รู้ได้ยังไงว่า "หุ้น IPO" ตัวนี้ ราคาถูกหรือแพง ?

รู้ได้ยังไงว่า “หุ้น IPO” ตัวนี้ ราคาถูกหรือแพง ?

4 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • การเปรียบเทียบราคาหุ้นมักจะใช้วิธีแบบเปรียบเทียบ P/E ratio หรือ P/B ratio กับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหุ้นบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกัน
  • P/E ratiio คือการเอาราคาหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น เพื่อคำนวณออกมาเป็นเท่า ในการบอกว่าราคาที่เสนอขายนั้นเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิต่อหุ้น
  • P/BV ratio ก็คือการเอาราคาหารด้วยมูลค่า Book value หรือส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อบอกว่าราคาเสนอขายนั้นเป็นกี่เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น
  • ในหนังสือชี้ชวนหุ้น IPO จะมีการเปรียบเทียบ P/E ratio กับธุรกิจใกล้เคียงกันในส่วนเสนอขายหลักทรัพย์ โดยจะใช้ผลประกอบการในอดีตมาคำนวณ  ดังนั้น ควรศึกษาการคิดมูลค่าหุ้นก่อนลงทุนเสมอ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ว่ากันว่าการจะได้กำไรจากตลาดหุ้นนี่ไม่ยากเลย แค่ซื้อตอนที่หุ้นราคาถูก และขายตอนที่ราคาหุ้นแพง แค่นั้นเอ๊งงงงงงง พูดเหมือนง่าย แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า เมื่อไรกันที่เราถึงจะรู้ว่าหุ้นตัวนี้ราคาถูก หุ้นตัวนี้ราคาแพง แล้วโดยเฉพาะ “หุ้น IPO” ที่เสนอขายมาโชว์ตัวเราดูครั้งแรกเนี้ย ข้อมูลยิ่งน้อย ประเมินยิ่งยากเข้าไปอีกว่าถูกหรือแพงกันแน่ วันนี้พี่ทุยจะมาสรุปการประเมินมูลค่าหุ้นแบบง่าย ๆ กัน 

หลัก ๆ การประเมินหุ้นเขาใช้วิธีแบบสัมพัทธ์กัน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คำนวณอัตราส่วน (Ratio) และนำไปเปรียบเทียบกับ Benchmark ของหุ้นนั้น เช่น เทียบกับบริษัทคู่แข่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นต้น เช่น การคำนวณ P/E ratio, P/BV ratio ซึ่งต้องบอกเลยว่าไม่ว่าจะเป็น “หุ้น IPO” หรือหุ้นที่เข้าตลาดหุ้นไปแล้ว หลักการประเมินหุ้นก็มีวิธียอดฮิตอันเดียวกันซึ่งก็คือการคำนวณ P/E ratio นั่นเอง 

P/E ratio คืออะไร แล้วใช้ยังไง?

P/E ratio (Price per earnings ratio) ก็คือการเอาราคาตลาดปัจจุบันหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น เพื่อดูว่าราคาที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบันแพงกว่ากำไรของบริษัทไปกี่เท่า  เช่น ปัจจุบันที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ประมาณ 1416 จุด จะมีค่า P/E ratio อยู่ที่ประมาณ 27.78 เท่า และถ้าดูตลาด mai อย่างเดียวนี่มี P/E ratio อยู่ที่ 68.24 เท่า หรือแปลว่า ราคาที่ซื้อขายปัจจุบันแพงกว่ากำไรที่บริษัทในตลาดทำได้ไปเกือบ 68.24 เท่า 

ข้อมูล ณ วันที่ 22 ธ.ค. 63

สำหรับการคำนวณ P/E ratio ก็ยังแบ่งได้เป็นอีก 2 รูปแบบ นั่นคือ

1. Trailing P/E

จะเป็นการเอาราคาหารด้วยกำไรสุทธิในอดีตรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวิธีนี้ก็คือวิธีที่ใช้เปรียบเทียบราคาหุ้น IPO กับราคาหุ้นอื่นในตลาดนั่นเอง

โดยสำหรับหุ้น IPO หนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นจะมีการบอกที่มาการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นอยู่ด้วยเสมอ (ในหัวข้อ ‘ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์’) และก็มักจะบอกมาเลยว่าในตลาดหุ้นนี้มีบริษัทหรือกลุ่มอุตสาหกรรมไหนบ้างที่สามารถเทียบ P/E ratio กับหุ้น IPO ตัวนั้น ๆ  ได้ ดังนั้น แนะนำว่าควรเข้าไปดูด้วยน้า จะได้รู้ว่าหุ้นที่เรากำลังซื้อเทียบกับอุตสาหกรรมแล้วแพงกว่าเป็นกี่เท่า เพื่อจะได้เทียบหุ้นคล้าย ๆ กันในตลาดหุ้นได้ 

สำหรับหุ้นที่เข้าตลาดหุ้นไปแล้ววิธีการดู P/E ratio ของหุ้นนั้นก็ไม่ยากเลย ถ้าเราจะไม่เปิดงบการเงินมาดูอัตรากำไรต่อหุ้น เราก็สามารถดูข้อมูล P/E ratio ในหน้าเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ได้  ถ้าจะดูว่ามันถูกหรือแพงก็จะเอาไปเทียบกับ Benchmark อีกที ยกตัวอย่างเช่น เช่น หากหุ้น XYZ มี P/E อยู่ที่ 15 เท่า ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันมี P/E อยู่ที่ 20 เท่า อันนี้แปลว่า P/E ต่ำกว่ากลุ่มอุตสาหกรรม ก็แปลได้ว่าหุ้น XYZ ราคายังไม่แพงเมื่อเทียบกับคู่แข่งนั่นเอง นอกจากเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว หากหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นในกลุ่ม SET50 บางทีก็อาจจะเอาไปเทียบ Benchmark SET50 ด้วยกันก็ได้นะ นอกจากนี้ ในการพูดว่าหุ้นในตลาดนั้นถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมมันก็มีคำว่า “หุ้น Laggard”

หุ้น Laggard เราจะเห็นเวลาที่นักวิเคราะห์อาจใช้ในการเชียร์ให้ซื้อหุ้นอยู่ ก็คือในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันมันก็จะมีทั้งหุ้นที่ราคาขึ้นนำกลุ่มไปแล้วเมื่อมีข่าวดีประกาศออกมา เมื่อราคาปรับขึ้นแล้วนั้นแปลว่า P/E ratio ก็จะปรับขึ้นด้วย เมื่อราคาในกลุ่มหุ้นผู้นำตลาดขึ้นไปสูงแล้ว ผู้ลงทุนก็อาจหันมาสนใจหุ้นตัวอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันที่ราคายังไม่แพงเกินไปแทน หุ้น Laggard ก็คือหุ้นที่ P/E ratio ต่ำกว่า เพราะราคาขึ้นตามเพื่อนในกลุ่มเดียวกันไม่ทันนั่นเอง

2. Forward P/E ratio

การคิด P/E อีกแบบหนึ่งเรียกว่า Forward P/E จะเป็นการประมาณกำไรสุทธิใน “อนาคต” มาแทนกำไรสุทธิในอดีตที่ Trailing P/E ใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่นักวิเคราะห์ มักใช้ประเมินมูลค่าหุ้นเป้าหมายในบทวิเคราะห์กัน เราก็เลยจะเห็นว่านักวิเคราะห์แต่ละเจ้าทำไมให้ราคาเป้าหมายของหุ้นไม่เท่ากัน เพราะว่ามันเป็นราคาที่อยู่บนการคาดการณ์นั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเอาค่า P/E มาเทียบกันก็ต้องระวังด้วยว่าบริษัทนั้นมีธุรกิจหรือปัจจัยอะไรที่ไม่เหมือนกับหุ้นอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมด้วยหรือเปล่า เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วก่อนที่เราจะลงทุนซื้อหุ้นเพื่อเข้าเป็นเจ้าของบริษัทใดนั้นเราก็ควรรู้ด้วยว่าบริษัทนั้นมีปัจจัยอะไรเป็นพิเศษที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบ้างหรือไม่

P/BV ratio คือ อะไรกันแน่?

P/BV หรือ Price per Book value ratio ก็คือการเอาราคาตลาดปัจจุบันเทียบกับมูลค่า Book value ของบริษัทนั่นเอง Book value ซึ่งก็คือส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือที่ตามทฤษฎีก็คือมูลค่าของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับเฉลี่ยคืนทั้งหมดหากบริษัทปิดกิจการ เพราะมันคือมูลค่าสินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินนั่นเอง แล้วก็นำ ratio ไปเทียบกับ Benchmark เพื่อดูว่าหุ้นนั้นถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอีกที ซึ่งอันนี้ทางหน้าเว็บตลาดหลักทรัพย์ก็มีการเปิดเผยมูลค่า P/BV ของหุ้นทุกตัวเช่นกัน สามารถเข้าไปดูได้เล้ย

แล้วถ้าเป็นหุ้นที่เข้าตลาดไปแล้วและเน้นลงทุนเพื่อรับปันผล จะดูอย่างอื่นได้อีกหรือไม่ ?

สุดท้ายแล้วถ้าเราอยากเทียบหุ้นที่มักมีการจ่ายปันผลโดยสม่ำเสมอล่ะ จริง ๆ มันมีวิธีประเมินมูลค่าหุ้นโดยวิธี dividend discount model อยู่ แต่ถ้าจะคิดแบบง่าย ๆ เราก็สามารถคำนวณอัตราการจ่ายปันผลของบริษัทในปัจจุบันเทียบกับอดีตก็ได้ เช่น หุ้นมีการจ่ายปันผลที่ 2 บาทต่อหุ้น เดิมทีราคาหุ้นอยู่แถว ๆ 40 บาทแปลว่าอัตราเงินปันผลที่เราจะจากหุ้นนี้อยู่ที่ประมาณ 5% แล้วหากราคาของหุ้นอยู่ที่ 30 บาท อัตราเงินปันผลที่ผู้ลงทุนจะได้รับก็อยู่ที่ประมาณ 6.7% ก็มีความน่าสนใจมากขึ้น วิธีนี้มักใช้ในการประเมินความน่าสนใจของหุ้นปันผลเมื่อเทียบกับราคาของตัวเองในอดีต หรือเทียบกับหุ้นปันผลตัวอื่นในตลาดนั่นเอง แต่การเทียบดูเพียง “เงินปันผล” อาจจะไม่สามารถบอกว่าหุ้นไหนดีกว่าหุ้นไหนได้เสมอไป เพราะยิ่งบริษัทจ่ายปันผลออกมามาก นั้นหมายความว่าบริษัทก็จะมีเงินไปลงทุนเพื่อให้บริษัทเติบโตน้อยลงเป็นเงาตามตัวไปด้วย

สุดท้ายแล้ว การเปรียบเทียบราคาหุ้นที่เราจะลงทุนกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นเพียงวิธีวิธีหนึ่งในการประเมินจังหวะในการเข้าลงทุนเท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือเราควรจะศึกษาธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ ด้วยนะ ลองคิดง่าย ๆ ว่าถ้ามีคนมาเสนอขายร้านอาหารให้เราร้านหนึ่งเราคงไม่ซื้อร้านนั้นแค่เพียงเพราะว่าราคาเทียบแล้วถูกกว่าร้านอื่นในตลาดใช่ไหม แต่เราก็ต้องอยากรู้ด้วยว่าแล้วร้านอาหารนี้จะอยู่ยืดไหม หรือมีความเสี่ยงอะไรที่จะทำให้ร้านเราไปไม่รอดหรือเปล่า การซื้อหุ้นของบริษัทในตลาดก็เหมือนกันน้า

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply