  9 เม.ย. 2567” ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือขยายวันยื่นแบบภาษี ยังไงถ้ามีการเปลี่ยนแปลง พี่ทุยจะมาแจ้งอัปเดตอีกครั้ง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile