แม้ Metaverse ยังไม่ถูกใช้ 100% แต่ชีวิตประจำวันของเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในเวลา 1 วันเราใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์อย่าง Google, Facebook, Instagram, YouTube, Netflix, Twitter และอื่น ๆ เกือบทั้งวัน โดยเนื้อหา ข้อมูลอันมหาศาลต่าง ๆ ของเเอปพลิเคชันเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในระบบ Cloud Computing
นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้หลายธุรกิจหันมาสนใจเทคโนโลยี Cloud Computing เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้การทำงานยืดหยุ่นผ่านระบบของ Microsoft, Google เเละอื่น ๆ ทำให้ด้านนักลงทุนเองต่างก็จับตามองบริษัทผู้ให้บริการ Cloud Computing ไปด้วย เพื่อจับจังหวะการลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้
จากที่กล่าวมานั้น หลายคนเริ่มมีคำถามว่า ระบบ Cloud Computing คืออะไร เกี่ยวข้องกับชีวิตเราขนาดนั้นเลยหรอ วันนี้พี่ทุยขอพาทุกคนไปรู้จักกับอุตสาหกรรมนี้ และส่องโอกาสลงทุนที่เติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีนี้
รู้จักเทคโนโลยี Cloud Computing รอบตัวเรา
Cloud Computing คือบริการที่ให้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ โดยครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมวลผล จัดเก็บข้อมูล การใช้ Cloud Computing มีประโยชน์มากมายต่อธุรกิจ เช่น ระบบมีความน่าเชื่อถือสูง มีผู้เชี่ยวชาญระบบดูแล ลดความยุ่งยากติดตั้งและดูแลระบบ และที่มีประโยชน์สูงสุด คือ ขยายการใช้งานได้รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายต่ำ
เรื่องของค่าใช้จ่ายต่ำเป็นจุดเด่นข้อสำคัญมากที่ทำให้ Cloud ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายกับ Internal System หรือที่เราเรียกกันว่า Server ที่เป็นเทคโนโลยีรุ่นก่อนพบว่า Cloud มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าถึง 77% โดยลดค่าใช้จ่ายส่วนฮาร์ดแวร์ บุคลากร และการบำรุงรักษา
ประเภทผู้ให้บริการ Cloud Computing
บริษัทที่ใช้ระบบ Server นอกจากจะติดตั้งเครื่องเซิฟเวอร์ขนาดใหญ่ไว้ที่บริษัทแล้ว ยังต้องจัดการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบเองทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น Application (โปรแกรมช่วยผู้ใช้งาน), Data, Operating System, Storage และ Networking
ส่วนผู้ให้บริการ cloud แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
- IaaS (Infrastructure as a Service) เช่น Azure IaaS services, Amazon Web Services (AWS)
ให้บริการด้านโครงสร้างระบบพื้นฐาน (Networking, Server) ระบบเก็บข้อมูล (Storage) เพื่อรองรับการเก็บ Data ผ่าน Application และ Operating System ที่บริษัทผู้ใช้งานเป็นผู้จัดการเอง
- PaaS (Platform as a Service) เช่น Google App Engine (GAE), Microsoft Azure
ผู้ให้บริการประเภทนี้จะจัดเตรียมโครงสร้างระบบพื้นฐาน (Networking / Server) ระบบเก็บข้อมูล (Storage) และระบบปฏิบัติการ (Operating System) ส่วนผู้ใช้บริการจะจัดการด้าน Application และ Data เอง ซึ่งบริษัทที่ใช้งาน Cloud ประเภทนี้จะเป็นกลุ่มผู้พัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชัน
- SaaS (Software as a Service) เช่น Google Apps
เป็นผู้ให้บริการครบวงจรตั้งแต่ Application, Data, Operating System, Server, Storage และ Networking ผู้ใช้เพียงจ่ายค่าบริการรายเดือนเท่านั้น
การใช้งานในปัจจุบัน
ผลสำรวจเมื่อปี 2020 จาก IDG บริษัทข่าวสารเทคโนโลยีพบว่า 81% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามเริ่มใช้บริการ Cloud กับธุรกิจแล้ว เช่น ระบบบริการลูกค้า, การพัฒนาโปรแกรม เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 73% อีก 12% มีแผนจะใช้ระบบ Cloud ในอีก 12 เดือนข้างหน้า และ 8% มีแผนจะใช้ระบบ Cloud ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งตัวเลขนี้ลดลงมาตลอดสะท้อนว่าธุรกิจหันมาใช้ Cloud อย่างต่อเนื่อง
แบบสอบถามเปิดเผยอีกว่า งบด้านเทคโนโลยีเฉลี่ยกว่า 32% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามจะถูกนำไปลงทุนด้าน Cloud เพิ่มขึ้นจาก 30% เมื่อปี 2018
ระบบ Cloud (SaaS) ถูกใช้ในหลายอุตสาหกรรม มีกลุ่มธนาคาร หลักทรัพย์ และประกัน เป็นผู้ใช้หลักคิดเป็น 40% ตามด้วยกลุ่มธุรกิจสื่อสารและบันเทิง 18% ภาครัฐ 16% และการผลิต อุตสาหกรรมยา และวิทยาศาสตร์ 12%
ปัจจัยหนุนการเติบโตในอนาคต
จากที่เล่ามาพี่ทุยสรุปว่า Cloud ช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการบำรุงรักษาและบุคลากร นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเมื่อต้องขยายธุรกิจน้อยกว่าระบบเซิฟเวอร์แบบเก่า จึงได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะยุคโควิด-19 เปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ 180 องศาเช่นนี้
International Data Center (IDC) คาดการณ์ว่าปี 2025 จะมีปริมาณข้อมูลในโลกออนไลน์มากถึง 175 zettabytes จากปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 33 zettabytes เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า ประกอบกับกระแส 5G และ IoT ยิ่งต้องพึ่งพาระบบ Cloud เพื่อจัดเก็บข้อมูลมากยิ่งขึ้นไปอีก
ส่วนต้นทุนค่าใช้จ่ายก็มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วตาม Wright’s Law ที่กล่าวว่าต้นทุนจะลดตามปริมาณการผลิตที่มากขึ้น พร้อมด้วย Moore’s Law ที่ว่าด้วยประสิทธิภาพอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 2 ปี
เรียกได้ว่าความต้องการ Cloud เพิ่มขึ้นแน่นอน ด้านประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นพร้อมต้นทุนที่ลดลงต่อเนื่อง
ตัวอย่างการใช้งานที่น่าสนใจ
Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งระดับโลกเริ่มหันมาใช้ระบบ Cloud เมื่อปี 2008 หลังพบปัญหาระบบข้อมูลและไม่สามารถส่ง DVD ให้ลูกค้า 3 วัน จนเมื่อเดือน ม.ค. 2016 Netflix ก็เสร็จสิ้นการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ Cloud อย่างสมบูรณ์ ความยืดหยุ่นของระบบ Cloud เอื้อต่อการใช้งานจากผู้ใช้มากมายในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังเก็บข้อมูลได้มหาศาลและขยายพื้นที่ได้ไม่จำกัด
ถ้า Netflix ยังใช้ระบบ Server แบบเก่าก็คงไม่มี Netflix ให้เราได้ใช้งานอย่างทุกวันนี้ โดย ณ วันนี้ 2021 Netflix ให้บริการกว่า 190 ประเทศทั่วโลก รายได้เมื่อปี 2016 อยู่ที่ 8,830 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2020 เพิ่มขึ้นมาที่ 25,000 ล้านดอลลาร์
อุปสรรคการเติบโตที่ต้องจับตามอง
ผลสำรวจจาก IDG ชี้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความกังวลประเด็นความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัยของระบบ ตามด้วยเรื่องการตรวจสอบและต้นทุน แม้จะใช้งานง่ายแค่ไหนก็ยังพบว่าบริษัทมีความกังวลเรื่องการประยุกต์กับระบบที่ใช้อยู่ การฝึกฝนทักษะ และแรงต่อต้านจากบุคลากร
ดังนั้นจุดที่บริษัทผู้ให้บริการต้องสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ใช้บริการก็คือด้านความปลอดภัย ถ้าทำได้การเติบโตจะตามมาอีกมหาศาลแน่นอน
อุตสาหกรรมให้บริการ Cloud เหมาะกับธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องการความคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะการบำรุงรักษา นอกจากนี้เทรนด์ 5G และ IoT ยังเป็นปัจจัยขนาดยักษ์ที่จะหนุนความต้องการใช้ Cloud เติบโตต่อไปในอนาคต
ถ้าหากใครสนใจอยากลงทุนหรือศึกษาเพิ่มเติม พี่ทุยก็มีกองทุน กองทรัสต์ในไทย และหุ้นต่างประเทศที่จะได้ประโยชน์จากเทรนด์การเติบโตนี้มาฝากกัน
ตัวอย่างกองทุน Cloud และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากกระแส Cloud Computing
1. กองทุน TCLOUD
ลงทุนผ่านกองทุน Global X Cloud Computing ETF ลงทุนในบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี Cloud ปัจจุบันมีสัดส่วนลงทุนในบริษัทที่น่าสนใจมากมาย เช่น Shopify, Netflix, Salesforce, Zoom เป็นต้น
2. กองทุน PRINCIPAL GCLOUD-A
ลงทุนผ่านกองทุน WisdomTree Cloud Computing UCITs ETF ลงทุนในธุรกิจ Cloud Computing ซึ่งรับประโยชน์จากการขยายตัวของโลกออนไลน์ มีสัดส่วนบริษัทในกองทุนนี้ เช่น Cloudflare, Atlassian, Salesforce, Adobe เป็นต้น
3. Amazon
เจ้าแห่ง E-Commerce กลับเป็นผู้นำด้าน Cloud ของโลกด้วยเช่นกัน มีส่วนแบ่งตลาดที่ 32% ผลิตภัณฑ์หลักรู้จักกันชื่อ AWS ในไตรมาสที่ 3 ปี 2021 สร้างรายได้ให้ Amazon คิดเป็นประมาณ 14.5% ของรายได้ทั้งหมดเติบโต 39% (YoY)
4. Microsoft
ภาพจำสินค้าหลักสำหรับหลายคนอาจเป็น Windows แต่เมื่อ Satya Nadella ก้าวขึ้นเป็น CEO ก็พลิกฟื้นตัว Microsoft ด้วยการให้บริการ cloud ทำรายได้คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด แต่ละไตรมาสเติบโตประมาณ 10-20% มี Azure ซึ่งไตรมาส 3 ปี 2021 เติบโต 50% (YoY) เป็นผลิตภัณฑ์หลัก
5. Google
บริการ Cloud เป็นความพยายามกระจายแหล่งรายได้ของ Google มีสัดส่วน 7.6% ของรายได้ทั้งหมด เมื่อไตรมาส 3 ของปี 2021 รายได้ Cloud เติบโต 45% (YoY) ส่วนแบ่งตลาดอยู่อันดับที่ 3 เป็นรองผู้นำอย่าง Amazon และ Microsoft ประมาณเท่าตัว
6. Salesforce
ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ Customer Relationship Management (CRM) โดยการเก็บข้อมูลลูกค้า ประมวลผล และจัดทำรายงาน พร้อมนำเทคโนโลยี Cloud มาใช้เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้สะดวก รายได้ไตรมาส 2 ปี 2021 เติบโต 23% (YoY)
7. IBM Cloud
แพลตฟอร์มเปิดให้ผู้ใช้บริการเลือกการจัดเก็บตามโครงสร้างข้อมูลและมีการนำ AI มาใช้เพื่อให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล ต้องยอมรับว่า IBM เป็นยักษ์หลับที่เพิ่งกลับมาแข่งขันเพื่อกอบกู้สถานการณ์ในสนามที่ตัวเองไม่ใช่รายใหญ่อีกแล้ว ส่วนแบ่งตลาดจึงคิดเป็นแค่ 5% เท่านั้น
8. Alibaba Cloud
หลังเป็นผู้นำ E-Commerce ในประเทศจีน Alibaba หันมาลุยสมรภูมิ Cloud เพื่อหาช่องทางรายได้เพิ่ม เริ่มให้บริการหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยแต่ยังไม่แพร่หลายในฝั่งตะวันตก มีเครื่องมือวิเคราะห์พร้อม AI เช่นเดียวกับบริษัทรายใหญ่จากสหรัฐฯ ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 6% ซึ่งยังห่างจากผู้นำอย่าง Amazon, Microsoft และ Google
9. Oracle Cloud
เสนอบริการพื้นที่เก็บข้อมูลที่ยืดหยุ่นและปรับขนาดได้ มีเครื่องมือวิเคราห์และบริการประมวลผลข้อมูล จุดเด่นของ Oracle Cloud มีคุณสมบัติเด่นด้านความปลอดภัยรวมถึงการเข้ารหัสความปลอดภัยข้อมูลทั้งหมดทันทีที่เก็บเข้าแพลตฟอร์ม ส่วนแบ่งการตลาด Oracle Cloud อยู่ที่เพียง 2%
10. Tencent Cloud
ผู้ให้บริการ Cloud จากจีน มาพร้อมความสามารถที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของ IaaS, PaaS, SaaS ไปจนถึงบริการด้าน Data และ AI เพื่อให้ธุรกิจองค์กรสามารถเริ่มต้นใช้งานได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์ยังคล้าย Alibaba ที่ยังรุกตลาดฝั่งตะวันตกไม่สำเร็จ จึงมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 2%
11. INETREIT
เป็นกองทรัสต์ในไทยที่มีนโยบายการลงทุนใน Data Center ให้บริการสำหรับธุรกิจที่ต้องการจัดเก็บรักษาข้อมูลในลักษณะ Cloud Solutions รวมถึงใช้บริการเป็นพื้นที่รับฝากเซิฟเวอร์สำหรับองค์กรที่ต้องการความปลอดภัยสูง