หากกล่าวถึงหุ้น IPO ที่มีรายการจองซื้อหุ้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดทุนไทย จนได้รับ การกล่าวขานว่าเป็น “หุ้นมหาชน” คงหนีไม่พ้น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น OR ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีเมื่อปี 2564 โดยมีราคา IPO อยู่ที่ 18 บาท และสามารถทำราคาไปถึง 36.50 บาท คิดเป็นกำไรกว่า 100% เลยทีเดียว ทำให้นักลงทุนที่จองซื้อ ได้กำไรกันถ้วนหน้า
วันนี้พี่ทุยจะพาทุกคนมารู้จักกับหุ้น OR ให้มากขึ้น ว่าปัจจุบันมีธุรกิจอะไรบ้างนอกจากปั๊ม ปตท. และ Café Amazon จะมีความน่าสนใจเข้าไปลงทุนแค่ไหน วันนี้พี่ทุยได้สรุปพร้อมกับการวิเคราะห์มาให้นักลงทุนได้อ่านอย่างเข้าใจง่าย ๆ กัน
“หุ้น OR ” ทำอะไร ?
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น OR เป็นบริษัท Flagship ของกลุ่ม ปตท. ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
1. กลุ่มธุรกิจ Mobility
OR จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ทั้งยังจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันก๊าด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงจำหน่ายผ่านผู้แทนจำหน่าย โดยมีสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์ พีทีที สเตชั่น กว่า 1,900 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศไทย
นอกจากนี้แล้ว OR ยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ให้แก่ลูกค้ากว่า 2,000 ราย ทั้งกลุ่มอากาศยาน กลุ่มเรือขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ อีกทั้ง ยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลวให้แก่ลูกค้าภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง อีกด้วย
2. กลุ่มธุรกิจ Lifestyle
OR คือ ผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกภายในสถานีบริการน้ำมันเป็นรายแรกของไทย อาทิ ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Café Amazon, Jiffy, Pearly Tea
นอกจากนี้ OR ยังเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ Texas Chicken และ ฮั่วเซ่งฮง ติ๋มซำ รวมทั้งยังมีพันธมิตรทางธุรกิจทั้งแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ไทยชั้นนำอีกมากมาย ที่ได้เข้าร่วมให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น
3. กลุ่มธุรกิจ Global
OR ต่อยอดความสำเร็จของรูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) จากความสำเร็จในประเทศสู่เวทีนานาชาติ ด้วยการผสมผสานธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอื่น ๆ ให้เป็นรูปแบบทางธุรกิจที่เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างลงตัว เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการต่อยอดขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ
โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ OR ต่างประเทศ มีทั้งการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่ OR ดำเนินการเองและการดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทในเครือในตลาดหลัก เช่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ สปป. ลาว มาแล้วกว่า 10 ปี และได้เริ่มเข้าสู่จีนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ รวมถึงเวียดนาม ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง จึงยังมีโอกาสเติบโตอีกมากสำหรับธุรกิจ ของ OR ในภูมิภาคนี้
โครงสร้างรายได้และ EBITDA ปี 2564
ผลการดำเนินงานปี 2562 – 2564
บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 511,799 ล้านบาท ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 19.4% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 11,474 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,683 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.5% ทั้งจากรายได้ขายและบริการ และ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น
โดยภาพรวมผลการดำเนินงาน กลุ่มธุรกิจ Mobility ดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันจะปรับลดลง 5.1%
อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของ กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักมาจากการมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศในบางช่วงของปี ส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ
รวมทั้งการเพิ่มขึ้นในค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global มีผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง โดยหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในบางประเทศ เช่น กัมพูชาและ สปป.ลาว ทำให้ภาพรวมปริมาณขายลดลง ประกอบกับกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ลดลงนั่นเอง
จุดแข็งของ “หุ้น OR”
1. ส่วนแบ่งตลาดของ OR ในธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ 43.9%
ธุรกิจน้ำมัน (Oil Ecosystem) ของ OR ปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับที่ 1 ในไทย ทั้งจำนวนสถานีบริการ รวมถึงปริมาณการจำหน่ายน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว
2. ร้านกาแฟที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในไทยกว่า 3,000 สาขา
Café Amazon แบรนด์กาแฟชั้นนำระดับโลก มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รวมสาขาทั่วโลก 3,931 สาขา และมียอดขาย 314 ล้านแก้ว ในปี 2564 โดยมีการส่งเสริมเกษตรกรไทยให้เพาะปลูกกาแฟพันธุ์ดี คัดเลือกเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ ผ่านกรรมวิธีการคั่วในโรงคั่วกาแฟขนาดใหญ่และทันสมัย และ จัดส่งให้ร้าน Café Amazon ทั่วประเทศ
3. การให้บริการด้านพลังงานครบวงจร
OR เป็นผู้นำในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำมันเตาสำหรับ เรือขนส่งและภาคอุตสาหกรรมและก๊าซปิโตรเลียมเหลว พร้อมทั้งให้คำแนะนำในทางเลือกของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และให้บริการอย่างครบวงจร
4. ช่องทางการจำหน่ายของ OR กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย
OR มีจุดแข็งในเรื่องของช่องทางจัดจำหน่าย (Physical Platform) ที่มีเครือข่าย PTT Station และร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ
5. เติบโตอย่างแข็งแกร่งจากกลุ่มธุรกิจ Non Oil ที่มีอัตรากำไรสูง
OR ธุรกิจที่ไม่ได้เติบโตแค่จากธุรกิจน้ำมัน แต่ยังขยายไปสู่ธุรกิจ Non-oil โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ยังคงเห็นทิศทางการเติบโตในอนาคต ซึ่งมีอัตรากำไรสูงกว่าของธุรกิจน้ำมัน
6. สายสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ทเนอร์มายาวนาน
ด้วยความที่เป็นบริษัทแกนนำในกลุ่ม ปตท. ทำธุรกิจพลังงานมากว่า 40 ปี ทั้งด้านของลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง และมีสายสัมพันธ์กับผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่น่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำสัญญาซื้อระยะยาวกับโรงกลั่นทั้งในกลุ่ม ปตท. และนอกกลุ่ม ปตท.
และการเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วในเรื่องความแข็งแกร่งของพลังร่วมในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมครบวงจรและความน่าเชื่อถือทางการเงิน
อัตราส่วนทางการเงินของ “หุ้น OR”
หากพิจารณางบ ปี 2564
ราคาหุ้นอยู่ที่ 21.20 บาท ณ สิ้นปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 18 บาท
P/BV Ratio มีค่าที่สูงกว่า 1 บ่งบอกถึงนักลงทุนมองเห็นแนวโน้มในอนาคตว่า บริษัทฯ จะเติบโตจนมีกำไรสะสมกลับมา ช่วยทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
P/E Ratio อยู่ที่ระดับ 26.90 เท่า บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต
และหากพิจารณาเทียบความถูกแพง ด้วย P/E Ratio และ P/BV ของหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่าง PTG ESSO SUSCO BCP พบว่า Valuation แพงกว่ากลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนของ D/E Ratio อยู่ที่ระดับ 1.08 เท่า ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่ OR นำเงินที่ได้จาก IPO บางส่วนไปชำระเงินกู้ต่าง ๆ ประกอบกับการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเพิ่มมากขึ้นจากการที่บริษัทได้รับเงินทุนจากการ IPO บริษัท ของนักลงทุน ซึ่งจะนำไปลงบันทึกในส่วนของผู้ถือหุ้น ในงบแสดงฐานะการเงินนั่นเอง
ตามปกติแล้วบริษัทที่มี D/E Ratio มีค่าที่ต่ำ แปลว่าบริษัทมีภาระหนี้สินที่ต่ำ คือ ใช้เงินส่วนใหญ่ของตัวบริษัทเองในการทำธุรกิจ ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงของธุรกิจที่มีน้อย ทำให้มีโอกาสในการกู้ได้มากกว่าจากการที่บริษัทฯ มีหนี้สินอยู่น้อย และไม่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
เป้าหมายการดำเนินธุรกิจของ OR
1) ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจจากระบบนิเวศธุรกิจน้ำมัน ไปสู่การสร้างระบบนิเวศธุรกิจพลังงานแบบผสมผสาน เพื่อสร้างให้เกิดการเคลื่อนที่ อย่างไร้รอยต่อ สอดรับแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคต
2) ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจจากระบบนิเวศธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม ไปสู่ระบบนิเวศของธุรกิจที่สามารถนำเสนอทางเลือกให้เกิดการใช้ชีวิตแบบครบวงจร เพื่อสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตแบบครบวงจรที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ สอดรับแนวโน้มพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต
3) ขยายฐานธุรกิจ พร้อมกับระบบสนับสนุน เพื่อสร้างการเติบโตจากระดับภูมิภาคสู่ระดับโลก เพื่อสร้างความสำเร็จและการยอมรับ ในตลาดโลก
4) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการทำกําไร และแสวงหาโอกาสใหม่ในการทำธุรกิจ
5) ใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของธุรกิจในปัจจุบันและศักยภาพ ของ OR ในสร้างโอกาสทางธุรกิจจากความตั้งใจในการแก้ปัญหา ในด้านสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับสู่นวัตกรรมในแบบฉบับ OR
6) ปรับรูปแบบการดำเนินงาน (Operating Model Transformation) พร้อมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร OR DNA เพื่อให้การขับเคลื่อน การดำเนินงานของ OR สำเร็จบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รองรับการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อนาคตของ OR จะเป็นอย่างไร มีประเด็นอะไรที่ต้องติดตาม ?
1. แนวโน้มค่าการตลาดน้ำมันในอนาคต
ตัวที่กำหนดทิศทางกำไร OR ไม่ใช่ราคาน้ำมันดิบโลก แต่จะขึ้นอยู่กับ “ค่าการตลาดน้ำมัน” ซึ่งจะสะท้อนถึงกำไรขั้นต้นของบริษัท หรือคือส่วนแบ่งจากการขายน้ำมันที่ผู้ค้าปลีกน้ำมันจะได้รับนั่นเอง
โดยค่าการตลาดยิ่งสูง กำไรก็ยิ่งมากตามไปด้วย แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเยอะก็จะมีเรื่องนโยบายภาครัฐเข้ามาตรึงราคาซึ่งจะเป็นตัวการกำหนดค่าการตลาด ให้มีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง ประเด็นเรื่องค่าการตลาดน้ำมันจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
2. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ในอนาคตอันใกล้
สำหรับธุรกิจน้ำมันในระยะสั้น ภาคขนส่งยังคงใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานหลัก ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอาจลดลงในกลุ่มผู้บริโภคที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เข้ามาแทนที่ ซึ่งคาดว่า จะเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 10-15 ปี ข้างหน้า โดยเฉพาะผู้บริโภคในเขตเมืองที่มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามจากโอกาสของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าดังกล่าว OR จึงติดตั้งสถานีชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้า EV Station PluZ ภายในสถานีบริการ จำนวน 99 แห่ง ในปี 2564 กระจายอยู่ตามส้นทางเดินทางหลักทั่วประเทศ และมีแผนขยายอย่างต่อเนื่องให้มีเครือข่ายครอบคลุมเส้นทางเดินทางหลักทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
3. ความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
OR มีการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศรวมถึงการนำระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ จึงมีโอกาสที่จะต้องเผชิญความเสี่ยงที่ผลตอบแทนการลงทุนอาจ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การดำเนินการของโครงการหรือแผนงาน เกิดความล่าช้าหรือเงินลงทุนสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้
อ่านเพิ่ม