วนเเวียนมาถึงเทศกาลยื่นภาษีอีกครั้ง แต่มีหลายคนที่อาจจะยังไม่รู้ว่าเวลาเรายื่นภาษี เราสามารถ ขอคืนภาษี ที่เรายื่นไปด้วยนั่นเอง ซึ่งแต่ละคนอาจจะได้เงินคืนหรือไม่ก็ได้ เพราะแหล่งที่มาของรายได้, ค่าลดหย่อน และฐานภาษีของเราทุกคนล้วนแตกต่างกัน วันนี้พี่ทุยเลยจะพาทุกคนไปดูวิธีเช็คว่าเราจะ ขอเงินภาษีคืน ได้จากช่องทางไหนบ้าง ไปฟังกัน
วิธี ขอคืนภาษี ของเราเอง ใครจะได้เงินภาษีคืน
การขอเงินคืนภาษีนั้นเป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีสามารถทำได้ หากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีมากกว่ามูลค่าภาษีที่ตัวเองมีหน้าที่ต้องจ่ายจริง จากการคำนวณภาษี เมื่อยื่นเงินภาษีไป สรรพากรก็จะพิจารณาตามเงื่อนไข และคืนเงินภาษีบางส่วนที่เกินกว่าที่จ่ายจริงกลับมาให้เรา เช่น ภาษีปันผลหุ้น แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าเรามีเงินภาษีที่ขอคืนได้
อ่านเงื่อนไขการขอคืนเงินภาษีเงินปันผลหุ้น
วิธีตรวจสอบมูลค่าภาษีที่ขอคืนได้
หลังจากที่เรายื่นภาษี ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91 เสร็จแล้วผ่านเว็บของสรรพากร ตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือน ม.ค. ถึง เม.ย. ขั้นตอนสุดท้ายของการยื่นภาษีจะมีปรากฏว่าเราสามารถขอคืนได้เท่าไหร่ในช่องของ “ยอดภาษีสุทธิชำระไว้เกิน”
จากนั้นหน้าเว็บไซต์จะถามเราว่า “ต้องการขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินไหม” นี่แหละ เป้าหมายของเราในครั้งนี้ คลิกได้เลยตรง “ต้องการขอคืน” ซึ่งทางเว็บไซต์จะแจ้งผลไปที่เบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้นั้นเอง โดยจะแสดงรายละเอียดให้ตรวจสอบอยู่ด้านล่าง
เมื่อเราตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นคลิก “ถัดไป” หน้าเว็บไซต์จะแสดงผลการยื่นแบบภาษีสำเร็จ
เมื่อยื่นแบบสำเร็จแล้วขั้นตอนต่อไปคือการติดตามการขอคืนเงินภาษี
ตรวจสอบ ขอคืนภาษี 2567
เมื่อเรายื่นภาษีสำเร็จแล้ว เราสามารถเช็คการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91 ได้จากขั้นตอนต่อไปนี้
1. เข้าไปที่ระบบ My Tax Account ของสรรพากร
2. เข้าสู่ระบบด้วย
2.1 เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือ ชื่อผู้ใช้งาน e-filing
2.2 กรอกรหัสผ่าน ซึ่งเป็นรหัสเดียวกับตอนที่ยื่นภาษี
2.3 Laser ID หลังบัตรประจำตัวประชาชน และ
2.4 OTP ที่ส่งไปส่งเบอร์โทรศัพท์
3. เข้าสู่ระบบสำเร็จ ระบบจะโชว์รายละเอียดของผู้เสียภาษีทั้งชื่อ เลขที่ประจำตัวประชาชน และที่อยู่ที่ติดต่อได้
- ตรวจสอบสถานะการขอคืนภาษี คลิกที่ “ติดตามสถานะและส่งเอกสาร”
4. ระบบจะโชว์สถานะการยื่นภาษีว่าอยู่ที่ขั้นตอนใดแล้ว
- หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อที่สรรพากรพื้นที่ที่ดูแลภาษีของเพื่อน ๆ ได้โดยตรง อย่างของพี่ทุยก็ขึ้นตรงกับพื้นที่ 19 ก็จะโชว์หมายเลขติดต่อให้ตามนี้เลย
5. กรณีที่ยื่นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไม่ครบถ้วนก็สามารถยื่นเพิ่มเติมได้ แค่คลิก “เลือกเอกสารเพื่อนำส่ง”
6. ช่องทางการรับคืนเงินภาษี
เราจะสามารถเลือกได้เมื่อกรมสรรพากรอนุมัติเงินคืนภาษี ซึ่งสามารถเลือกได้ 3 ช่องทาง ได้แก่
- พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชน กรมสรรพากรจะทำการโอนเงินภาษีที่ได้อนุมัติคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์
- รับเงินคืนภาษีเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย หรือ ธ.ก.ส.
- คืนเงินภาษีด้วยเช็กคืนภาษี กรณีผู้ขอคืนชาวต่างชาติ ห้างหุ้นส่วนสามัญ (หสม.) คณะบุคคล กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และวิสาหกิจชุมชน โดยมีการส่งเช็คไปพร้อมกับหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) ขึ้นเงินที่ธนาคารใดก็ได้ที่เปิดบัญชีในประเทศไทย
โดยล่าสุด สรรพากรได้ยกเลิกช่องทางรับเงินคืนภาษีเข้าบัตร e-Money แล้ว เนื่องจากไม่ค่อยมีคนใช้ และต้นทุนสูง
รวมไปถึงหากทำตามขั้นตอนของกรมสรรพากรทั้งหมดแล้ว แต่เจอการคืนภาษีให้ล่าช้า เรามีสิทธิได้รับเงินคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน โดยเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไปด้วยนะ
เท่านี้เราก็สามารถขอเงินคืนเงินภาษีบางส่วนที่เราจ่ายไปมากกว่าที่จ่ายจริงได้แล้ว พี่ทุยขอแนะนำว่าการยื่นภาษีทุกครั้ง ควร “เตรียมและส่งเอกสาร” ทุกอย่างให้ครบถ้วนและตรงตามความเป็นจริงทุกครั้ง เพราะจะทำให้การอนุมัติขอคืนเงินภาษีผ่านได้ง่าย และรวดเร็ว
หากข้อมูลไม่ชัดเจน ทางสรรพากรจะขอให้เราอัปโหลดข้อมูลเข้าไปเพิ่ม ซึ่งนั่นอาจจะส่งผลให้การได้คืนเงินภาษีล่าช้าได้ รวมไปถึงเมื่อมีเงินภาษีที่สามารถขอคืนได้ ก็ควรผูกพร้อมเพย์ให้เรียบร้อยทันที เพื่อเตรียมพร้อมในการรอรับเงินนั่นเอง
อ่านต่อเพิ่มเติม