คนไทยเสียภาษีกี่คน มนุษย์เงินเดือนแบกภาษีจริงหรือ?

คนไทยเสียภาษีกี่คน มนุษย์เงินเดือนแบกภาษีจริงหรือ?

4 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ข้อมูลปี 2564 ที่ประชาชนยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10.3 ล้านคน โดยมีผู้ที่เสียภาษี 4.17 ล้านคน เมื่อคิดจากประชากรไทยจำนวน 66 ล้านคน จะได้อัตราส่วนคนไทยที่เสียภาษี 6.31% ของประชาชนทั้งหมด
  • ข้อมูลปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีรายได้ที่เป็นภาษีอากร 2.805 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78% ของรายได้ประเทศทั้งหมด นำโดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 9.364 แสนล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 7.476 แสนล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.742 แสนล้านบาท
  • ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ปี 2563 อยู่ที่ 15.73% น้อยกว่าประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แถมยังอยู่ในแนวโน้มขาลงนับตั้งแต่ไปแตะระดับสูงสุดในปี 2556 ที่ 18.44%

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

สำหรับมนุษย์เงินเดือนการยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาก็แทบเป็นอีเว้นท์ใหญ่ประจำปี ซึ่งมักจะเกิดคำถามขึ้นมาเสมอ จริงหรือไม่คนไทยส่วนน้อยที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แบกภาษีของประเทศนี้อยู่ เพราะจ่ายภาษีอยู่กลุ่มเดียว สรุปแล้ว คนไทยเสียภาษีกี่คน วันนี้พี่ทุยขอพาทุกคนไปเจาะลึกว่าปัญหาว่า คนไทยส่วนน้อยแบกรับภาษีแทนคนส่วนใหญ่จริงหรือเปล่า ไปฟังกัน

คนไทยเสียภาษีกี่คน 6% ของคนไทยเท่านั้นที่เสียภาษี จริงหรือ?

มีคนไทยแค่ 6% ที่เสียภาษี วลีเด็ดนี้มาจากข้อมูลปี 2564 ที่ประชาชนยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10.3 ล้านคน โดยมีผู้ที่เสียภาษี 4.17 ล้านคน เมื่อคิดจากประชากรไทยจำนวน 66 ล้านคน จะได้อัตราส่วนคนไทยที่เสียภาษี 6.31% ของประชาชนทั้งหมด

โดยข้อมูลย้อนหลังระหว่างปี 2562-2563 มีรายละเอียดการเสียภาษีของประชาชนชาวไทย ดังนี้

  • ปี 2562 ประชาชนยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11.8 ล้านคน มีผู้เสียภาษี 4.02 ล้านคน
  • ปี 2563 ประชาชนยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10.6 ล้านคน มีผู้เสียภาษี 3.95 ล้านคน

อ้างอิงจากข้อมูลปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีรายได้ที่เป็นภาษีอากร (เก็บจากประชาชนโดยตรง) 2.805 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78% ของรายได้ประเทศทั้งหมด นำโดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 9.364 แสนล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคล 7.476 แสนล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.742 แสนล้านบาท

ในส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาส่วนใหญ่ 79% มาจากเงินเดือน และอีก 21% มาจากช่องทางอื่น แสดงว่าประชาชนที่แบกภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน

ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีคนไทยแค่ 6 ใน 100 คนเท่านั้น ที่เข้าระบบภาษีบุคคลธรรมดา นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ประชาชนทั้งประเทศก็ยังต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม เวลาจับจ่ายสินค้าอยู่แล้ว ซึ่งนับว่า VAT เป็นเงินภาษีก้อนที่ใหญ่ที่สุดของรายได้รัฐ

สัดส่วนรายได้จากภาษีกับ GDP ของไทย เป็นยังไงบ้าง?

แม้ปี 2563 ประเทศไทยจะมีรายได้จากภาษีรวมทุกประเภทเพิ่มมาเป็น 2,863,398 ล้านบาท จากปี 2546 ที่มีรายได้จากภาษี 968,330.21 แต่สัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP ซึ่งนับตั้งแต่ไปแตะระดับสูงสุดในปี 2556 ที่ 18.44% กลับอยู่ในแนวโน้มขาลง จนมาถึงปี 2562 อยู่ที่ 16.14% และปี 2563 อยู่ที่ 15.73%

จากข้อมูลปี 2563 เมื่อเทียบกับประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศไทยกลับพบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP น้อยกว่า เช่น ตุรกีอยู่ที่ 16.78%, บราซิลอยู่ที่ 23.33%, แอฟริกาใต้อยู่ที่ 25.14% และจีนอยู่ที่ 16.26%

ส่วนประเทศที่มีรายได้สูงมีรายได้ภาษีต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 20% แต่ที่น่าสนใจมากคือ สัดส่วนรายได้ภาษีต่อ GDP กลับไม่มีแนวโน้มลดลงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เช่น

  • สหรัฐฯ ปี 2553 อยู่ที่ 17.28% ปี 2563 อยู่ที่ 19.19%
  • เกาหลี้ใต้ ปี 2553 อยู่ที่ 17.15% ปี 2563 อยู่ที่ 20.05%
  • สวิตเซอร์แลนด์ ปี 2553 อยู่ที่ 19.72% ปี 2563 อยู่ที่ 20.80%

จากข้อมูลนี้ยืนยันชัดว่าประเทศไทยมีรายได้ภาษีต่อ GDP น้อยกว่าทั้งประเทศที่อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกันและประเทศรายได่สูง แถมสัดส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงด้วย

มาถึงตรงนี้ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีปัญหาด้านภาษีอยู่ 2 ปัญหาหลัก คือ

  1. มนุษย์เงินเดือนแบกภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  2. รายได้ภาษีต่อ GDP น้อยกว่าประเทศอื่นและเริ่มลดลง

พี่ทุยขอพาไปดูสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหามนุษย์เงินเดือนแบกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันก่อน

1. สาเหตุมนุษย์เงินเดือนแบกภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สาเหตุแรกหันมามองด้านประชาชนจากผลสำรวจจำนวน 6,970 คน เมื่อเดือน ต.ค. 2565 พบว่า 37.5% ไม่ยินยอมให้เก็บภาษี หนึ่งในสาเหตุเพราะกังวลว่าการจัดสวัสดิการให้ประชาชนไม่ทั่วถึง ไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้ ทำให้มองหาช่องทางการไม่ยื่นหรือไม่จ่ายภาษี

ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงอีกสาเหตุด้านโครงสร้างทั้งฐานภาษีที่แคบไม่ครอบคลุมไปถึงเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ ทำให้มีบุคคลจำนวนมากไม่ยื่นแบบภาษีหรือปกปิดรายได้บางส่วนเพื่อเลี่ยงภาษี และไม่มีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ไม่ยื่นแบบภาษีหรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

ทำให้มนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบภาษีเป็นกลุ่มหลักที่แบกภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางแก้ปัญหามนุษย์เงินเดือนแบกภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

รัฐบาลต้องหาวิธีทำให้ประชาชนยินดีและเต็มใจเป็นส่วนหนึ่งของระบบภาษี ซึ่งจากสาเหตุแล้วต้องแก้ที่การใช้ภาษีอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนโดยแก้ปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น เพิ่มงบด้านลงทุน โดยระหว่างปี 2563-2566 งบรายจ่ายประจำอยู่ที่ 75-77% ของงบประมาณทั้งหมด แต่วางแผนงบลงทุนไว้เพียง 25% และใช้จริง 19-21%

ต่อมาต้องมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้งบประมาณอย่างเป็นรูปธรรมคล้ายการวัด KPI ของบริษัท ซึ่งช่วยให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมโยงภาษีที่จ่ายกับสิ่งที่ได้รับจากภาครัฐ สุดท้ายต้องแก้ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลยาก เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงความคืบหน้าและประสิทธิภาพของสวัสดิการที่ได้รับ

อีกส่วนหนึ่งภาครัฐต้องเพิ่มความเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มโทษของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภาษี และเพิ่มแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดาเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น เช่น ให้สวัสดิการความช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในระบบภาษีก่อน

2. สาเหตุรายได้ภาษีต่อ GDP น้อยกว่าประเทศอื่นและเริ่มลดลง

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากหมวดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียงอย่างเดียว ต้องมองครอบคลุมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งพี่ทุยได้พูดถึงปัญหาส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว

เริ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีสาเหตุคล้ายกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ธุรกิจไม่ยอมเข้าระบบ VAT สาเหตุเกิดจากต้องขึ้นราคาสินค้า 7% ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งที่ไม่เข้าระบบ แถมมีกระบวนการยุ่งยาก (ถึงยุ่งขั้นสุด) ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มตามมาอีก นอกจากนี้บางธุรกิจยังเลี่ยงการเก็บ VAT เพื่อให้ราคาสินค้าต่ำลง สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลก็เจอปัญหาธุรกิจไม่เข้าระบบภาษี ทำให้ปี 2561 ประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบภาษีสูงถึง 44.7% ของ GDP นอกจากนี้ธุรกิจยังยื่นรายได้ต่ำกว่าที่ได้รับจริงโดยเฉพาะกลุ่ม SME ใช้สิทธิประโยชน์รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท เลี่ยงการมีรายได้เกิน 30 ล้านบาท ท้ายสุดมาจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้

ทางแก้ปัญหารายได้ภาษีต่อ GDP น้อยกว่าประเทศอื่นและเริ่มลดลง

ในด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาครัฐต้องจูงใจธุรกิจให้เข้าสู่ระบบภาษี VAT ด้วยการผ่อนคลายกฎการยื่นภาษี ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และไม่ใช้เกณฑ์เดียวกับทุกขนาดธุรกิจ และจูงใจผู้บริโภคให้อยากขอใบเสร็จเพื่อให้ธุรกิจต้องรายงานรายได้ตรงกับที่ได้รับจริง

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาครัฐควรจูงใจให้กลุ่ม SME เข้าสู่ระบบภาษีและเติบโตมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีจากขั้นภาษีที่เพิ่มแรงเมื่อรายได้มากกว่า 30 ล้านบาท เป็นขั้นบันไดแบบค่อยเป็นค่อยไป และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่กลุ่ม SME

ขณะที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับนักลงทุนต่างชาติควรเปลี่ยนเป็นสิทธิประโยชน์ที่ตรงกับเป้าหมายบริษัท โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องมักตัดสินใจทำธุรกิจจากปัจจัยอื่น เช่น ความยากง่ายในการทำธุรกิจ กฎระเบียบของประเทศ มากกว่าเรื่องภาษี

สุดท้ายทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาครัฐต้องให้สิทธิประโยชน์และการช่วยเหลือกับธุรกิจที่อยู่ในระบบภาษีก่อน แต่หากจูงใจแล้วยังมีการหลีกเลี่ยง หน่วยงานภาครัฐต้องเพิ่มความเข้มงวดในการใช้กฎหมายและเพิ่มโทษหากมีการหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้ธุรกิจที่เข้าระบบภาษีต้องเสียเปรียบ

สรุปปัญหาภาษีของไทย

พี่ทุยมองว่าภาครัฐต้องจัดการด้านความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพื่อจูงใจให้ทั้งบุคคลและธุรกิจเข้าสู่ระบบภาษี จะได้ขยายฐานภาษีเพิ่มรายได้ภาษีให้ประเทศ และต้องควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้บุคคลและธุรกิจที่เข้าสู่ระบบภาษีเสียเปรียบกลุ่มที่ยังไม่เข้าระบบภาษี และเกิดพฤติกรรมเลี่ยงการยื่นภาษีในที่สุด

พี่ทุยเน้นย้ำว่าต้องจูงใจให้บุคคลและธุรกิจมีความอยากเข้าระบบภาษีมากกว่าการใช้ยาแรงอย่างการบังคับใช้กฎหมาย เพราะจะได้ทั้งระบบภาษีที่ดีขึ้น ใช้ได้ในระยะยาว และมีงบประมาณพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile