เมื่อไม่นานมานี้ คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เพิ่งออกมาเปรย ๆ ระหว่างแถลงข่าวร่วม 3 หน่วยงาน เกี่ยวกับ มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนว่า มีแนวคิดจะจัดตั้ง กองทุนรวมวายุภักษ์ อีกครั้ง เพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาว นอกเหนือไปจากการปรับเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ให้น่าสนใจมากขึ้น กองทุนวายุภักษ์ในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้ พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟัง
กองทุนวายุภักษ์ คืออะไร
กองทุนรวมวายุภักษ์ถือกำเนิดครั้งแรกในปี 2546 โดย ครม. ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาในวันที่ 1 ก.ค. 2546 เพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนให้ประชาชน นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน
กองทุนนี้จะไม่รับซื้อคืนก่อนสิ้นอายุโครงการ แต่ผู้ถือหน่วยลงทุน สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ด้วยการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ กองทุนนี้ มีอายุโครงการ 10 ปี และกำหนดไว้ว่า สามารถขยายอายุโครงการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ขณะที่ วงเงินลงทุนเบื้องต้นที่กำหนดไว้ คือ 100,000 ล้านบาท โดยกองทุนวายุภักษ์ แบ่งเป็น 2 กองทุน คือ กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และ กองทุนรวมวายุภักษ์ 2
เปิดแนวคิดแรกเริ่มกองทุนวายุภักษ์ ปี 2546
- วงเงิน 100,000 ล้านบาท
- เป็นกองทุนปิด อายุโครงการ 10 ปี
- แบ่งเป็น 2 กองทุน โดยมีเป้าหมายการระดมทุนและนโยบายปันผลแตกต่างกัน
เปรียบเทียบ กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 vs 2
กลุ่มเป้าหมาย
วายุภักษ์ 1: นักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไป
วายุภักษ์ 2: นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป ที่ต้องลงทุนขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่กำหนด
- นักลงทุนสถาบันหรือรายใหญ่ ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป
- นักลงทุนรายย่อย ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป
วัตถุประสงค์ในการลงทุน
วายุภักษ์ 1: ลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจที่กระทรวงการคลังถืออยู่
วายุภักษ์ 2: ลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรสภาพหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ หรือสิทธิเรียกร้องที่กระทรวงการคลังอาจมีในอนาคต
ประเภทหลักทรัพย์ที่จะลงทุน
วายุภักษ์ 1&2: หุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิ ตราสารอนุพันธ์อื่น
ผลตอบแทนการลงทุน
วายุภักษ์ 1: กำหนดเงินปันผลแน่นอน ไม่ต่ำกว่า ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ของธนาคารพาณิชย์ + ส่วนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1%
วายุภักษ์ 2: กำหนดเงินปันผลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามหนังสือชี้ชวน ไม่รับประกันขั้นต่ำ ทั้งเงินต้นและผลตอบแทน
การรับซื้อคืนจากกองทุนรวม
วายุภักษ์ 1: กระทรวงการคลังมีสัญญารับซื้อหุ้นคืนที่แน่นอน ในราคาที่ขายบวกด้วยดอกเบี้ยและค่าบริหารจัดการ เท่ากับเป็นการประกันเงินต้นของกองทุนรวม
วายุภักษ์ 2: กระทรวงการคลังมีสิทธิรับซื้อหุ้นก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นในราคาที่จะตกลงกัน โดยอิงราคาตลาด
สิทธิการโอนเปลี่ยนมือ
วายุภักษ์ 1&2: จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ สามารถซื้อขายในตลาดรองได้
ที่มา : กระทรวงการคลัง
กองทุนรวมวายุภักษ์ เวอร์ชันจัดตั้งจริง 1 ธ.ค. 2546
พี่ทุยต้องบอกว่า ข้อมูลที่ระบุข้างบนนี้ คือ ข้อมูลตามมติ ครม. ที่ออกมา ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการผ่านกระบวนการต่างๆ จนเข้าสู่ขั้นตอน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติให้จัดตั้งได้ในวันที่ 31 ต.ค. 2546 และกองทุนจัดตั้งขึ้นจริงในวันที่ 1 ธ.ค. 2546 ด้วยวงเงินลงทุนเริ่มต้น 100,000 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย และ บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นผู้บริหารกองทุนในเวลานั้น สัดส่วนการจัดการ บลจ. ละ 50%
สำหรับรายละเอียดกองทุนมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือ สุดท้ายแล้วเป็นการ จัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 กองทุนเดียว แต่มีการแบ่งประเภทผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนออกเป็น 2 ประเภทแทน คือ ผู้ถือหน่วยลงทุน ประเภท ก คือ นักลงทุนทั่วไป 70,000 ล้านบาท และ ผู้ถือหน่วยลงทุน ประเภท ข กระทรวงการคลัง 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำเฉลี่ยต่อปีตลอดอายุโครงการ 3% ของมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุน ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องถือครองหน่วยลงทุนตั้งแต่การเสนอขายครั้งแรกไปจนครบ 10 ปีตามอายุโครงการ โดยที่เมื่อกองทุนมีกำไรก็จะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ก่อน จนครบตามอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ส่วนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะได้รับเงินปันผลทีหลัง และในช่วงที่เลิกกองทุน ก็จะได้รับเงินคืนหลังจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. เช่นกัน
ขณะที่ หลังจากจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ได้เกือบ 1 ปี รัฐบาล ได้ขยายกรอบการลงทุน เนื่องจากนโยบายการลงทุนเดิมที่กำหนดไว้ ทำให้มีข้อจำกัด จากทางเลือกลงทุนที่น้อย เนื่องจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ล่าช้ากว่าเป้าหมาย
ในเวลานั้นเหลือเพียงหลักทรัพย์ 26 ตัวในตลาดหุ้นเท่านั้นที่ลงทุนได้ อีกทั้งไม่ได้กระจายในทุกหมวดอุตสาหกรรม ทำให้การลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ไม่ได้กระจายความเสี่ยง ขาดความยืดหยุ่นในการลงทุน และไม่สามารถจัดพอร์ตโฟลิโอให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้
ขณะเดียวกัน หลักทรัพย์ 26 ตัวที่ลงทุนได้ ก็มีข้อจำกัดจากการติดเพดานการลงทุนตามข้อกฎหมายของ ก.ล.ต. หรือกฎหมายอื่น ทำให้ลงทุนเพิ่มไม่ได้ จึงมีการเสนอขยายขอบเขตให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ ของหุ้นในกลุ่ม SET50 ได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือ กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มได้อีก 44 ตัว รวมกับของเดิมที่ลงทุนได้ 26 ตัว เป็น 70 ตัว
ครบรอบ 10 ปี กองทุนรวมวายุภักษ์แปรสภาพจากกองทุนปิดสู่กองทุนเปิด
ทั้งนี้ หลังจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ดำเนินการครบ 10 ปี ในวันที่ 30 พ.ย. 2566 กองทุนนี้ก็ได้แปรสภาพจากกองทุนปิด เป็นกองทุนเปิด โดยเป็นกองทุนรวมผสม แบบไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น และขยายอายุกองทุนเป็นไม่มีกำหนดระยะเวลา รวมถึงรับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และเพิกถอนหน่วยลงทุนประเภท ก. จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (นำกองทุนออกจากตลาดหุ้น)
โดยปิดสมุดจดทะเบียนในวันที่ 29 พ.ย. 2556 ขณะเดียวกันก็เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 500,000 ล้านบาท และมี บลจ.กรุงไทย กับ บลจ.เอ็มเอฟซี เป็นผู้จัดการกองทุน มีธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ซึ่งผู้ลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในช่วงนี้ ก็จะซื้อขายหน่วยลงทุนกับ บลจ. ได้เหมือนหน่วยลงทุนอื่น ๆ
สำหรับ ข้อมูลผลการดำเนินงานในปี 2556 ซึ่งครบรอบ 10 ปีกองทุนนั้น พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ต่อหน่วย ณ ว้นที่ 27 ธ.ค. 2556 อยู่ที่ 34.9111 บาท โดยผลการดำเนินงานนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 149.60% หรือเฉลี่ยปีละ 14.96% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานชี้วัดซึ่งอยู่ที่ 69.76% ในส่วนของการจ่ายเงินปันผลนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง รวม 20 ครั้ง คิดเป็นเงินปันผลรวม 5.55 บาท ส่วนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้รับเงินปันผล 9 ครั้ง รวม 3.5507 บาท
ที่มา : ข้อมูลหนังสือชี้ชวนและรายงานกองทุนรวม ในเว็บไซต์ ก.ล.ต.
เมื่อไปดูผลงานล่าสุดของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ซึ่งครบรอบ 10 ปีอีกครั้ง ในปี 2566 หลังจากวันที่แปรสภาพเป็นกองทุนเปิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2556 พบว่า หากลงทุนตลอด 10 ปีต่อเนื่อง กองทุนมีราคาต่อหน่วยอยู่ที่ 47.2855 บาท ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.07% ต่อปี ดีกว่าดัชนีชี้วัดซึ่งให้ผลตอบแทน 3.85% แต่ก็ต้องยอมรับว่า กองทุนมีความผันผวนของผลการดำเนินงานมากกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับความผันผวนของตัวชี้วัด
และถ้าใครไม่ได้ลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์ครบ 10 ปี แต่เพิ่งมาลงทุนช่วง 5 ปีย้อนหลัง ก็จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 0.23% ต่อปีเท่านั้น
ส่วนการจ่ายเงินปันผล รวมตั้งแต่แปรสภาพกองทุนเปิด จนถึงสิ้นปี 2566 มีการจ่ายทั้งสิ้น 12 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4.21 บาทต่อหน่วย
ที่มา : ข้อมูลหนังสือชี้ชวนและรายงานกองทุนรวม ในเว็บไซต์ ก.ล.ต.
โดยรวมแล้ว ก็ถือว่าเป็นกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดี และหากไปดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่จำนวนมาก พี่ทุยเชื่อว่า หลายคนจะเห็นชื่อของกองทุนรวมวายุภักษ์ติดโผอยู่ด้วย สะท้อนว่า กองทุนนี้มีบทบาทในตลาดหุ้นค่อนข้างมาก หากมีการซื้อขายหุ้นตัวใด
เปิดแนวคิด รมว.คลัง ฟื้นชีพ กองทุนรวมวายุภักษ์ 3
ทั้งนี้ ชื่อของกองทุนรวมวายุภักษ์ กลับมาได้รับความสนใจมากอีกครั้ง จากนักลงทุน เพราะในการแถลงข่าวร่วม 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ตลท. เกี่ยวกับมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ทาง รมว.คลัง กล่าวว่า มีแนวคิดที่จะรื้อกองทุนรวมวายุภักษ์ต้นฉบับกลับมาอีกครั้ง นอกเหนือจากการปรับเงื่อนไขกองทุนรวม ThaiESG
ภายใต้แนวคิดเดิมที่เคยออกกองทุนมา คือ แบ่งผู้ถือหน่วยลงทุนเป็น 2 ประเภท โดยประเภท ก. เป็นผู้ลงทุนทั่วไป ที่จะได้รับผลตอบแทนตามจริง โดยมีขั้นต่ำต่อปี และขั้นสูงต่อปี เป็นเวลา 10 ปี รวมถึงได้รับชำระเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุน ประเภท ข. ตามแนวชำระคืนเงินลงทุนที่มีลักษณะเป็น waterfall คือ ก. ได้ครบ ข. ถึงจะได้ โดยที่หน่วยลงทุนประเภท ข. มีไว้สำหรับกระทรวงการหลังและหน่วยงานอื่น
ในครั้งนี้ คาดว่า เงินลงทุนตั้งต้นจะอยู่ที่ 150,000 บาท ขณะที่การรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ อาจจะอยู่ที่ 3% และขั้นสูงอยู่ที่ 10% อย่างไรก็ตาม ก็ต้องรอติดตามรายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากไอเดียนี้ จะต้องนำเข้า ครม. พิจารณาก่อน ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้ หรือประมาณไม่เกินกลางเดือน ก.ค. 2567 ก็จะได้รู้กันแล้ว และหากจัดตั้งกองทุนจริง ก็ต้องมารอดูเงื่อนไขว่า จะเหมือนกับกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เมื่อครั้งจัดตั้งในปี 2546 รึเปล่า
ที่มา : เอกสาร การแถลงข่าวร่วม 3 หน่วยงาน (กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ตลท.)
มุมมองนักวิเคราะห์เกี่ยวกับการกลับมาของกองทุนรวมวายุภักษ์
เมื่อไปส่องมุมมองนักวิเคราะห์ ที่กล่าวถึงกรณีที่กองทุนรวมวายุภักษ์จะกลับมาอีกรอบนั้น ก็พบความเห็น ดังนี้
Asia Plus : หากกองทุนรวมวายุภักษ์กลับมา ก็น่าจะทำให้มีเม็ดเงินก้อนใหญ่ที่เข้ามาหนุนตลาดหุ้นไทยได้ เช่นเดียวกับการปรับเงื่อนไขกองทุน ThaiESG ที่น่าจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นได้มากขึ้น
SBITO : คาดการณ์ว่า มาตรการปรับเงื่อนไข ThaiESG เมื่อบวกกับการฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์ น่าจะดึงเงินลงทุนกลับเข้ามาในตลาดหุ้นได้กว่า 5.3 แสนล้านบาท
RHB : มองว่า เม็ดเงินตั้งต้นกองทุนรวมวายุภักษ์น้อยเกินไป อาจหนุนหุ้นไทยได้ไม่มาก แต่คาดว่าถ้ามีความต้องการสูงจากประชาชน รัฐบาลอาจจะเพิ่มวงเงินได้ โดยมองว่า การจัดตั้งกองทุนนี้จะเป็นผลบวกต่อหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่
Liberator : การปรับเงื่อนไข ThaiESG ช่วยกระตุ้นจิตวิทยาเชิงบวก แต่ว่า ThaiESG ไม่ได้ลงทุนหุ้นไทยอย่างเดียว ยังลงทุนตราสารหนี้ ESG ได้ด้วย ดังนั้นก็อาจจะไม่ได้หนุนตลาดหุ้นได้มากเท่ากับ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่เน้นลงทุนหุ้นไทย ส่วนการฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์ จะเป็นเม็ดเงินสำคัญที่เข้ามาหนุนตลาดหุ้นไทย เมื่อผนวกกับมาตรการยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุนที่เตรียมไว้ใช้ ก็คาดว่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจยิ่งขึ้น หนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยไปต่อได้
สุดท้ายนี้ พี่ทุยมองว่า รอติดตามตอนต่อไปเท่านั้น ว่า อานุภาพของกองทุนรวมวายุภักษ์รอบใหม่จะดันปู่ SET ให้ขยับตัวขึ้นไป ได้อย่างที่หวังรึเปล่า หลังจากที่ปู่หลับมานาน
อ่านเพิ่ม