ก่อนจะซื้อ “คอนโด” สักห้อง หลาย ๆ คนรวมถึงพี่ทุยเองก็คงต้องผ่านการคิดแล้วคิดอีก หาข้อมูลเว็บแล้วเว็บเล่า หรือเข้าโครงการนู้นออกโครงการนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะถือเป็นการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ที่เราอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาหลายปี แต่การเปรียบเทียบแต่ละโครงการใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย เพราะ Location ที่เราปักหมุดไว้ก็อาจมีโครงการให้เลือกอีกเพียบ แถมยังมีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป
ซึ่งพี่ทุยเชื่อว่าทุกคนต้องโฟกัสต่อมา คือ ราคา ยิ่งถ้ามีโปรโมชันก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจ
แต่ก็อย่าลืมว่าราคาก็แปรผันตามคุณภาพที่เราได้รับด้วย ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ที่ติดตั้งมากับห้อง ความหลากหลายของพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งสระว่ายน้ำ ฟิตเนส Co-working space ห้องดูหนัง ไปจนถึงชื่อเสียงของแบรนด์และภาพลักษณ์ของผู้อยู่อาศัย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนถูกกำหนดด้วย Segment ของ “คอนโด”
อ่านต่อเรื่อง 5 เรื่องที่ต้องรู้ ! ก่อนคิดจะซื้อ “บ้านจัดสรร”
Segment “คอนโด” คืออะไร ?
อย่างที่พี่ทุยบอกไปว่าทุกสิ่งในคอนโดมิเนียมถูกกำหนดด้วย Segment หรือระดับราคานั่นเอง หลายคนคงเคยได้ยินพนักงานขายแนะนำโครงการว่าเป็นคอนโดมิเนียมระดับ High end หรือ Luxury จริง ๆ แล้วคำพวกนี้เป็นตัวระบุระดับราคาหรือ Segment ของคอนโดมิเนียมนั้น ๆ ว่าถูกหรือแพงขนาดไหน
แต่ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าราคาต่อตารางเมตรของคอนโดมิเนียมโครงการนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น ห้องราคา 3 ล้านบาท มีขนาดพื้นที่ใช้สอย 28 ตารางเมตร ราคาต่อตารางเมตรจะอยู่ที่ 3,000,000 ÷ 28 = 107,142.86 บาท ซึ่งนอกจากราคาจะบอก Segment และสิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการแล้ว ยังง่ายต่อการนำไปเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับโครงการอื่น ๆ ในทำเลเดียวกันด้วย
ระดับราคาแต่ละ Segment “คอนโด”
1. Super Economy Class
เริ่มกันที่กลุ่มที่ราคาถูกที่สุด คือ ต่ำกว่า 50,000 บาท/ตารางเมตร หรือราคา 1 ล้านบาท กลุ่มนี้จะหาได้ยากมากแม้แต่บริเวณปริมณฑล เพราะต้นทุนที่ดินที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี สำหรับใครที่งบประมาณจำกัด และมองหาคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท พี่ทุยก็ขอแนะนำ Segment นี้
แต่ใครที่ชอบความสงบ ไม่ชอบคนพลุกพล่านอาจไม่เหมาะเท่าไหร่ เพราะโครงการระดับราคานี้มักทำเป็นโครงการ Low Rise สูงน้อยกว่า 8 ชั้น ที่มีขนาดใหญ่เป็นพันยูนิต มีพื้นที่ส่วนกลางขั้นพื้นฐาน เช่น สระว่ายน้ำและฟิตเนส และต้องแลกกับข้อจำกัดด้านทำเลที่อาจต้องเข้าไปในซอยลึก ไกลจากตัวเมือง ไม่ค่อยใกล้กับสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการขนส่งสาธารณะ เรียกว่าต้องเดินไกลนิดนึง
ซึ่งโครงการระดับราคานี้ก็ยังพอมี Developer ที่พัฒนาอยู่ เช่น
- ลุมพินี ทาวน์ชิป จาก บมจ.ลุมพินี ดีเวลลอปเม้นท์
- แบรนด์ SENA Kith ของ บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์
มีราคาต่อยูนิตเริ่มต้นตั้งแต่ 7 แสนกว่าบาทเลยทีเดียว
2. Economy Class
แพงขึ้นมาอีกหน่อยคือกลุ่มราคา 50,000-70,000 บาท/ตารางเมตร หรือห้องราคา 1-2 ล้านบาท หากเป็นห้องทั่วไปขนาด 22-23 ตารางเมตร Segment นี้มักจะอยู่แถบชานเมือง-ปริมณฑล หรือถ้าโชคดีก็อาจได้โครงการที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ซึ่งพี่ทุยว่าเหมาะสำหรับ First Jobber หรือพนักงานออฟฟิศที่มองหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองหลังแรก เพราะยังอยู่ในระดับราคาที่ผ่อนไหว หรืออาจจ่ายค่าผ่อนเท่ากับค่าเช่าหอพักเลยก็ได้
ลักษณะของคอนโดมิเนียมระดับราคานี้จะเป็นโครงการ High Rise สูงเกิน 8 ชั้น มีจำนวนห้องพักหลายร้อยหรืออาจถึง 1,000 ยูนิต พื้นที่ส่วนกลางขนาดพอเหมาะ
ซึ่งโครงการที่อยู่ในระดับราคานี้ เช่น
- แบรนด์ Plum Condo ของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท
- บมจ.ศุภาลัยเองก็มีให้เลือกหลายโครงการ เช่น แบรนด์ Supalai City Resort และ Supalai Verenda
พี่ทุยบอกเลยว่าบางโครงการใน Segment นี้ยูนิตไม่ถึง 1 ล้านบาทก็มี แต่แลกมากับห้องที่ขนาดเล็กหน่อยเท่านั้นเอง
3. Main Class
ขยับขึ้นมาที่กลุ่มราคา 70,000-100,000 บาท/ตารางเมตร หรือราคาประมาณห้องละ 2 ล้านบาทกว่า ๆ ซึ่ง Segment นี้เรียกได้ว่าหาง่ายที่สุด เพราะถึงแม้โครงการอาจจะไม่ได้ติดกับสถานีรถไฟฟ้าสายหลัก แต่ก็ยังเกาะอยู่ในระแวกสถานีนั้น ๆ หรือติดกับสถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เลยเป็นที่ดึงดูดของเหล่าพนักงานออฟฟิศที่ต้องเดินทางเข้าไปทำงานในตัวเมือง
นอกจากนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่หาได้ง่ายสุดย่อมมีโครงการให้เปรียบเทียบเยอะ Dveloper แต่ละรายจะแข่งกันจัดเต็มเรื่องดีไซน์และพื้นที่ส่วนกลางกันพอสมควร ในระดับราคานี้เราจึงเริ่มจะได้เห็นสระว่ายน้ำดีไซน์สวย ๆ หรือพื้นที่ส่วนกลางที่หลากหลายขึ้นอย่าง Co-working space และสวนสีเขียว
คอนโดมิเนียมใน Segment นี้ เช่น
- Aspire ของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์)
- แบรนด์ The Origin ของ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้
- แบรนด์ Nue ของ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์
4. Upper Class
อีกหนึ่ง Segment ที่เห็นได้บ่อยไม่แพ้กันคือระดับราคา 100,000-150,000 บาท/ตารางเมตร หรือราคาเริ่มต้น 3 ล้านกว่าบาท เพราะเป็นคอนโดมิเนียมที่เขยิบเข้ามาใกล้ตัวเมือง และปักหลักตามแนวสถานีรถไฟฟ้าเป็นหลักในระยะที่พอเดินได้ประมาณ 500 เมตร ในระดับราคานี้เราจะมีแบบห้องให้เลือกมากขึ้น พร้อมพื้นที่ส่วนกลางที่หลากหลาย เช่น ห้องดูหนัง ห้องซาวน่า หรือลู่วิ่ง ไปจนถึงดีไซน์โมเดิร์นที่สะท้อนความเป็นคนเมืองมากขึ้นด้วย
แต่พี่ทุยว่าในระดับราคานี้คงต้องเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานมาสักพักถึงจะซื้อได้ ซึ่งโครงการที่อยู่ในระดับราคานี้ ยกตัวอย่างเช่น
- แบรนด์ Life ของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์)
- แบรนด์ The Base ของ บมจ.แสนสิริ
- แบรนด์ Metris จาก บมจ.เมเจอร์ ดีเวลอปเมนท์
5. High Class
อีกชื่อที่เรียกกันติดปากคือ High End กลุ่มนี้ราคาจะอยู่ที่ 150,000-200,000 บาท/ตารางเมตร ราคาต่อยูนิตประมาณ 4 ล้านบาทขึ้นไป บนทำเลที่เขยิบใกล้กับย่านศูนย์กลางธุรกิจหรือ CBD แน่นอนว่ามาพร้อมความสะดวกสบายใกล้บรรดาออฟฟิศทาวเวอร์ และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ รวมถึงดึงดูดนักลงทุนและชาวต่างชาติที่ต้องทำงานในเมืองไทยด้วย ในกลุ่มนี้เราจะเห็นทำเลที่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าสายหลักจนแทบจะไม่ต้องเดินเลยก็ว่าได้
ที่สำคัญเราจะได้เห็นดีไซน์ตึกสูงล้ำ ๆ สระว่ายน้ำบนชั้น Rooftop ส่องวิวเมืองได้ 360 องศาอย่างเต็มอิ่ม พร้อมพื้นที่ส่วนกลางที่จัดเต็มสมกับราคา รวมถึงเริ่มมีดีไซน์ห้องแบบเพดานสูง 2.7 เมตร หรืออาจมีชั้นลอยภายในห้องพัก ไปจนถึงวัสดุตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์แบรนด์ดังต่าง ๆ
คอนโดมิเนียมใน Segment นี้ เช่น
- แบรนด์ Ideo Mobi จาก บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์
- แบรนด์ XT จาก บมจ.แสนสิริ
- แบรนด์ KnightBridge ของ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้
6. Luxury Class
มาถึงระดับราคาที่พี่ทุยเรียกได้เต็มปากว่าคอนโดหรู เพราะ Segment นี้มีราคาถึง 200,000-300,000 บาท/ตารางเมตร ซึ่งมาพร้อมห้องขนาดเริ่มต้นที่กว้าง 30 ตารางเมตรขึ้นไป พร้อมรูปแบบห้องให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเพดานสูง 2.7-3 เมตร หรือห้อง Loft มีชั้นลอยในตัว ไปจนถึงห้อง Penthouse ที่กว้างจนอาจเรียกว่าเป็นบ้านเลยทีเดียว วัสดุและดีไซน์ที่อัปเกรดกันเต็มที่ รวมถึงความเป็นส่วนตัวของผู้พักอาศัยที่ชั้นหนึ่งอาจจะจำกัดไม่ถึง 10 ห้องแล้วแต่โครงการ และพื้นที่ส่วนการที่ตกแต่งแบบอลังการ
แต่ที่แน่ ๆ ทำเลของโครงการเหล่านี้ย่อมต้องอยู่ในย่าน CBD ไม่ว่าจะเป็นทองหล่อ สาทร อโศก สีลม สยาม ที่ขึ้นชื่อเรื่องราคาที่ดินแพงที่สุดในประเทศ ดังนั้นคนที่สามารถพักอาศัยในย่านนี้ย่อมต้องเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะพอสมควร
ตัวอย่างของโครงการในกลุ่มนี้ เช่น
- โครงการ Saladaeng One และ Beatniq ของ บมจ.เอสซี เอสเสท
- The Address ของ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์)
- The Monument ของ บมจ.แสนสิริ
7. Super Luxury Class
มาถึง Segment สุดท้ายกันแล้วคือกลุ่มราคา 300,000 บาท/ตารางเมตรขึ้นไป ในกลุ่มนี้พี่ทุยต้องไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะเป็นโครงการที่ครบสมบูรณ์ทั้งด้านทำเล ดีไซน์ วัสดุ พื้นที่ส่วนกลาง ไปจนถึงบริการหลังการขาย เช่น โครงการ The Bangkok Thonglor ของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งในกลุ่มนี้ดีเวลอปเปอร์บางรายอาจให้นิยามโครงการเพื่อสะท้อนความหรูหราขั้นสุดกว่านี้ เช่น Ultra Luxury และ Ultimate เช่น 98 Wireless และ Khun By Yoo โครงการระดับ Ultimate ของ บมจ.แสนสิริ
ในหลายโครงการมีการนำเชนโรงแรมดังเข้ามาดูแลบริการแก่ผู้พักอาศัยคล้าย ๆ กับนิติบุคคล แต่เป็นบริการแบบที่เราเรียกใช้ในโรงแรมอย่าง ทำความสะอาดห้องพัก เชฟส่วนตัว พี่เลี้ยงเด็ก รถรับ-ส่ง หรือพวก Concierge Service ที่มาพร้อมค่าส่วนกลางที่สมน้ำสมเนื้อ
ซึ่งเราจะเรียกคอนโดมิเนียมแบบนี้ว่า Branded Residence เช่น
- InterContinental Residences Huahin ของ บ.พราว เรียล เอสเตท
- Aman Nai Lert Residences Bangkok ของนายเลิศกรุ๊ป
ทั้งหมดที่พี่ทุยเล่ามาก็เป็น Segment ของคอนโดมิเนียม 7 กลุ่มหลัก ๆ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้นว่านิยามของโครงการแต่ละชื่อแตกต่างกันยังไง จะได้ไม่งงตอนคุยกับเซลส์ประจำโครงการ และเลือกโครงการได้เหมาะกับงบประมาณและความจำเป็นของตัวเราเอง
เพราะถ้าใครกำลังมองหาคอนโดมิเนียมในช่วงนี้ เราจะเจอกับโปรโมชั่นลดราคา แถมเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงลดดอกเบี้ยและช่วยผ่อนกันเลยทีเดียว พี่ทุยจึงอยากจะเตือนให้ตั้งสติกันสักเล็กน้อย แล้วประเมินความจำเป็นของเราให้ดี ถ้าโชคดีได้ห้องที่ถูกใจและถูกกว่างบที่ตั้งไว้ อย่างน้อยเราก็มีเงินเก็บสำรองตอนฉุกเฉิน หรือตกแต่งห้องใหม่ของเราได้ครับ อย่าซื้อแพงหรือเพิ่มงบเกินจำเป็นเพราะคำว่า ‘หรู’ อย่างเดียว
อ่านต่อเรื่อง 5 วิธีขอ “กู้เงิน” ยังไงให้ผ่านฉลุย