ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เปิดเผยรายงานการประชุมเดือน ก.ค. ที่ชี้ว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นชอบ ให้ลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE หรือที่เรียกว่า QE tapering ภายในปี 2021 ต่างจากก่อนหน้าที่ตลาดคาดว่าการที่ “Fed หยุดอัดฉีดเงิน” จะดำเนินการช่วงต้นปี 2022 ภายหลังเปิดเผยรายงานดังกล่าว ดัชนี Dow Jones ปรับตัวลงมาปิด -1.08% เช่นเดียวกับดัชนี Nasdaq ปิดตลาดที่ -0.89% ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นยุโรป (STOXX 600) ก็ปรับตัวลงรับข่าว -2.04% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วเอเชียที่ปรับตัวประมาณ 1-2%
มติของ Fed ที่หยุดอัดฉีดเงิน เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้น อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 2021 อยู่ที่ 5.4% ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 14.7% เมื่อเดือน พ.ค. 2020 ประกอบกับปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สินค้าคงคลังลดลงจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น พร้อมหนุนตัวเลขค้าปลีกฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้แม้จะยังไม่ถึงขั้นกลับสู่สภาพก่อนการแพร่ระบาดแต่ก็สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มไม่ต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นจาก Fed แล้ว นี่จึงเป็นสาเหตุให้ Fed สามารถลดการทำ QE
อ่านเพิ่ม
นับตั้งแต่โลกรู้จักกับการทำ Quantitative easing (QE) ระดับมหาศาลเป็นครั้งแรกในปี 2008 ซึ่งเป็นนโนบายการเงินที่ถูกนำมาใช้ภายหลังการลดอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นการพิมพ์เงินแล้วนำไปซื้อหนี้เสียเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบการเงินอีกครั้ง การลด QE เคยเกิดขึ้นครั้งเดียวช่วงปลายปี 2013 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า Taper Tantrum ซึ่งมีความคล้ายกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
พี่ทุยขอพาไปย้อนดูเหตุการณ์ครั้งนั้นพร้อมความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลกที่แม้จะปรับตัวลงแต่ก็มีโอกาสลงทุนเช่นกัน
Taper Tantrum คือเหตุการณ์ตื่นตระหนกของตลาดรอบโลก ในปี 2013 หลังจาก Fed ประกาศว่าจะปรับลดวงเงินในการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ Quantitative easing
เดือน ก.ย. 2012 Fed เริ่มต้นมาตรการ QE เป็นรอบที่ 3 ซื้อทั้งพันธบัตรและ MBS รวมทั้งสิ้นเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ จนเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2013 จุดเริ่มต้นของ Taper Tantrum เกิดขึ้นเมื่อนาย Ben Bernanke ประธาน Fed เปิดเผยว่ามีแผนการลด QE หาก Fed เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องและมั่นใจว่าจะยั่งยืน ในช่วง Q&A ของการแถลงต่อคณะกรรมาธิการร่วมด้านเศรษฐกิจสภาคองเกรส ซึ่ง Fed เริ่มลด QE ได้จริงก็ต้องใช้เวลาอีก 7 เดือน โดยเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2013 จากเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ เหลือ 75,000 ล้านดอลลาร์
ตลาดหุ้นทั่งโลกต่างปรับตัวลงทันทีตลอด 1 เดือนนับตั้งแต่การเปิดเผยเมื่อเดือนพ.ค. 2013 ในฝั่งสหรัฐฯ ทั้งดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ร่วงลงมาจนมีผลตอบแทนต่ำที่สุด -4.97% และ -4.12% ตามลำดับ ดัชนี STOXX 600 ก็ร่วงแตะจุดต่ำสุดที่ -11.25% ด้านฝั่งเอเชียอย่างดัชนี CSI 300 ของจีน ปรับตัวลงต่ำที่สุด -17.47% ส่วนดัชนี SET แตะระดับต่ำสุดที่ -16.38%
แต่ก็เป็นธรรมชาติของตลาดหุ้นที่มักตกใจกับความกังวลระยะสั้น โดยผ่านไปเพียง 3 เดือนตลาดหุ้นฝั่งตะวันตกก็เริ่มฟื้นตัว และหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด หรือหากนับตั้งแต่เริ่ม Taper Tantrum ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2014 ซึ่ง Fed ลด QE จนหมด ดัชนีตลาดหุ้นทั้ง S&P 500, Nasdaq และ STOXX 600 ต่างมีผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด ในทางกลับกันผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นไทยไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่ผลตอบแทนจะพลิกฟื้นกลับมาขึ้นเป็นบวกได้
ปี 2021 Fed หยุดอัดฉีดเงิน (QE) อีก จะเป็นอย่างไร
พี่ทุยมองว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคงไม่แตกต่างจากเมื่อปี 2013 สักเท่าไหร่ แต่อาจมีผลกระทบเชิงลบน้อยลง เนื่องจากตลาดมีประสบการณ์มาแล้ว จะเห็นว่า 1 เดือนหลังตลาดรับรู้แผนการลด QE เป็นช่วงเวลาที่ตลาดกังวลปรับตัวลงแต่กลับเป็นโอกาสซื้อในดัชนี S&P 500, Nasdaq และ STOXX 600 ในส่วนตลาดหุ้นจีนและไทยกลับแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ผลตอบแทนแสดงให้เห็นชัดเจนว่าควรหลีกเลี่ยงรอจนกว่าการลด QE จะเสร็จสิ้น
ในปี 2018 Fed เริ่มการลด Balance sheet ที่เรียกว่า Quantitative Tightening (QT) ซึ่งเป็นกระบวนการดึงสภาพคล่องที่เคยเพิ่มเข้าระบบก่อนหน้านี้ออก เพื่อลดอุปสงค์ ป้องกันภาวะเงินเฟ้อที่สูงเกินไป โดย Fed เริ่มลด Balance sheet เดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์ จากนั้นเพิ่มขึ้นจนสูงสุดที่เดือนละ 50,000 ล้านดอลลาร์
ต้องยอมรับว่าการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็เพราะสภาพคล่องที่ Fed เพิ่มเข้ามา ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้แตกต่างออกไป การดึงสภาพคล่องออกจากระบบทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นว่าตลอด 1 ปีนับตั้งแต่เริ่มทำ QT ตลาดหุ้นแทบจะไม่สามารถทำผลตอบแทนเป็นบวกได้เลย เป็นเหตุให้ Fed เริ่มปรับลดขนาดการทำ QT ลงในเดือน มี.ค. 2019 และยุติการลด Balance sheet ในเดือน ก.ย. 2019 ส่งให้ตลาดหุ้นกลับฟื้นตัวทำผลตอบแทนเป็นบวกในปี 2019
เมื่อรวมตั้งแต่เริ่มจนถึงวันที่หยุดทำ QT ดัชนี S&P 500, Nasdaq และ STOXX 600 มีผลตอบแทนเป็นบวก ขณะที่ตลาดหุ้นจีนและไทยก็ยังคงติดลบอีกเช่นเคย
พี่ทุยเลยสรุปได้ว่าสภาพคล่องเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นอย่างมาก ดังนั้น QE tapering กลับไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก แม้ตลาดหุ้นก็จะปรับตัวลงในช่วงแรกแต่หลังจากนั้นสภาพคล่องที่ยังเพิ่มเข้ามาจะหนุนตลาดหุ้นอีกเช่นเคย สวนทางกับการทำ QT ที่ดึงสภาพคล่องออกไปจากระบบ จึงทำให้ตลาดหุ้นมีผลตอบแทนติดลบแทบจะตลอดช่วงที่ทำ QT
อย่างไรก็ตามปลายเดือนที่แล้วเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Delta แพร่ระบาดในสหรัฐฯ สร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยตัวเลขค้าปลีก (Retail sales) เมื่อเดือน ก.ค. หดตัว 1.1% (MoM) สวนทางคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 0.3% (MoM) เช่นเดียวกับความมั่นใจผู้บริโภค (Michigan consumer sentiment) เดือน ส.ค. ลดลงจาก 81.2 จุด เหลือ 70.2 จุด
มีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะทำ QE tapering ภายในปลายปีนี้ แต่ถ้าเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้ Fed ก็มีโอกาสเลื่อนการทำ QE tapering ไปเป็นต้นปีหน้าอย่างที่ตลาดคาดไว้