ต้องย้ำกันอีกทีว่า คนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี จะมีรายได้เท่าไหร่ก็ต้องยื่นเสียภาษี จะทำหมกเม็ดคิดว่าสรรพากรไม่มีทางรู้ไม่มีทางเห็น ก็ขอให้พับเก็บความคิดนี้ไป สรรพากรเดี๋ยวนี้จมูกดีมาก แล้วพอเรื่องแดงขึ้นมาว่า เราไม่จ่ายภาษีหรือจ่ายไม่ครบ พี่สรรพากรก็เรียก ภาษีย้อนหลัง บอกเลยเราต้องจ่ายคืนสาหัสเหมือนกันนะ
ภาษีย้อนหลัง คืออะไร
เมื่อสรรพากรตรวจสอบว่าเราเข้าข่ายเลี่ยงภาษี หรือชำระภาษีไม่ถูกต้อง เขาก็จะติดต่อมาให้เราไปชำระภาษีย้อนหลัง ซึ่งสรรพากรรู้รายได้เราได้ยังไง อ่านได้ที่นี่
วิธีตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากร
- ดูข้อมูลจากใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรอง หัก ณ ที่จ่าย) ที่ทางบริษัท ส่งให้กับกรมสรรพากร
- เจ้าหน้าที่สรรพากรออกตรวจเยี่ยมด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ นักธุรกิจ
- ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี ผู้เสียภาษีต้องส่งบัญชี เอกสาร เพื่อให้ทำการตรวจสอบ หากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจะเรียกคืนย้อนหลัง
- สถาบันการเงิน ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร เมื่อมีบริการ หรือรับโอนเงิน ผ่านระบบ E-payment จะ 3,000 ครั้งต่อปี หรือฝาก หรือโอนเงิน 400 ครั้ง โดยมียอดรวมของการากและโอนรวมกัน 2 ล้านบาทขึ้นไป
- ตรวจสอบผ่านเมนู การแจ้งเบาะแส / ข้อมูลแหล่งภาษีที่ www.rd.go.th
เมื่อโดนเรียก ภาษีย้อนหลัง ต้องทำอย่างไร
ควรตรวจสอบรายการภาษีย้อนหลัง โดยเฉพาะรายได้ของแต่ละปีว่ามีรายได้ทั้งหมดเท่าไหร่ เงินที่เข้าบัญชีที่เป็นส่วนของรายได้เท่าไหร่ เพื่อไปแสดงกับกรมสรรพากร หากเราชำระภาษีถูกต้องแล้วสามารถชี้แจงกับสรรพากรได้
แต่หากชัดเจนว่าเราจ่ายภาษีไม่ถูกต้องจริง ก็ควรนำเงินไปชำระภาษีตามที่สรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังแต่โดยดี
- ผู้ที่เคยชำระค่าภาษีมาก่อนหน้า
เมื่อได้รับหนังสือแจ้งเรื่องการชำระภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากร ให้รวบรวมหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อหาข้อแก้ต่างหรือลดหย่อนภาษีในเบื้องต้น
- ผู้ที่ยังไม่เคยจ่ายภาษีมาก่อนหน้านี้
ต้องชำระภาษีและค่าปรับตามยอดที่เจ้าหน้าที่บอก และติดต่อสำนักงานบัญชี เพื่อช่วยในการร่วมเข้าฟังกับกรมสรรพากร โดยค่าปรับจะเสียเงินเพิ่มจากภาษีอีกเดือนละ 1.5 % จากวันแรกที่เลยกำหนดเวลาในการยื่นภาษีไปจนถึงวันที่ทำการชำระภาษี
ขอลด, งดเว้นเบี้ยปรับ หรือขอผ่อนชำระ ภาษีย้อนหลัง ได้มั้ย?
เราสามารถติดต่อกับทางสรรพากร เพื่อขอผ่อนจ่ายเป็นงวด ซึ่งในส่วนของเบี้ยปรับภาษีที่ต้องชำระย้อนหลัง หากไม่มีเงินจริง ๆ สามารถพูดคุยเจรจากับสรรพากรได้ เพื่อที่ขอลดหรือยกเว้นค่าเบี้ยปรับ อาจจะให้เหตุผลกับเจ้าหน้าที่สรรพากรว่ายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษีอย่างถูกต้อง
แต่เงินต้นและเงินเพิ่มของภาษี ยังคงต้องจ่ายให้ครบถ้วน ไม่สามารถขอยกเว้นได้ แต่อาจลองขอเจรจาผ่อนชำระ ขึ้นอยู่กับสรรพากร
ค่าปรับ และดอกเบี้ยภาษีย้อนหลัง
1. ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ
- เสียเบี้ยปรับ 0.5 – 1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
2. ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด
- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท
- เสียเบี้ยปรับ 1 – 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
3. เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี
- มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
4. หนีภาษี
- มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี
- เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
- เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
การตรวจสอบภาษีย้อนหลัง มีอายุความเท่าไหร่?
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
มีอายุความตามหมายเรียก ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ยื่นภาษี แต่ถ้ามีหลักฐานว่าบุคคลนั้นจงใจ หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจริง จะสามารถขยายเวลาขออายุความไปได้ถึง 5 ปี และกรณีที่ผู้เสียภาษีเคยยื่นแบบภาษีจะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 10 ปี อีกทั้งกรมสรรพากรมีสิทธิเรียกดู รายการเดินบัญชี (Statement) ได้
- ภาษีธุรกิจ
สามารถเรียกเก็บย้อนหลังได้มากถึง 10 ปี ตาม มาตรา 193/31 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียก ซึ่งอายุความเรียกเอาหนี้ภาษีอากรคืน จะนับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดการยื่นแบบภาษี
ถ้าไม่อยากโดน ภาษีย้อนหลัง ต้องทำยังไง ?
- ต้องยื่นภาษีทุกปี และตรวจสอบเอกสารรายรับของธุรกิจให้ถูกต้องและครบถ้วนก่อนยื่นภาษี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาได้ในภายหลัง
- ทำบัญชีรายเดือน เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นภาษีรายได้ในแต่ละปี บัญชีเป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม
- ติดตามข่าวสารภาษี ตรวจสอบเงื่อนไขภาษีในแต่ละปี เพราะมักจะมีเงื่อนไขใหม่ ๆ ออกมาเสมอ และอาจเป็นประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษีอีกด้วย