[สรุปโพสต์เดียวจบ] เปิดไทม์ไลน์เพิกถอนใบอนุญาต "ASHTON" อโศก

[สรุปโพสต์เดียวจบ] เปิดไทม์ไลน์เพิกถอนใบอนุญาต “ASHTON” อโศก

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม ASHTON อโศก เนื่องจากผิด พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร
  • ASHTON อโศกเป็นคอนโดฯ สูง 51 ชั้น มีพื้นที่มากกว่า 30,000 ตารางเมตร จัดเป็นอาคารสูงพิเศษที่ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 12 เมตร และต้องติดถนนใหญ่ที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรด้วย
  • ปี 2016 ชาวบ้านแถวคอนโดฯ ASHTON อโศก ได้รวมตัวกันฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ 5 แห่ง เนื่องจากมีการก่อสร้างทับซอยที่เคยมี และยังใช้ที่ดินเวรคืนของ รฟม. ไปเป็นทางเข้าออก
  • เนื่องจากคดีความดังกล่าว ส่งผลให้คอนโดฯ ประสบปัญหาโอนห้องไม่ได้ และต้องคืนเงินลูกค้าราว 20% พร้อมกับหุ้นที่ตกต่ำลงต่อเนื่องของอนันดา ดีเวลลอปเมนต์ ผู้พัฒนาโครงการ
  • ทางอนันดายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว โดยระบุว่า จนกว่าจะถึงคำตัดสินในชั้นศาลสูงสุด และผู้อยู่อาศัยจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ในเดือน ต.ค. 2014 “อนันดา ดีเวลลอปเมนต์” ได้ประกาศเปิดตัว 4 โครงการบนทำเลทองติดรถไฟฟ้าถึง 7 สถานี และหนึ่งในนั้นคือโครงการ “ASHTON” อโศก ซึ่งอยู่ด้านหลังของห้างสรรพสินค้า Terminal 21 และใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อโศก และ MRT สุขุมวิท ชนิดที่เดินเท้าไปได้ชิว ๆ

อย่างไรก็ตาม คอนโดมิเนียมดังกล่าวกลับพบปัญหายูนิตยังว่าง และการร้องเรียนภาพไม่ตรงปก ซึ่งเหนือไปกว่านั้น คือปัญหาการฟ้องร้องที่ยังไม่สิ้นสุดลง

วันนี้พี่ทุยจะมาพูดถึงมหากาพย์ “ASHTON” อโศก (ชื่อเดิม คือ IDEO ASOKE) โครงการคอนโดมิเนียมหรูภายใต้การดูแลของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่อนันดาใช้เพื่อดูแลโครงการ แอชตัน อโศก ทั้งด้านการพัฒนา ก่อสร้าง และการซื้อขาย

ถ้าใครตามข่าวจะรู้ว่าศาลปกครองกลางเพิ่งมีคำสั่งในคืนวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมาให้เพิกถอน “ใบอนุญาตก่อสร้าง” คอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก เนื่องจากผิด พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร 

พี่ทุยจะพาไปย้อนเรื่องราวไทม์ไลน์ของเรื่องที่น่าสนใจนี้กัน

ปี 2016 กับการฟ้องร้องสุดช็อค

ช่วงกลางปี 2016 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านผู้อยู่อาศัยย่านสุขุมวิท 19 ซึ่งเป็นซอยข้างเคียงกับอโศก (สุขุมวิท 21) ได้เดินทางไปยังศาลปกครองเพื่อฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ 5 ฝ่าย ได้แก่

  1. ผู้อำนวยการเขตวัฒนา
  2. ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม.
  3. ผู้ว่าการ กทม.
  4. ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.
  5. คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งเป็นผู้ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือที่คุ้นหูกันดีว่า EIA

เนื้อหาการฟ้องร้องในเวลานั้น คือ ทั้ง 5 ฝ่ายละเลยปฏิบัติหน้าที่และออก “ใบอนุญาต” ให้กับอนันดาในการสร้าง แอชตัน อโศก โดยเป็นอาคารสูง 51 ชั้น ตั้งบนที่ดิน 2 แปลงในสุขุมวิท 19 แยก 2 ซึ่งแต่เดิมมีซอยเล็ก ๆ กว้างแค่ 3 เมตรกั้นระหว่างที่ดินทั้งสองแปลง แต่ อาคารของคอนโดกลับสร้างทับซอยดังกล่าวไป 

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องที่ปล่อยให้มีการก่อสร้างอย่างผู้อำนวยการเขตวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้ว่าการกทม. และผู้ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA

แล้ว รฟม. ไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย ?

เนื่องจาก แอชตัน อโศก มีความสูงเกิน 8 ชั้น (23 เมตร) จึงจัดเป็น “อาคารสูงพิเศษ” และยังมีพื้นที่มากกว่า 30,000 ตารางเมตร ทำให้ข้อกฎหมายกำหนดให้อาคารต้องมีทางเข้าออกกว้างไม่ต่ำกว่า 12 เมตร และต้องติดถนนสาธารณะที่กว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร

แต่ทางเข้าที่สุขุมวิท 19 แยก 2 มีขนาดเพียง 3 เมตรเท่านั้น ทางโครงการจึงได้ซื้อที่ดินหลังที่จอดรถสถานีรถไฟใต้ดิน MRT สุขุมวิท ทำให้มีทางเข้าออกถนนใหญ่ได้จากฝั่งใกล้ที่จอดรถของ MRT สุขุมวิท และเพราะเป็นที่ดินที่เวรคืนมาจากเจ้าของเดิม จึงสร้างความไม่พอใจให้กับชุมชนสุขุมวิท 19 เพราะไม่ได้นำที่ดินที่เวรคืนไปใช้สำหรับสาธารณะประโยชน์

ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้สรุปได้ 3 ประเด็นหลัก คือ 

  1. ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง
  2. แก้ไขปัญหาซอยที่โดนสร้างทับ
  3. ยกเลิกเรื่องที่ รฟม. ที่อนุญาตให้ แอชตัน อโศก ใช้เป็นทางเข้าออก 

ปี 2018 สร้างเสร็จแต่โอนไม่ได้

กำหนดการสร้างเสร็จของ แอชตัน อโศก คือ เดือน ต.ค. 2017 และก็สามารถสร้างเสร็จได้ตามกำหนดการ ซึ่งกำหนดการถัดไป คือ การโอนกรรมสิทธิ์ห้องให้กับผู้ซื้อใน มี.ค. 2018

แต่ทางคอนโดกลับไม่สามารถโอนห้องให้ได้ เพราะขาดใบรับรองอาคาร (อ.6) ซึ่งเป็นใบเบิกทางสำหรับการอนุญาตให้ลูกบ้านเข้ามาอยู่อาศัย โดยทาง กทม. ขอชะลอการออกใบอนุญาตไว้ก่อน เนื่องจากการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นในปี 2016

ในตอนนั้นเองที่ทาง รฟม. ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า ทาง รฟม. ได้เวรคืนที่ดินก่อนหน้านี้จนทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งในบริเวณที่เวรคืนกลายเป็น “ที่ดินตาบอด” คือ ไม่มีทางเข้าออก ดังนั้น รฟม. จึงทำข้อตกลงกับเจ้าของที่ดินแปลงนั้นว่าจะเปิดทางเข้าออกให้ ซึ่งทางเจ้าของเดิมได้ขายที่ดินให้กับทางอนันดาไปในเวลาต่อมา

แต่ข้อตกลงที่มากับที่ดินแปลงนั้นยังคงอยู่ รฟม. จึงต้องเปิดทางเข้าออกให้กับคอนโด แอชตัน อโศก

ผลจากการยืดเวลาออกใบรับรองอาคารทำให้อนันดาไม่สามารถส่งมอบห้องได้ทัน จึงต้องเสนอทางเลือกให้กับลูกค้า คือ คืนเงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ย หรือแลกห้องชุดกับโครงการอื่นในเครือของอนันดา หรือรอจนกว่าจะสามารถโอนห้องได้ ผลคือ มีผู้ซื้อขอคืนห้องถึง 20% คิดเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 6,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางอนันดาได้พยายามสู้เพื่อให้คอนโดมิเนียมเปิดใช้งานด้วยการร้องเรียนกับทาง กทม. โดยยืนยันว่า กทม. ต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายที่เมื่ออาคารสร้างเสร็จก็ต้องยื่นขอ อ.6 ซึ่งเมื่อไม่มีอะไรติดขัดตามมาตรฐาน อาคารย่อมต้องเปิดใช้งานได้

ในกลางปี 2018 ทางคอนโดสามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องให้กับผู้ซื้อและเริ่มการเข้าอยู่อาศัยได้สำเร็จ

ปี 2021 ศาลชั้นต้นตัดสิน

หลังการพิจารณาคดีถึง 5 ปี ในที่สุดศาลปกครองกลางได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโด แอชตัน อโศก โดยให้เหตุผลว่า คอนโดมิเนียมตั้งอยู่บนพื้นที่ “ที่ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งกว้างกว่า 12 เมตรที่ติดกับถนนที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร” และ “ไม่เชื่อมกับถนนที่มีความกว้าง 18 เมตร” และ หรือคือผิด พ.ร.บ. ควบคุมอาคารนั่นเอง 

ในส่วนของการฟ้องร้อง รฟม. นั้น ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้ที่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยอยู่ตามแนวที่ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในเรื่องนี้ ศาลจึงขอไม่พิจารณาในประเด็นดังกล่าว

เมื่อมีคำสั่งศาลออกมา ทางด้านอนันดาก็ได้ออกมายื่นอุทธรณ์ต่อคำสั่งดังกล่าว โดยระบุว่า คำสั่งนี้เป็นเพียงคำสั่งของศาลปกครองกลาง ซึ่งกว่าจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อคดีสิ้นสุดในชั้นศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ดังนั้น จึงยังไม่กระทบต่อผู้อยู่อาศัยในแอชตัน อโศก

แต่งานนี้พี่ทุยว่าเจ้าของห้องในแอชตัน อโศก ก็ต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ เป็นแน่ แถมคนที่หนาว ๆ ร้อน ๆ อาจรวมถึงคนที่ถือหุ้นของอนันดาอยู่ด้วยก็เป็นได้ 

ในปี 2018 หุ้นของอนันดาร่วงลงจากต้นปีที่ 5.45 บาท เหลือต่ำสุดถึง 3.68 บาท เมื่อวันที่ 5 เม.ย. หลังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการโอนห้องจะต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากคดีความฟ้องร้อง ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมา ส่วนหุ้นของเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ก.ค.ก็ปิดตัวแดนลบไปถึง -3.31% อยู่ที่ 1.75 บาท

นอกเหนือจาก แอชตัน อโศก แล้ว โครงการในเครืออนันดายังมีอีกที่ที่มีปัญหา คือ IDEO Verve ราชปรารภ ที่มีการฟ้องแพ่งมากกว่า 700 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีทางออกสู่ถนนใหญ่เป็นทางเข้าออกหลักตามที่โฆษณาไว้ตั้งแต่แรก โดยการฟ้องร้องเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา

พี่ทุยว่างานนี้น่าจะต้องต่อสู้กันไปอีกยาว ๆ อาจกินเวลาเป็น 10 ปีก็ได้กว่าคดีความจะสิ้นสุดลง

อ่านเพิ่มเติม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย